ประชาชนวอนรัฐขยับ’เบี้ยคนแก่’ 3 พัน/เดือน
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งอาจเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1 ล้านล้านบาทในปี 2576
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ในปี 2566 โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2576 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ โดยไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2548
โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปทำให้เกิด การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง สร้างปัญหาความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานต้องรับภาระการเงินในครอบครัว รวมถึงต้องดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย
ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อดูแลผู้สูงอายุ บอกว่าปัจจุบันมีสวัสดิการอุดหนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 - 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจ่ายตามเกณฑ์อายุ ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าครองชีพในยุคนี้ อยากให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอย่างน้อย 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ด้านกระทรวงการคลัง ระบุ จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากร จำนวนวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มหลักมีแนวโน้มลดลง รัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ได้ลดลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุมีมากขึ้น โดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 7.5 แสนล้านบาทหรือ 4.43% ของจีดีพี โดยงบประมาณดังกล่าว อาจเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด
สำหรับแนวนโยบายในการดูแลให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระทางการคลังในอนาคตรัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร การเตรียมความพร้อมทางการเงินของประชาชนก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณอย่างพอเพียง