ส่องเทรนด์ที่อยู่อาศัยรับAging Society

ส่องเทรนด์ที่อยู่อาศัยรับAging Society

ส่องเทรนด์สังคมผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยแบบไหนโดนใจวัยเกษียณผลสำรวจระบุ“เชียงใหม่” เป็นเมืองยอดนิยมอันดับหนึ่ง 74% ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มหากโครงการอสังหาฯมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

รายงานจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยเผยว่า ปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่ใช้เวลาเพียง 17 ปีนับจากปี 2548 ในการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมสูงอายุ สวนทางกับอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

สำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงข้อมูลจำนวนการเกิดประจำปี 2564 พบว่า มีประชากรเกิดทั้งหมด 544,570 คน ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ และเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการเกิดน้อยกว่าการตาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมไปถึงการที่คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้นหรือชะลอการมีบุตรจึงส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของจำนวนประชากร 

 เกษียณแล้วไปไหนดี?

    จากแนวโน้มข้างต้นส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งที่ครองตัวเป็นโสดหรือไม่มีบุตรหลาน เริ่มหันมาตระหนักถึงการวางแผนช่วงบั้นปลายชีวิตมากขึ้น ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยให้เห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยรองรับชีวิตหลังเกษียณมากขึ้น

โดยเชียงใหม่ถือเป็นเมืองยอดนิยมอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ (24%) ตามมาด้วยเชียงราย และชลบุรี (10% และ 8% ตามลำดับ) โดยมากกว่าครึ่ง (52%) เผยว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้สนใจไปอยู่ทำเลดังกล่าวมาจากการได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติหรือพื้นที่สีเขียว ตามมาด้วยตั้งอยู่ใกล้สถานพยาบาลเพื่อความสะดวกหากต้องไปพบแพทย์ (49%) และอยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชนที่ช่วยให้เดินทางไปที่ต่าง ๆ สะดวกขึ้น (44%)

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะมีความสนใจโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อวัยเกษียณ (Retirement Village) แต่พบว่าอุปสรรคสำคัญในการย้ายออกมาจากเหตุผลด้านการเงินและความผูกพันในครอบครัว โดย 45% ของผู้บริโภคทุกช่วงวัยมองว่าโครงการหมู่บ้านวัยเกษียณมีราคาสูงเกินความสามารถที่จะจ่ายไหว ตามมาด้วยความต้องการอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและบุตรหลาน (44%) ต้องการอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันมากกว่า (41%) กังวลในเรื่องของความปลอดภัยและสุขภาพ (34%) และมองว่าโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อวัยเกษียณไม่จำเป็น (19%)

 

ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) นั้นก็มีอุปสรรคในการย้ายไปอยู่อสังหาริมทรัพย์สำหรับวัยเกษียณเหมือนกับผู้บริโภคในช่วงวัยอื่น แต่ให้น้ำหนักของความสำคัญ 3 อันดับแรกต่างออกไป โดยมากกว่าครึ่ง (52%) เลือกอยู่บ้านเดิมของตน และต้องการอยู่กับครอบครัว (51%) ตามมาด้วยมองว่ามีราคาแพงเกินไป (43%) สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั้นมีความคุ้นเคยและชื่นชอบการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิมกับครอบครัวมากกว่าการย้ายออกไปอยู่โครงการที่อยู่อาศัยวัยเกษียณที่ต้องปรับตัวใหม่ แม้จะได้พบหรือมีสังคมรุ่นเดียวกันก็ตาม

ความต้องการบ้านผู้สูงวัยเปลี่ยนไป

บ้านที่ดีต้องส่งเสริมสุขภาพ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการจุดประกายให้ผู้บริโภคทุกช่วงวัยเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วป่วยหนัก โดย 3 ใน 4 ของผู้บริโภคอายุ 60 ปีขึ้นไป (75%) เผยว่า โควิด-19 ทำให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสุขภาพที่ดีมากขึ้น ไม่เพียงแต่มีผลต่อแนวคิดการดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการที่อยู่อาศัยเช่นกัน

โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 74% เผยว่ายินดีที่จะจ่ายเพิ่มหากโครงการอสังหาริมทรัพย์มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้สูงอายุ (69%) มองว่าระบบระบายอากาศและแสงธรรมชาติที่เพียงพอถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและมีความจำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัย

แม้ว่าการแพร่ระบาดฯ จะจบลงก็ตาม เห็นได้ชัดว่าผู้สูงอายุมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการเลือกบ้านที่เสริมสร้างความสบายใจในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากถือเป็นช่วงวัยที่ได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นนั่นเอง

วัยเก๋าก้าวทันโลก PropTech

 การแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานถือเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อต้องเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ และกลายเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้สูงอายุหันมาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาอำนวยความสะดวกในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้ราบรื่นยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากแบบสอบถามฯ เผยว่า เกือบครึ่งของผู้บริโภคที่อายุ 60 ปีขึ้นไป (48%) นิยมคัดเลือกโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ 44% ยังเข้าร่วมงานแสดงที่อยู่อาศัยออนไลน์ รวมไปถึงมีการเยี่ยมชมโครงการเสมือนจริง (Virtual Tour) ถึง 39%

สะท้อนให้เห็นว่า ผู้สูงอายุปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ได้มากกว่าแค่ใช้เพื่อค้นหาข้อมูลทั่วไป แต่ยังสามารถเลือกใช้ฟีเจอร์ที่เหมาะสมกับความต้องการเพื่อสนับสนุนการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลายเป็นคนหาบ้านยุคดิจิทัล ทลายกำแพงผู้สูงวัยที่มีต่อการเรียนรู้เทคโนโลยีและโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี 

ขนาดที่อยู่อาศัยดึงดูดใจเมื่อคิดซื้อบ้าน

ปัจจัยภายในโครงการที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ เมื่อผู้สูงอายุตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมาจากขนาดที่อยู่อาศัยเป็นหลักถึง 55% เนื่องจากมองว่าพื้นที่ใช้สอยในบริเวณบ้านควรมีเพียงพอรองรับการทำกิจกรรมที่หลากหลายของคนในครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย

ตามมาด้วยการพิจารณาจากสิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย และมาตรการ/โครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้นในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน (48% และ 47% ตามลำดับ) สาเหตุมาจากการที่ผู้สูงอายุมองว่าการซื้อบ้านในช่วงที่อายุมากขึ้น อาจเป็นอุปสรรคเมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือได้ระยะเวลาผ่อนชำระที่น้อยลง หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีความพร้อมด้านการเงินสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้ 3 อันดับแรกของปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยจะเน้นไปที่การเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตปัจจุบันเป็นหลัก โดยมากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการโครงการที่เดินทางสะดวกและเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ตามมาด้วยพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง (52%) และความปลอดภัยของทำเล (44%) เพื่อรองรับการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจไร้กังวลแม้อยู่เพียงลำพัง