อย่าลืม 18 เม.ย.นี้ วันสุดท้ายแลกหุ้น SCB ขึ้นสู่ยานแม่ ‘SCBX‘

อย่าลืม 18 เม.ย.นี้  วันสุดท้ายแลกหุ้น SCB ขึ้นสู่ยานแม่ ‘SCBX‘

วันสุดท้าย 18 เม.ย.นี้ ในการแลกหุ้น SCB สู่ SCBX ก่อนขึ้นยานแม่อย่างเป็นทางการ คาดเข้าเทรดในตลาด 27เม.ย.นี้ พร้อมโอนธุรกิจขึ้นยานแม่กลางปีนี้

 ก้าวสู่โค้งสุดท้าย สำหรับการทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์) หุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) SCB เพื่อแลกกับหุ้นบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ (SCBX) ที่กำหนดให้มีการทำเทนเดอร์วันสุดท้ายในวันที่ 18 เม.ย. นี้ ก่อนที่จะก้าวสู่ยานแม่ SCBX อย่างเป็นทางการในสิ้นเดือนนี้ 
         

โดยการแลกเปลี่ยนกับหลักทรัพย์ของธนาคารใน กำหนดอัตราการแลกหลักทรัพย์เท่ากับ 1 หุ้นสามัญของธนาคาร ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX

กรณี ที่ผู้ถือหุ้นของธนาคารที่ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อจะได้รับผลกระทบ ดังนี้
       1) หุ้นของธนาคารขาดสภาพคล่องหุ้นของธนาคารจะพ้นสภาพการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และจะไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดรองอื่นๆ
      2) ขาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX และธุรกิจใหม่ในอนาคต ผู้ถือหุ้นที่ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อ จะไม่มีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX และธุรกิจใหม่ที่ SCBX จะมีการลงทุน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง และมีศักยภาพที่จะสามารถจดทะเบียน และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตได้
      3) ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หลังจากหุ้นของธนาคารพ้นสภาพการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการซื้อขายหุ้น (Capital gain tax) 
       นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นของธนาคาร ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลจะต้องเสียอากรแสตมป์ ในการโอนหุ้นสามัญของธนาคาร ในกรณีที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์
      4) นโยบายการจ่ายเงินปันผลอาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต นโยบายการจ่ายเงินปันผลของธนาคาร ภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากธนาคารจะอยู่ภายใต้ SCBX

     ดังนั้นนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธนาคารจะต้องขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจในอนาคต และความเหมาะสมโดยรวมเพื่อพิจารณาฐานะทางการเงินของ SCBX
      5) ได้รับข้อมูลข่าวสารของธนาคารน้อยลง เนื่องจากหุ้นของธนาคารจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นของธนาคารจะมีข้อจำกัด ในการได้รับข่าวสารจากธนาคาร

คาด 27 เม.ย.เทรดยานแม่ SCBX
       ด้าน นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)หรือ SCB กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้มีผู้ถือหุ้นแสดงเจตจำนงในการทำเทนเดอร์แล้วกว่า 90% ซึ่งเรียกว่าใกล้เป้าหมายขึ้นทุกที จึงเชื่อว่ากระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท จะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขกรอบระยะเวลาที่วางไว้ 
        ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทำเทนเดอร์ ในวันที่ 18 เม.ย. หากได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ก็จะมีการนำ หุ้น SCBX เข้าจดทะเบียนใน ตลท.และเพิกถอนหุ้นของ SCB ประมาณวันที่ 27 เม.ย.นี้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการโอนธุรกิจตามแผนที่ได้วางไว้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในกลางปีที่จะถึงนี้ 
        สำหรับนโยบายการดำเนินงานในระยะต่อไป คือ การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจจาก “กลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารไทยพาณิชย์” สู่ “กลุ่มธุรกิจการเงิน เอสซีบี เอกซ์” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งเทคโนโลยี และพฤติกรรมของลูกค้า
 

SCBX โกอินเตอร์ขึ้นแท่นบริษัทเทคฯ ชั้นนำในอาเซียน
     นายอาทิตย์ กล่าวว่า SCBX จะเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม โดยมีวิสัยทัศน์ ในการเป็น “กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินที่น่าชื่นชมที่สุดในอาเซียน” ทำหน้าที่ในการแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีให้กับกลุ่มบริหารจัดการเงินทุนของกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว

 

โครงสร้างธุรกิจ SCBX จะดำเนินงานภายใต้ 3 ธุรกิจหลัก คือ 

“กลุ่มแรก ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์” จะยังคงเป็นแกนหลัก โดยจะมีการพัฒนาในเรื่องประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เน้นการสร้างผลกำไร ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเป็นหลัก 

“กลุ่มที่สอง ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย และบริการการเงินแบบดิจิทัล” ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก มีอัตราผลกำไรที่สูงอยู่แล้ว จะแยกออกมาจากธนาคาร เพื่อความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ

“กลุ่มที่สาม กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี” คาดว่าจะมีบทบาทกลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลักในระยะยาว
 
    นายอาทิตย์ กล่าวว่า  ใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และบริการการเงินแบบดิจิทัล และธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี 2 ธุรกิจนี้จะมีสัดส่วนรายได้รวมกันมากกว่า 30% แต่ในระยะถัดไป ธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี จะเติบโตกลายเป็นธุรกิจหลักแทน 
      ทั้งนี้การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ ทำให้มีแนวทางธุรกิจที่ชัดเจน คล่องตัว และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เฉพาะเจาะจงกับประเภทของธุรกิจต่างๆ ทำให้กลุ่มธุรกิจการเงินเติบโต สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น และยั่งยืนในระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น 


วาง 5 ยุทธศาสตร์ดันแบงก์ไทยพาณิชย์โตต่อ
     สำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์  ในปี 2565 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ยังเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มนั้น ในปีนี้ ภายใต้การเติบโตที่จำกัดของธนาคาร จึงกำหนดแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์ ไว้ว่า จะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารที่ดีขึ้นกว่าเดิมเน้นคุณภาพ และประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ คือ

1.เน้นการปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

2.เติบโตธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง และนายหน้าประกันผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้า

3. ขยายการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนบริการ และเพิ่มผลตอบแทน

4.ปรับปรุงธุรกิจบางประเภท เช่น การค้าระหว่างประเทศ และการบริหารเงินสดให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน

5.ลดต้นทุนของธนาคารภาพรวม โดยนำระบบเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน และการบริการให้กับลูกค้า

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์