AAV เทคออฟ! พ้นจุดต่ำสุด “รับท่องเที่ยวฟื้น”
“การท่องเที่ยว” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของจีดีพีไทย โดยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวทำสถิติใหม่ต่อเนื่องมาทุกปี
แต่ทันทีที่เกิดโรคระบาดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบไปเต็มๆ หลังประเทศต่างๆ ยกระดับมาตรการคุมเข้ม ล็อกดาวน์ปิดประเทศ ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกแทบหยุดชะงัก
ประเทศไทยที่การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักเลยเจ็บหนักทันที ผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชน ตั้งแต่สายการบิน สนามบิน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ไกด์ มัคคุเทศก์ ฯลฯ ตั้งตัวกันไม่ทัน เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ จนหลายรายขาดสภาพคล่อง ต้องจำใจปิดกิจการในที่สุด
หลังถูกพิษโควิด-19 เล่นงานมาหลายระลอก มาวันนี้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ จากเกราะป้องกันของวัคซีน ขณะที่ประชาชนเริ่มปรับตัวได้ หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ส่วนประเทศไทยแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังสูง แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ระบบสาธารณสุขยังรับมือไหว จึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มมากขึ้น
โดยรัฐบาลตั้งเป้าประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวช่วงนี้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งตลาดต่างชาติเที่ยวไทยและตลาดไทยเที่ยวไทย เห็นได้จากบรรยากาศการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา สนามบินทั่วประเทศเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
ผู้ประกอบการเริ่มยิ้มออก เร่งเตรียมความพร้อมรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่าง “สายการบินไทยแอร์เอเชีย” ในกลุ่มบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ซึ่งถูกโควิดเล่นงานจนผลประกอบการขาดทุนมา 3 ปีติด (2562-2564) ที่ -474 ล้านบาท, -4,764.09 ล้านบาท และ -6,647.49 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะนี้เส้นทางในประเทศกลับมาบินตามปกติแล้ว
ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศกำลังทยอยกลับมาเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2 นี้ โดยตั้งแต่เดือนเม.ย. มีแผนเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้รวม 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มัลดีฟส์ และอินเดีย รวม 18 เส้นทาง
โดยตั้งเป้าว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 เส้นทางบินระหว่างประเทศจะกลับมาเปิดให้บริการได้ราว 20% จากช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด และเพิ่มเป็น 40% ในไตรมาส 3 ปี 2565 และ 60% ในไตรมาส 4 ปี 2565 พร้อมคาดการณ์ว่าหากปี 2566 จีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักเปิดประเทศ จะสามารถกลับมาทำการบินได้ 100%
ส่งผลให้ผลประกอบการค่อยๆ ฟื้นตัว โดยบริษัทมองว่าได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดไปแล้ว ปีนี้ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 12.3 ล้านคน จากปี 2564 ที่ 2.93 ล้านคน และปี 2563 ที่ 9.49 ล้านคน ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ 78% จากปี 2564 ที่ 68% และปี 2563 ที่ 75%
ปัจจุบันมีฝูงบินทั้งหมด 53 ลำ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ใช้ไป 20 ลำ คาดเพิ่มเป็น 30 ลำในไตรมาส 2 นี้ และหวังว่าในช่วงปลายปีน่าจะใช้เครื่องบินได้เต็มที่ เวลานี้บริษัทถือว่ามีความพร้อมมากขึ้น หลังปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยได้เงินจากการเพิ่มทุนมาเกือบ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมกลับมารุกธุรกิจ
สอดรับกับการคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มองว่าการท่องเที่ยวปีนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 656,000 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 160 ล้านคน/ครั้ง โดยมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 4,100 บาท/คน และตลาดต่างประเทศ 625,800 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ด้วยยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 62,580 บาท/คน
ดูแล้วสถานการณ์ตอนนี้กำลังสดใส แต่ก็ประมาทไม่ได้ หวังว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์จะไม่เพิ่มขึ้นจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคงต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง
โดยบล.เคจีไอ ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศจะฟื้นตัวต่อเนื่องปีนี้ จึงปรับสมมติฐานผู้โดยสารปี 2565-2566 เป็น 12.3 ล้านที่นั่ง และ 20.2 ล้านที่นั่ง จากเดิม 7.5 ล้านที่นั่ง และ 8.6 ล้านที่นั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าของบริษัท และปรับเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นปี 2565 เป็น 4% จาก 3% และปี 2566 เป็น 8% จาก 4% รวมทั้งปรับสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายปี 2565 เป็น 10% จาก 13% และปี 2566 เป็น 9% จาก 8.5%
ทั้งนี้ มองว่าผลประกอบการปี 2565 ยังขาดทุน 1.91 พันล้านบาท จากเดิมคาดขาดทุน 2.18 พันล้านบาท และจะพลิกเป็นกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 73 ล้านบาท จากเดิมคาดยังขาดทุนอยู่ 684 ล้านบาท