ผ่า 5 เครื่องยนต์ เคลื่อน “โกลบอล คอนซูเมอร์” โต
การตัดธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน(QSR)แบรนด์ระดับโลกอย่าง “เอแอนด์ดับบลิว” (A&W) เป็นการตัดภาวะ “ขาดทุน” ออกไปเสียที หลังร้านเข้ามาอยู่ในมือโกลบอล คอนซูเมอร์หรือ GLOCON ตลอด 5 ปี มีแต่เลือดไหล แต่ขาดทุน 60 - 70 ล้านบาทต่อปี
เมื่อโละธุรกิจไม่ทำเงิน บริษัทจึงไม่ต้องนำ “กำไร” จากธุรกิจอื่นมาอุด และจากนี้ไป บริษัทจะเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อเนื่อง เพื่อสานเป้าหมายรายได้ “หมื่นล้านบาท” ใน 5 ปีข้างหน้า
“หลังจากทำร้าน A&W เราเผชิญขาดทุนตลอดปีละ 60-70 ล้านบาท และลองปรับหลายครั้งแต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงยุติกิจการดังกล่าว และไม่ต้องใช้กำไรธุรกิจอื่นมาอุ้ม” นพพร ภัทรรุจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพ
ส่วนการเคลื่อนธุรกิจจากนี้ จะมี 5 เครื่องยนต์หลักที่จะผลักดันให้บริษัทโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเครื่องยนต์แรก คือ การเดินหน้าขยายธุรกิจอาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นพร้อมทานภายใต้แบรนด์ “อีซี่โก”(EZYGO) ซึ่งบริษัทร่วมกับร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น พัฒนาสินค้า และขายผ่านช่องทางดังกล่าวในรูปแบบ “เอ็กซ์คลูซีฟ”
ในปี 2565 บริษัทได้ย้ายโรงงานผลิตสินค้าอาหารแช่แข็ง อาหารเย็นพร้อมรับประทานไปยังพื้นที่แห่งใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว หากผลิตเต็มกำลังจะทำเงินถึง 2,000 ล้านบาท โดยจากนี้ไปยังคงเดินหน้าผลิตสินค้าเมนูใหม่ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มเข้าทำตลาดอีกหลายราย(SKU)เช่น ซูชิรวม ชุดติ่มซำรวม เมนูแพลนท์เบส เป็นต้น
กลยุทธ์สำคัญการรุกอาหารแช่เย็นพร้อมทาน จะเห็นการร่วมมือ(Collaboration)กับแบรนด์ร้านอาหารดังๆ ในการออกเมนูเด็ด ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ จะผลิตสินค้าใหม่ๆ เพื่อป้อนห้างโมเดิร์นเทรดอย่างกลุ่มโลตัส ซึ่งปีนี้จะเจาะโมเดล โลตัส โกเฟรชมากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 90% และต่างประเทศเพียง 10% เท่านั้น
สำหรับตลาดอาหารแช่แข็ง อาหารเย็นพร้อมรับประทานในประเทศ ถือว่ามีขนาดใหญ่มากอย่างโดยข้อมูลยูโรมอนิเตอร์ ระบุปี 2565 ตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทานมีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท ส่วนตลาดอาหารแช่เย็นพร้อมทานมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านบาท ทั้ง 2 ตลาดยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องถึงปี 2568
เครื่องยนต์ที่ 2 การรุกหนักขยายตลาดสินค้าผลไม้อบแห้ง ซึ่งเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญ และปีนี้บริษัทมีการย้ายโรงงานผลิตไปยังพื้นที่แห่งใหม่ ในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 800 ตันต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ 500 ตันต่อเดือน เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตบริษัทจะผลิตสินค้าใหม่ๆ ภายใต้แบรนด์ตัวเองอย่าง “ViiVa” มากขึ้น นอกเหนือจากการรับจ้างผลิต และเป็นการรองรับตลาดในประเทศมูลค่า 15,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันจะมีมุ่งขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแหล่งทำเงิน 95% ของพอร์ตดังกล่าว โดยจะเพิ่มปริมาณการขายในตลาดเดิมทั้งยุโรป และอเมริกาเหนือ รวมถึงการโฟกัสตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง เอเชีย ซึ่งยังมีสัดส่วนการขายที่น้อยอยู่
