"ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง - วัสดุก่อสร้าง" ปรับตัวรับมือต้นทุนพุ่ง

"ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง - วัสดุก่อสร้าง"  ปรับตัวรับมือต้นทุนพุ่ง

"ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง - วัสดุก่อสร้าง" ปรับตัวรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ด้าน" RT" เร่งก่อสร้างงานในมือหวั่นราคาราคาวัสดุ-เชื้อเพลิงขนส่งขึ้นต่อเนื่อง "TPOLY"เน้นรับงานมาร์จินสูง "ARROW"ขยับราคาขาย ส่วน CCP ปรับลดต้นทุน-เล็งติดโซลารูฟ ประหยัดค่าไฟ

อุตสาหกรรมก่อสร้าง กำลังเจอกับพายุลูกใหม่ ที่ก่อตัวมาจากปัญหา สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันต้นทุนพลังงานและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากก่อนหน้านี้ก็โดนพิษโควิดเล่นงานไปค่อนข้างหนัก จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน

 ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเหล่านี้ ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญของผู้ประกอบการภาคก่อสร้าง ในการรับมือ และปรับตัวกันอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพในการทำกำไร

 

RT เร่งปิดงานก่อสร้างหนีต้นทุนพุ่ง

 "ชวลิต ถนอมถิ่น" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RT) ระบุว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในด้านราคาวัสดุและราคาเชื้อเพลิงขนส่ง ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดตามแนวโน้มราคาและเจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อบริหารความเสี่ยง วางแผนการจัดซื้อวัสดุให้ได้ราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันได้มีการเร่งงานก่อสร้างในมือให้รวดเร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุนส่วนค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะต้นทุนเหล็กคิดเป็น 10-12% ของต้นทุนรวม ส่วนเชื้อเพลิงการขนส่งมีสัดส่วนประมาณ 5% ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์และปรับกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเคร่งครัด คาดว่าจะยังรักษาอัตราการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ขณะที่ปริมาณงานที่ทยอยเข้ามาในปีนี้ ก็จะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง

 

TPOLY ลุยรับงานมาร์จิ้นสูง

   "ปฐมพล สาวทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ระบุว่า ต้นทุนพลังงานและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยลบที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นบริษัทจึงปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยเน้นรับงานที่มีมาร์จินสูง เช่น งานก่อสร้างภาคเอกชน โดยเฉพาะงานก่อสร้างด้านสาธารณูปโภค รวมถึงงานก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล โรงแรมและคอนโดมิเนียม เป็นต้น ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) กว่า 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ เป็นต้นไป

 

CCP กระจายทางเลือกพลังงาน-วัตถุดิบ

  "อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม" กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) ระบุว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อบริษัทใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น, การขาดแคลนวัตถุดิบ และ ดีมานด์ในตลาดที่อาจผันผวนจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่สูงจนผู้บริโภค ลูกค้า ต้องพิจารณาเลื่อนการลงทุนบางอย่างออกไป

 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์รับมือกับปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ประกอบด้วย

1.ทบทวนหาทางลดต้นทุนทั้งแบบคงที่และแปรผันทุกประเภทเพื่อลดความเสี่ยง และ เพิ่มทางเลือกเรื่องต้นทุนพลังงาน ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงทุนทำ Solar roof และอยู่ระหว่างศึกษาเชื้อเพลิงทางเลือกทุกทางเพื่อกระจายความเสี่ยง

  2. ตรวจสอบหลังบ้านสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบข้อมูลสถานการณ์ วัตถุดิบ (Raw material) เพื่อปรับราคาหรือรับงานได้อย่างเหมาะสมกับสถานะการณ์ เช่น หากวัตถุดิบขาดแคลนอาจต้องกำหนด การส่งสินค้าที่ยาวนานกว่าเดิม

 3. หาตลาดสินค้าใหม่ตลอดเวลา เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของดีมานด์ เช่นการหล่อผนัง Precast สำหรับงานบ้านก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทพิจารณาอยู่

 

ARROW ปรับราคาสินค้า ตามต้นทุน

 "ธานินทร์ ตันประวัติ" กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอร์โรว์ ซินดิเคท (ARROW) ระบุว่า ราคาพลังงานและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อบริษัทในระยะสั้น เพราะทำให้ต้นทุนปรับขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามบริษัทได้ปรับราคาขายขึ้น เพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าวแล้ว

 ปัจจุบันบริษัทสำรองเหล็ก (70% ของต้นทุน) เพียงพอใช้ไปถึงเดือน ก.ค.65 แล้ว ซึ่งสูงกว่านโยบายการสำรองเหล็กไว้ใช้ล่วงหน้า 5 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลิตภัณฑ์ที่อาจปรับตัวขึ้น รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนสินค้าด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ปีนี้ อยู่ในระดับที่สูงกว่า 20%

 ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมติดตั้ง Solar  Roof ในพื้นที่โรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2ปี2565 เป็นต้นไป