ธ.ก.ส.จ่อปล่อยกู้ 5.6 หมื่นล้าน ลดต้นทุน ‘ปุ๋ย’ เกษตรกร

ธ.ก.ส.จ่อปล่อยกู้ 5.6 หมื่นล้าน ลดต้นทุน ‘ปุ๋ย’ เกษตรกร

ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร โดยเป็นสินเชื่อในลักษณะผ่อนปรน มีกรอบวงเงินไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท

ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ระบุ ธนาคารได้เตรียมมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร โดยเป็นสินเชื่อในลักษณะผ่อนปรน มีกรอบวงเงินไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้บอร์ด ธ.ก.ส. พิจารณาภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ทันรอบการผลิตข้าวนาปีที่จะกำลังจะมาถึง

ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87% หรือ จากเดิมราคาประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตัน เป็น 1.87 หมื่นบาทต่อตัน

ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.จะมีสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายในการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งจะรวมสินเชื่อที่เกี่ยวกับปุ๋ยด้วย โดยมีวงเงินที่ปล่อยกู้ไปคิดเป็น 30%-35% จากวงเงินสินเชื่อ คงค้าง 5.6 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นมา 87% จึงต้องช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่ม

สำหรับกรอบวงเงินสินเชื่อ 5.6 หมื่นล้านบาท เป็นการประเมินจากความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรในปีการผลิตที่ผ่านมา ที่มีการใช้ปุ๋ยอยู่ที่ปริมาณ 1.5 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ยืนยันว่ากรอบวงเงินที่กำหนดไว้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรอย่างแน่นอน 

สินเชื่อดังกล่าวจะมีรูปแบบที่ผ่อนปรน เช่น ยกเว้นการชำระดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีนี้ หรือ วงเงินการชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับเกษตรกร หรือ การยกภาระการซื้อปุ๋ยของเกษตรกรให้ไปชำระในปีที่ 3-5 แทน เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยยังมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก 

ส่วนวงเงินสินเชื่อต่อรายจะขึ้นอยู่กับรอบการผลิตและพืชที่ผลิต เนื่องจาก เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยแต่ละพืชและรอบการผลิตไม่เท่ากัน โดยธนาคารจะใช้ฐานข้อมูลของเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น เกษตรกรปลูกข้าว 10 ไร่ ใช้ปุ๋ย 10 กระสอบ คิดเป็นค่าปุ๋ยประมาณ 1.5 หมื่นบาท ก็จะให้สินเชื่อในวงเงินดังกล่าว

กรณีชาวไร่อ้อย หากทำไร่อ้อย 100 ไร่ ใช้ปุ๋ย 100 กระสอบ ต้องใช้เงินประมาณ 1 แสนบาท ธนาคารก็จะให้วงเงินสินเชื่อตามการผลิตจริง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีการให้สินเชื่อได้ถูกเป้าหมายกับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง