ตลท.จ่อเพิ่มมาตการดับหุ้นร้อน หลังพบหุ้นโดนแคชบาลานซ์ราคายังวิ่งต่อ
ตลท.เผย อยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการดูแลหุ้นร้อนเพิ่ม หลังพบ“หุ้นกลาง-เล็ก”บางตัว โดนมาตรการกำกับซื้อขาย 3 ระดับแล้ว ราคายังไปต่อ บล.เมย์แบงก์ ชี้ นักลงทุนหันลงทุนหุ้นกลาง-เล็ก ที่มีปัจจัยเฉพาะตัว หลังหุ้นใหญ่พักฐาน “กสิกรไทย” แจงเกณฑ์ปัจจุบันเหมาะสม
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท. )เปิดเผยว่า ในเรื่องมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายหุ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้มีการศึกษาเรื่องดังกล่าว พบว่า มาตรการที่ใช้ในปัจจุบันนั้นใช้งานได้ดี และมีประสิทธิภาพ
แต่ก็ยังมีหุ้นไม่กี่ตัว ที่หลังจากใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 1 ระดับ 2 และ ระดับ3 แล้ว ราคาหุ้นยังคงมีความร้อนแรงอยู่ โดยตลาดหลักทรัพย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมจากปัจจุบันอย่างไรได้บ้าง เพื่อการดูแลหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวร้อนแรง ที่มีจำนวนไม่มาก สัดส่วนน้อยกว่า 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่ไม่สามารถใช้มาตรการปกติในการกำกับดูแลได้
“มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายหุ้นในปัจจุบันนั้น นั้นมีประสิทธิภาพในการดูแล แต่มันมีหุ้นไม่กี่ตัว หลังจากที่ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1ถึง 3 แล้วราคาหุ้นก็ยังคงความร้อนแรง ซึ่งเราก็กำลังดำเนินการต่อว่า จะมีมาตรการเพิ่มจากตรงนี้อย่างไร"
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์(ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นกลางและเล็กราคาปรับตัวขึ้นแรง จากปัจจัยเฉพาะตัว สะท้อนแรงเก็งกำไรกลับเข้ามาระยะสั้นในช่วงนี้ หลังจากภาวะตลาดที่ยังกังวลกับนโยบายของเฟดในภาพรวมกดดันการลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่
"หุ้นกลางและเล็ก พบว่าราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ตั้งแต่ต้นปี ไม่ได้มองว่าเป็นหุ้นร้อนแรงนัก ซึ่งวานนี้ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นแรงเป็น กลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างบมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS)ประกาศเข้าลุยธุรกิจขุดเหมืองบิตคอนย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเก็งกำไรกันขึ้นมาอย่างร้อนแรงในช่วงก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ดังนั้นนักลงทุนที่เข้าไปเก็งกำไรก็ต้องมีสติและมีจุดตัดขาดทุนด้วย"
ทางด้านมาตรการกำกับซื้อขายด้วยแคชบาลานซ์ใหม่ของตลท. มองว่า อาจไม่ได้คุมหุ้นร้อนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญนัก เพราะเป็นการยกระดับจากมาตรการเดิมที่มีอยู่เท่านั้น
ดังนั้นท้ายที่สุดและแฟร์กับนักลงทุน มองว่า ควรจะเพิ่มมาตรการคุม 2 ขา คือ นอกจากคุมขาที่ราคาปรับขึ้นร้อนแรงแล้ว ควรจะมีการคุมอีกขาที่ราคาปรับตัวลงร้อนแรง ด้วยมาตรการคล้ายๆ กับขาขึ้นเข้ามาควบคุม เพราะว่า จริงๆ แล้ว หุ้นร้อนแรง อาจจะมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้พื้นฐานเปลี่ยนก็ได้
นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ดัชนีsSET ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ภาพรวมยังปรับขึ้นมาราว 1 % เท่ากับตลาด SET แต่หากพิจารณาในรายอุตสาหกรรมsSETพบว่า มีบางอุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นมามากกว่าตลาด SET ที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว อย่างเช่น ธุรกิจNew S-curve เกี่ยวกับอีวี,ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธีมสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ การลงทุนธุรกิจขุดเหมืองบิตคอนย์ มีแรงเก็งกำไรเข้ามา และธีมเทรนด์ของผู้บริโภคคนไทยหันมาบริโภคสินค้าผ่าน ตู้กดอัตโนมัติ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาปรับขึ้น
ส่วนมาตรการกำกับซื้อขายด้วยแคชบาลานซ์ใหม่ของตลท. มองว่า ค่อนข้างเข้มพอสมควรแล้ว เช่นหากเข้าเกณฑ์ระดับ 3 ห้ามซื้อขาย 1 วัน ถือว่ารุนแรงพอสมควร ดังนั้นมองว่าภาวะตลาดตอนนี้ด้วยสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มากและหุ้นใหญ่พักฐาน ทำให้เงินลงทุนหมุนเข้ามาลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก
"การที่ตลท.เตือนไม่ให้นักลงทุน เข้ามาเล่นกลุ่มหุ้นร้อนแรง ที่ถูกมาตรการกำกับ ระดับ1 ระดับ 2 และระดับ3 เพราะ เป็นหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานซัพพอร์ต เป็นหุ้นที่ กำไรปรับตามพี/อีไม่ทันบางตัวพี/อี ขึ้นเป็น 1,000เท่า นักลงทุนยอมจ่ายเป็นพันเท่าเพื่อมูลค่าในวันนี้ ซึ่งไม่รู้ว่ากำไรจะกลับมาต้องรออีกกี่ปีถึงคุ้มกับการเข้าไปลงทุน
ดังนั้น มาตรการคุมหุ้นร้อนตอนนี้เพียงพอ แต่อยู่ที่ นักลงทุนต้องมีสติ ด้วย ต้องเข้าใจว่า หากตลาดเปลี่ยนข้าง จากขาขึ้นเป็นขาลงหรือในวันที่ดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวขึ้น หุ้นเก็งกำไรจะอยู่ในโซนเสี่ยงที่ถูกขายมากที่สุด
อนึ่งมาตรการกำกับการซื้อขายในปัจจุบันของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีดังนี้มาตรการระดับ 1 คือ ให้ซื้อด้วยการวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ (บัญชี cash balance) และ ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย ,มาตรการระดับ 2 ให้ซื้อด้วยการวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ ,ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และ ห้าม Net Settlement
ส่วนมาตรการระดับ 3 ห้ามซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการ (เฉพาะวันแรก) เมื่ออนุญาตให้ซื้อขายให้ซื้อด้วยการวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ , ห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และ ห้าม Net Settlement
ทั้งนี้ มาตรการในแต่ละระดับ มีระยะเวลาเริ่มต้นจนถึงวันสิ้นสุดครั้งละ 3 สัปดาห์ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาขยาย หรือยกระดับมาตรการได้ เมื่อพบว่าสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงผิดปกติ