สงคราม-ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นร่วงยาว

สงคราม-ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง  ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นร่วงยาว

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไตรมาสแรก ลดลง เทียบไตรมาสก่อนหน้า ประเมิน 6 เดือนข้างหน้า “ลดลง” ต่อเนื่อง เหตุต้นทุนพุ่งสูง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงในไตรมาสนี้ มีสาเหตุหลักจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น

โดยเฉพาะราคาเหล็กปรับตัวสูงถึง 35% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการก่อสร้าง ภาวะเงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลในการดำเนินธุรกิจในขณะนี้


 

เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.1 สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แต่ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนี 56.3 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน แต่ก็มีความเชื่อมั่นที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา

สงคราม-ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง  ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นร่วงยาว

ขณะที่ ผู้ประกอบการกลุ่มไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสแรก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 41.1 ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.5 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในภาวะปัจจุบัน และมีความเชื่อมั่นที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าด้วย
 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 56.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 62.0 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลงทุกด้าน

โดยเฉพาะด้านต้นทุนการประกอบการซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลใจมากที่สุดว่าจะมีการปรับเพิ่มต้นทุนการประกอบการในอีก 6 ข้างหน้า ซึ่งในเรื่องต้นทุนการประกอบการที่ลดลงเหลือเพียง 24.3 ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 26.5

สงคราม-ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง  ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นร่วงยาว

เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทบริษัท พบว่า กลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 60.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.4 แต่ก็ยังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 และเห็นได้ว่ามีความเชื่อมั่นลดลงในทุกด้าน

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯมีค่าดัชนีเท่ากับ 50.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.0 โดยมีความเชื่อมั่นลดลงเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านยอดขายที่กลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น จากค่าดัชนีในไตรมาสก่อน