“แผนพลังงานสะอาด” กติกาใหม่ หนุนวางไทยนำเทรนด์โลก
สภาพอากาศแปรปรวนที่อากาศหนาวในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านกำลังเป็นสัญญาณว่า “โลกไม่เหมือนเดิม” ดังนั้นนโยบายและแผนการทำงานต่างๆ ก็ต้องไม่เหมือนเดิมด้วย
ซึ่งในที่นี้รวมถึง “แผนพลังงาน” ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่เพียงช่วยให้สภาพอากาศไม่แปรปรวนแล้ว ยังช่วยเรื่องการค้าและการลงทุนเพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศกำลังกลายเป็นเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนของโลกจากนี้ไป
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 350 ล้านตัน สูงในอันดับต้นๆ ของโลก ภาคส่วนที่ต้องมีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ซึ่งภาครัฐได้มีการวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นขั้นตอน
โดยในส่วนของการใช้พลังงานภาคครัวเรือน และขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันปีละประมาณ 250 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยในแผนพัฒนาจะมีการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนต่างๆ สร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งการผลิตจาก ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์
สำหรับในภาคการขนส่งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 80 ล้านตัน ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% จึงผลักดันนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)30@30 โดยตั้งเป้าการผลิตในประเทศประมาณ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศในปีค.ศ.2030 หรือให้มีการการผลิต EV ในประเทศ 7 แสนคันต่อปีภายใน 8 - 9 ปีต่อจากนี้ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และรักษาศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภาพรวมไว้
“มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ได้ และจากการเป็นประเทศผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง สร้างความเชื่อมั่นเรียกการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามายังประเทศได้มากขึ้น มองว่า โอกาสของประเทศไทยกำลังเปิดกว้าง ในอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนารองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สถานีประจุไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนโซลาร์เซลล์ เป็นต้น”
สุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันหากต้องการใช้พลังงานสะอาดแล้วยอมหรือยินดีจ่ายแพง ถือเป็นเรื่องความต้องการของผู้ผลิตซึ่งต้องเข้าใจบริบทของภาพรวมร่วมด้วยว่าทิศทางพลังงานสะอาดต่อไปจะเป็นองค์ประกอบของการค้าขาย เพราะในแต่ละประเทศกำหนดกติกาชัดว่า ว่าการร่วมทำค้าขายและธุรกิจต้องมีเงื่อนไขการลดการปล่อยคาร์บอน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องหันกลับมาช่วยกัน
“ประเทศร่ำรวยจะยินดีที่จ่ายของแพงขึ้น เพื่อประโยชน์ที่จะลดปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศตะวันตกจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงนั้นจะมีมูลค่าความเสียหายเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำการค้าในแบบเดิมๆดังนั้น ในอนาคตหากเรายังจะใช้การบริโภคแบบนี้ด้วยวิธีการแบบนี้ คู่ค้าในโลกตะวันตกจึงต้องกำหนดเป็นกติกาขึ้นมา ทำให้ทุกอย่างต้องยึดติดบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จะยึดแบบเดิมไม่ได้ หากผู้ประกอบการไทยยังยึดแบบเดิมจะทำให้การค้าขายยากขึ้น”
อย่างไรก็ตามปี 2565 ไทยจะก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด ต้องร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ไฟฟ้าจะเกิดไม่ได้ถ้ากระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมไม่ทำงานร่วมกัน อุตสาหกรรมต้องมีการกำหนดสเป็กมาตรฐานเกี่ยวกับไฟฟ้า 100 กว่าชนิด เพื่อที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการซื้อขายคาร์บอน การปลูกป่า เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สามารถไปยืนยันได้ว่าการผลิตพลังงานของไทยมีกระบวนการที่สะอาดนั่นเอง
ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าจะทำพลังงานสะอาดแม้ต้องมีต้นทุนที่แพงขึ้น เช่น การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากนำมาคำนวนผลที่ได้รับคือ พลังงานสะอาดจะพบว่าต้นทุนดังกล่าวไม่แพงเพราะจะมีผลพลอยได้จากส่วนอื่น เช่น ภาพรวมความน่าเชื่อถือการลงทุน และสภาพแวดล้อมที่ดี
สำหรับโครงการพลังงานสะอาดในประเทศขณะนี้ ได้เดินหน้าโครงการไฟฟ้าชุมชนทั้งเฟส 1 ที่เซ็นไปแล้ว 43 ราย กำลังการผลิต 149.50 เมกะวัตต์ และเฟส 2 จำนวน 400 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างทำแผนที่ราคาไม่สูงมาก อีกทั้งประชาชนในชุมชนได้ประโยชน์โดยปลูกพืชขายป้อนโรงไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้ทันกับยุคปัจจุบัน
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ได้เร่งจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ และแผนพลังงานรายสาขา ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2022 มีแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) มาบูรณาการและรวมกันไว้ภายใต้แผนเดียว โดยมีแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality)
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังรุนแรงอยู่ เพราะตอนนี้ทำแผนไปก็อาจเดาสถานการณ์ไม่ถูก เพราะยังเป็นช่วงที่กระทบอยู่ สนพ.ได้หารือกับกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่องถึงปัญหาดังกล่าว เพราะกลัวว่าออกแผนไปจะผิดจากที่คาดการณ์ อีกทั้ง GDP ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ยังไม่นิ่ง
โดยสนพ.จะยังคงเดินตามกรอบเวลา โดยแต่ละแผนย่อยจะต้องรวบรวมมาผนวกช่วงปลายมิ.ย.-ก.ค. 2565 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับภายในปีนี้ ก่อนจะประกาศใช้ปี 2566
โดย 10 ปีแรกจะเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทต่างชาติต่างให้ความสนใจและเป็นปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจลงทุน ดังนั้น รัฐบาลได้พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ส่วนแผนไฟฟ้าที่เร่งทำ คือ กรีนเอ็นเนอจี รวมไปถึงเรื่องของการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในการผลิตจากเขื่อนของสปป.ลาวที่มีต้นทุนไม่สูงนัก
“พลังงานหมุนเวียน หลักการคือ ราคาต้องไม่สูงจากการค้าปลีกของราคาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ก็อาจจะมีบางอย่างที่ราคาสูงกว่านิดหน่อย เช่น ไบโอแมส ชีวมวล ไบโอแก๊ส และโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นต้น แต่ภาพรวมถือว่ามีประโยชน์และยังได้เครดิตในเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG ซึ่งทั้งหมดต้องควบคุมไม่ให้มีราคาที่สูงด้วย”
จากแผนพลังงานสะอาดที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการแม้จะยังเป็นเพียงแผนเพื่อการนำไปลงมือปฎิบัติแต่ความตั้งใจนี้ เป็นสัญญาณที่ดีที่จะบอกว่า การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดไม่เพียงช่วยสภาพอากาศไทยและโลกเท่านั้น แต่ผลดีด้านที่อาจมองไม่เห็นคือความเชื่อมั่นและน่าไว้วางใจว่าประเทศไทยคือผู้นำที่รักษ์โลกซึ่งจะนำไปสู่ความน่าสนใจด้านการค้าและการลงทุนได้ในที่สุด