“ตลาดส่งออกผลไม้อบแห้งยังมีดีมานด์สูงทั้งตลาดยุโรป ส่วนตะวันออกกลางและเอเชีย เราส่งออกน้อย จึงมีช่องว่างในการผลักดันยอดขายให้เติบโต”
นอกจากนี้ รัสเซีย-ยูเครน เป็นอีกหนึ่งตลาดที่บริษัทส่งออกสินค้าเสิร์ฟผู้บริโภค แต่จากปัญหาสงครามของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ต้องยุติส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย 25 ล้านบาท
“เรามีลูกค้า 2 ราย อยู่ในรัสเซีย และยูเครน แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ยอดขายหายไป 25 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของพอร์ตผลไม้อบแห้ง จึงต้องขยายตลาดในภูมิภาคอื่นแทน”
เครื่องยนต์ที่ 3 คือ ได้ธุรกิจ “ลูกชิ้นทิพย์” มาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ หลังบริษัทเข้าถือหุ้น 70% โดยหมากรบจากนี้ไป จะขยายช่องทางจำหน่ายลูกชิ้นมากขึ้น จากเดิมมีร้านขายอยู่ในศูนย์อาหารของห้างค้าปลีกราว 400 จุด มีตัวแทนจำหน่ายส่ง 2,000 ราย และจำหน่ายผ่านห้างค้าปลีกไม่มากนัก
กลยุทธ์สำคัญ จะเห็นการจับมือพันธมิตรเปิดร้านมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ของ 2 ยักษ์ใหญ่ ปตท.และบางจาก ซึ่งมีปั๊มรวมกันราว 3,200 สาขา (ปตท. 2,000 สาขา และบางจาก 1,200 สาขา) ถือเป็นขุมทรัพย์การตลาดที่ใหญ่มาก
“ปัจจุบันเรามีร้านขายลูกชิ้นทิพย์ในปั๊มเพียง 10 สาขาเท่านั้น การผนึกกำลังกับ ปตท.และบางจากสร้างโอกาสที่ใหญ่มาก ขณะเดียวกันเราจะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังร้านสะดวกซื้อที่มีร้านอยู่ 2,000 สาขาด้วย”
ที่สำคัญบริษัทจะใช้ประโยชน์จากการมีโรงงานผลิตสินค้าให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาลูกชิ้น ไส้กรอกใหม่ๆ เติมพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงการเจาะเข้าตลาดซอสต่างๆ มากขึ้น เช่น น้ำจิ้มไก่ ซอสจิ้มแจ่ว ฯ เนื่องจากตลาดซอสเป็นอีกตลาดที่ใหญ่มูลค่าราว 51,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีเพียงน้ำจิ้มลูกชิ้นเสิร์ฟผู้บริโภค
“เราใช้ยูทิไลท์โรงงานเพียง 20-305 เท่านั้น จึงวางแผนพัฒนาสินค้าใหม่มากขึ้น ซึ่งมีช่องว่างมหาศาล และเป็นการใช้ประโยชน์การผลิตมากขึ้น ที่สำคัญน้ำจิ้ม ซอสสามารถทำกำไรได้สูง 40-50%”
เครื่องยนต์ที่ 4 ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังคงตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต แต่ยอมรับว่า “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้น 5-8%เป็นแรงกดดันธุรกิจ ทำให้บริษัทขอขยับขึ้นราคาแพ็กเกจจิ้งกับลูกค้าแล้ว 5-6% เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
สำหรับลูกค้าแพ็กเกจจิ้ง มีทั้งเถ้าแก่น้อย ถั่วทองการ์เด้น ธุรกิจเครื่องดื่มที่ใช้ขวด PET รวมถึงบริษัทในเครือที่ใช้บรรจุภัณฑ์อาหาร ทำให้ปีก่อนบริษัทสร้างรายได้เติบโต 19%
ปิดท้ายเครื่องยนต์ที่ 5 มองโอกาสในการเข้าซื้อ และควบรวมกิจการ(M&A)กลุ่มธุรกิจอาหาร เพื่อต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ เสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโออย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีความพร้อมด้านเงินทุน เนื่องจากตุนกระแสเงินสด 500 ล้านบาท เพื่อทำ M&A
“ทั้ง 5 เครื่องยนต์ จะผลักดันรายได้ปีนี้โตแตะ 3,041 ล้านบาท และภายใน 5 ปี ทะลุหมื่นล้าน โดยธุรกิจอาหารเป็นพอร์ตใหญ่ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 73% และเพื่อสร้างการเติบโตเราก็มีกระแสเงินสดพอจะทำดีลกลุ่มธุรกิจอาหาร 1 ดีล”
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์