กทม.ค้างจ่ายหนี้ BTS พุ่ง 3.8 หมื่นล้าน ลุยฟ้องศาลทวงหนี้เพิ่ม

กทม.ค้างจ่ายหนี้ BTS พุ่ง 3.8 หมื่นล้าน ลุยฟ้องศาลทวงหนี้เพิ่ม

BTS เผย กทม.ค้างจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย ค่าวางระบบรถไฟฟ้า พุ่ง 3.8 หมื่นล้านบาท เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยว่า ภาระหนี้สะสมที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีต่อ BTS ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

    1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 18,000 ล้านบาท 

    2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท  
    ทั้งนี้ หนี้ที่กรุงเทพมหานครต้องจ่ายให้ BTS เพิ่มขึ้นมาเป็น 38,000 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่ได้มีการชำระหนี้ในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้าและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มาตั้งแต่เปิดให้บริการ

สำหรับคืบหน้าการทวงหนี้จ้างเดินรถกับกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด นั้น ปัจจุบันศาลปกครองได้รับเรื่องไว้พิจารณา โดยกำหนดให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ยื่นเอกสารทำคำชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาทั้ง 2 ฝ่ายต่อศาลปกครอง ภายในสัปดาห์นี้ แต่กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ขอเลื่อนส่งเอกสาร โดยในช่วงที่ BTS ฟ้องต่อศาลปกครองทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถได้ระบุข้อมูลหนี้ ณ วันที่ 15 ก.ค.2564 วงเงิน 12,000 ล้านบาท

    นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การฟ้องร้องระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,000 ล้านบาท ต่อศาลปกครองเพิ่มเติม อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสาร โดยต้องหารือทีมทนายความถึงแนวทางการฟ้องร้อง ซึ่งยืนยันจะมีการฟ้องร้อง โดยขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาเรื่องการชำระหนี้กับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด
    

รายงานข่าวระบุว่า กรุงเทพมหานครได้มีการสรุปภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร และ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ที่มีต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จากการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งนำมาสู่การร้องศาลเพื่อให้กรุงเทพมหานครชำระหนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรุงเทพมหานครส่งให้กระทรวงคมนาคมตามที่มีการหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงที่ผ่านมา

    สำหรับภารหนี้ระหว่างกรุงเทพมหานครและ BTS ถึงเดือน ม.ค.2565 รวมทั้งสิ้น 37,140 ล้านบาท แบ่งเป็น

    1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 รวม 3,710 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 รวม 13,343 ล้านบาท 
    2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) 20,088 ล้านบาท 

    นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครมีภาระเงินต้นงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 จำนวน 55,000 ล้านบาท 

    ภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 ประมาณ 10,000 ล้านบาท

    ทั้งนี้ หนี้ของการเดินรถส่วนต่อขยายเริ่มจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จ้างบีทีเอสเป็นผู้เดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า , ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสาร 15 บาท แบ่งเป็น ดังนี้

    ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า เปิดในวันที่ 14 ก.พ.2556 เปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีลมอย่างเป็นทางการจากสถานีวงเวียนใหญ่-สถานีตลาดพลู ส่วนวันที่ 5 ธ.ค.2556 เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลมจากสถานีตลาดพลู-สถานีบางหว้า

    ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดเมื่อวันที่ 12 ส.ค.2554 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีแบริ่ง

    ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดวันที่ 3 เม.ย.2560  โดยกรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสารปกติ 15 บาท ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.2561 ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากสถานีสำโรง-งสถานีเคหะสมุทรปราการ โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 4 ปี

    ในขณะที่การเปิดบริการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ทยอยเปิดในวันที่ 9 ส.ค.2562 เปิดให้บริการจากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ส่วนวันที่ 5 มิ.ย.2563 เปิดให้บริการจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และวันที่ 16 ธ.ค.2563 เปิดให้บริการจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-สถานีคูคต โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันรวม 3 ปี