ปลุกดีมานด์ "อินเดีย" 8 หมื่นล้าน "ความหวังสูงสุด" ท่องเที่ยวไทย!
นักท่องเที่ยว “อินเดีย” เติบโตร้อนแรงเมื่อปี 2562 ด้วยจำนวนกว่า 1,995,516 คน ขยายตัว 24.85% เมื่อเทียบกับปี 2561 ดันรายได้ 86,372 ล้านบาท ขยายตัวถึง 27.45% ในห้วงเวลานั้น...ภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวไทยต่างตั้งความหวังช่วยบาลานซ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีน
โดยเมื่อปี 2562 มีชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยกว่า 11 ล้านคน สร้างรายได้ถึง 5.31 แสนล้านบาท
แต่พอการระบาดของโควิด-19 ปะทุ! ความหวังจากทุกตลาดริบหรี่ ยืดเยื้อนาน 2 ปี รอจนสถานการณ์คลี่คลายดี นโยบายการเปิดน่านฟ้าและเปิดประเทศของทั้งฝั่งไทย-อินเดียชัดเจนขึ้น หลังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 เห็นชอบการจัดทำความตกลง “Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ททท.ประเมินจำนวนและรายได้ตลาดต่างประเทศปี 2565 ตามคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดโลก หากสถานการณ์ฟื้นตัวดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้อย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงเปิดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดชายแดน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 625,800 ล้านบาท
โดยเป็นสัดส่วนของตลาดระยะใกล้ จากภูมิภาคอาเซียนประมาณ 1.1 ล้านคน จากแปซิฟิกใต้ ตลาดหลักคือออสเตรเลีย 2 แสนคน และจากฝั่งเอเชียใต้ ตลาดหลักคือ “อินเดีย” 5 แสนคน ซึ่งสร้างรายได้ราว 2.4 หมื่นล้านบาท ผ่านการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคนต่อทริปประมาณ 8 วัน
“ตามมติ ครม.เห็นชอบการจัดทำความตกลงเรื่อง Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย ทำให้มีสายการบินรวมฝั่งไทยและอินเดียอย่างน้อย 12 สายพร้อมให้บริการ คาดเห็นอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เฉลี่ย 70% ตลาดอินเดียจึงถือเป็นหัวหอกสำคัญช่วยชดเชยการหายไปของตลาดจีน”
ปรีชา จำปี กรรมการผู้จัดการ เดสทิเนชั่นสยาม กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวอินเดีย” ถือเป็น “ความหวังสูงสุด” ของภาคท่องเที่ยวไทย!! ในสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการเดินทาง การทำธุรกรรมทางการเงิน และค่าเงินรูเบิลอ่อนค่ารุนแรงจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรป บางตลาดต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อหลบเลี่ยงน่านฟ้ารัสเซียกับยูเครน ทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น จากปัจจัยเวลาเดินทางที่นานขึ้นและราคาน้ำมันที่ผันผวน!
แล้วโอกาสของตลาดอินเดียอยู่ตรงไหน? อยู่ตรงที่การเจาะฐาน “คนรุ่นใหม่” อายุต่ำกว่า 25 ปีซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน คิดเป็น 42% ของประชากรรวม 1.4 พันล้านคน ทั้งยังมากกว่าฐานคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 25 ปีของจีนซึ่งมีกว่า 400 ล้านคน รวมถึงการจับตลาดความสนใจเฉพาะอื่นๆ ที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง เช่น “คู่แต่งงาน” โดยล่าสุดได้รับรายงานว่าเมื่อเร็วๆ นี้ คู่แต่งงานชาวอินเดียได้เช่าเครื่องบินแบบเหมาลำเพื่อขนคนกว่า 400 คนมาร่วมงานแต่งงานที่ จ.ภูเก็ต แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
“อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในมุมนักท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะเงื่อนไขการรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go เช่น การทำประกันโควิด-19 ยังไม่ครอบคลุมในบางกรณี มีค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่ค่อนข้างสูงตามมา”
ทางตัวแทนผู้ประกอบการเอกชนได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมมือกันกระตุ้นการท่องเที่ยว 2 ทาง ทั้งตลาดอินเดียเที่ยวไทยซึ่งปี 2562 มีจำนวนกว่า 1.9 ล้านคน และตลาดไทยเที่ยวอินเดีย จำนวน 1.6 แสนคน
ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตลาดอินเดียร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) และสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจ (TAPA) ได้จัดงาน “Hotel Meet Local Agent (India & South Asia Market)” ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นงานเจรจาธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์และจับคู่ทางการค้า B2B Business Matching & Holi Networking Gala Night ของภาคเอกชนที่ทำตลาดอินเดียและเอเชียใต้ โดยมีบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินทาง (Destination Management Company: DMC) เข้าร่วมงาน 35 ราย ผู้ประกอบการโรงแรม 60 ราย และผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยว 10 ราย รวม 105 ราย มาแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าท่องเที่ยว ร่วมกันดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาจับจ่ายในไทย
“ส่วนจะดึงนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยได้มากน้อยแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับการทำตลาดและปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินต่างๆ ด้วย”
ด้านสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปัจจุบัน “การบินไทย” และ “ไทยสมายล์” ทำการบินเส้นทางระหว่างอินเดียมายังไทย 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ-นิวเดลี ทำการบิน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-มุมไบ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-เจนไน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-เบงกาลูรู 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กรุงเทพฯ-กัลกัตตา 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทำการบินโดยไทยสมายล์ เริ่มวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-มุมไบ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทำการบินโดยไทยสมายล์ เริ่มวันที่ 10 เม.ย.
สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เล่าว่า ไทยแอร์เอเชียกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างไทยกับอินเดียในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ รวม 5 เส้นทางด้วยกัน ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-บังกาลอร์ เริ่มบิน 13 เม.ย., กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เชนไน เริ่มบิน 13 เม.ย., กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โกลกาตา เริ่มบิน 1 พ.ค., กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โกชิ เริ่มบิน 1 พ.ค. และ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ชัยปุระ เริ่มบิน 1 พ.ค. แต่ละเส้นทางให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์