ผู้นำองค์กรยุคใหม่  ความจำเป็นต่อการพัฒนาของEEC

เปิดศักราชใหม่ ปี 2565 เป็นโอกาสอันดีที่มีการทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ EEC ข้อมูลจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 7 ม.ค.2565

เสนอผลที่น่าสนใจว่า โมเดลพัฒนาบุคลากรแบบ EEC ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะและสร้างคนตรงกับงาน รวมทั้งทำให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นคน และคงดีไม่น้อยหากการพัฒนาบุคลากรเป็นไปด้วยความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย 

คำว่าหลากหลายในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงแค่ผู้ปฏิบัติงานในสายงานเชิงเทคนิคของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงผู้นำองค์กรต่าง ๆ ด้วย

เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะเห็นหลายครั้งว่า เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมเป้าหมาย มักกล่าวเชิงทั่วไป ทำให้เข้าใจว่าบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาจะเป็นบุคลากรฝ่ายเทคนิคที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานสายงานสำคัญของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น นักคอมพิวเตอร์ ช่างยนต์ ซึ่งไม่เป็นการผิดที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะบุคลากรเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีหน้าที่หลักขับเคลื่อนธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

รวมทั้งหากขาดกลุ่มนี้ไป การดำเนินธุรกิจก็คงลำบาก แต่บุคลากรกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มผู้นำภายในองค์กร ที่มีบทบาทในการนำพากลุ่มหรือแผนกให้สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มหรือแผนก ตามพันธกิจขององค์กร ในขณะเดียวกันผู้นำองค์กรก็มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับโมเดลของ EEC ด้วย

กลุ่มนี้อาจได้รับการกล่าวถึงน้อย เพราะถือว่าก็อยู่ในกลุ่มบุคลากรที่จะได้รับการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั่นแหละ แต่การไม่ได้แยกออกมากล่าวถึงเป็นการพิเศษ อาจทำให้เกิดการได้รับความสำคัญน้อยและถูกละเลยไปโดยไม่ได้เจตนา

ตามที่กล่าวไปข้างต้น ผู้นำองค์กรทั้งหลายมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการนำพาองค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายและทำให้ธุรกิจอยู่รอด 

ความน่าสนใจ คือ 12 อุตสาหกรรม มีลักษณะเฉพาะและมีความทันสมัย ผู้นำองค์กรโดยทั่วไปควรเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจที่ทำว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการนำองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เพราะผู้นำที่เข้าใจธุรกิจขององค์กรดีจะมองเห็นภาพรวมและองค์ประกอบได้ดี

ความเข้าใจนี้จะทำให้อีกประการหนึ่ง คือ "การปรับตัว" เนื่องจากสภาพธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนเร็ว ยากต่อการคาดเดา การทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตดูจะมีความจำเป็น แต่การทำนายดูเป็นเรื่องท้าทายมาก 

สิ่งที่สำคัญมาก คือ การปรับตัวเร็วให้ทันความเปลี่ยนแปลง หากมองในเชิงความสามารถในการแข่งขัน ในยุคนี้องค์กรที่ปรับตัวได้เร็วจะได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าองค์กรที่ปรับตัวช้า

การเปิดรับโมเดลการทำงานแบบใหม่ก็สำคัญ ความเข้าใจสภาพการทำงานในปัจจุบัน เคยเห็นผู้บริหารองค์กรที่ยึดกับการให้พนักงานมาทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่ใช้มานาน ในปัจจุบันผู้นำองค์กรหลายแห่งเปิดรับโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 การตัดสินใจใช้โมเดลการทำงานแบบใดไม่ได้ขึ้นกับประสิทธิผลองค์กร แต่ขึ้นกับความเชื่อส่วนบุคคลของผู้นำองค์กร ทำให้กลายเป็นองค์กรที่ไม่ทันสมัยเท่าที่ควร

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การพัฒนาบุคลากรด้วยวิธีใหม่ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีรูปแบบและวิธีการพัฒนาคนหลากหลาย โดยเฉพาะใน EEC ที่มีโมเดลพัฒนาบุคลากรน่าสนใจ เช่น เน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (demand-driven) มีการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับโรงงาน (Univertory) เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เรียนรู้ในสนามการทำงานจริง 

ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องเปิดรับการพัฒนาบุคลากรรูปแบบนี้ และส่งเสริมบุคลากรให้ได้รับการพัฒนา ซึ่งจะทำให้การพัฒนาบุคลากรราบรื่น อันเนื่องมาจากการส่งเสริมเชิงนโยบายขององค์กร

การพัฒนาผู้นำองค์กรให้มีคุณลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาบุคลากรและการดำเนินการพัฒนาธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมายประสบความสำเร็จ