เปิดข้อมูลเครื่องใช้ไฟฟ้า 10 อันดับ "กินไฟ" มากสุดที่เราใช้ในทุกวัน
เปิดข้อมูลเครื่องใช้ไฟฟ้า 10 อันดับ "กินไฟ" มากสุดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันในช่วงฤดูร้อน
ด้านกฟผ.แนะวิธีช่วยประหยัดค่าไฟง่ายๆ ด้วยตัวเอง
เข้าสู่ฤดูร้อนทีไร มักจะมาพร้อมกับค่าไฟที่แสนจะแพงทุกที เพราะยิ่งร้อนก็ยิ่งใช้ไฟเยอะโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ การเปิด ปิด ตู้เย็นบ่อยๆ เป็นต้น
ซึ่งนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.- ส.ค. 2565 ให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย ส่วนบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจะจ่ายค่าไฟอยู่ที่อัตราเดียวกับเดือนม.ค.-เม.ย.3565
ดังนั้น ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องรับมือกับค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นได้ด้วยการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด เพราะการคิดค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได คือ ยิ่งใช้ไฟมาก หน่วยการใช้ไฟเยอะ ค่าไฟยิ่งพุ่ง
ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เผยผลการศึกษา 10 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันว่าแต่ละประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทไหนกินไฟสูงสุด เริ่มกันที่
อันดับ 1 เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า 3,500 – 8,000 วัตต์
อันดับ 2 เตารีดไฟฟ้า (แห้ง – ไอน้ำ) 1,000 – 2,600 วัตต์
อันดับ 3 ไดร์เป่าผม 1,000 – 2,200 วัตต์
อันดับ 4 เตาไมโครเวฟ (20 - 32 L) 1,000 – 1,880 วัตต์
อันดับ 5 เครื่องปรับอากาศ ชนิด FIXED SPEED (9,000 – 36,000 BTU/hr) 730 – 3,300 วัตต์
อันดับ 6 เครื่องปรับอากาศ ชนิด INVERTER (9,000 – 36,000 Btu/hr) 455 – 3,300 วัตต์
อันดับ 7 เครื่องซักผ้า (แบบตั้ง, ถังนอน) 450 – 2,500 วัตต์
อันดับ 8 หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (1 - 3L) 450 – 1,000 วัตต์
อันดับ 9 ตู้เย็น (40 - 735 ลิตร, 1.4 – 26 คิว) 70 – 145 วัตต์
และอันดับ 10 พัดลมไฟฟ้า (12 นิ้ว – 18 นิ้ว) 35 – 80 วัตต์
นอกจากนี้ ยังมีวิธีง่ายๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้าได้เหมือนกัน และหากเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 นอกจากจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5
เครื่องปรับอากาศ ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท ตั้งอุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียสเพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาจะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10 % และล้างแอร์อย่างน้อยทุก 6 เดือน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 47%
ตู้เย็น ควรเลือกใช้ตู้เย็นที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็น ไม่ใส่ของที่อุณหภูมิสูง ไม่ใส่ของแน่นเกินไป และควรวางตู้เย็นห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 49%
หลอดไฟ เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ และปิดสวิตซ์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 57%
พัดลม เลือกใช้พัดลมที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน เปิดพัดลมเบอร์ 1 ปิดและถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และหมั่นทำความสะอาดพัดลมอยู่เสมอ สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 43%
เตารีด เลือกใช้เตารีดที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว รีดผ้าครั้งละมากๆ ไม่พรมน้ำมากเกินไป และถอดปลั๊กก่อนเสร็จสิ้นการรีดประมาณ 2 นาที เพราะความร้อนที่เหลืออยู่ในเตารีดไฟฟ้ายังสามารถรีดผ้าชนิดที่ไม่ต้องการความร้อนมาก สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 43%
ในขณะที่ โทรทัศน์ เลือกใช้โทรทัศน์ที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว และถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 51%