บูมเทศกาล "ภูเก็ต เพอรานากัน" โหมโรงไฮซีซั่นรับเปิดประเทศเต็มตัว!
“เฟสติวัล อีโคโนมี” (Festival Economy) โมเดลสร้าง “งานเทศกาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ให้กับชุมชนและเมืองในระยะยาว ได้รับการผลักดันจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ กับสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยเตรียม “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” ฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิด-19
ล่าสุดทั้งสององค์กรได้ผนึกกำลังกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และชุมชนผู้ประกอบการ จัดงานเทศกาลต้นแบบนำร่อง “Colours of Peranakan” ภายใต้ชื่อ “Phuket Peranakan Festival 2022” เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างต้นแบบงานเทศกาลให้เกิดความหลากมิติในจังหวัดภูเก็ต
ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานเสวนา สัมมนาเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการในย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมถึงการแสดง Live Performing Art - Colours of Peranakan สีสันของรากเหง้า “เพอรานากัน” การเยี่ยมชมโครงการ 1 บ้าน 1 เพอรานากัน การแสดงโชว์เคสชุดแต่งกาย Baba และ Ngonya แบบดั้งเดิมและชุดแต่งกายเพอรานากันสมัยใหม่ การแสดง light up & Projection Show ที่บอกเล่าความเป็นมาของเพอรานากันตั้งแต่การเดินทางในอดีตสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็น “วัฒนธรรมประเพณีเฉพาะตัว” ที่สืบสานมาจนถึงยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเปิดบ้านชินประชา มรดกแห่งเพอรานากัน เปิดตำนานพิพิธภัณฑ์ไทยหัว เปิดชุมชนพิพิธภัณฑ์หม่อเส้ง และการแสดง Peranakan Live Street Show โชว์นานาชาติของเพอรานากันครั้งแรกบนภูเก็ต บริเวณถนนรมณีย์ ย่านเมืองเก่า และถนนถลาง
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เล่าว่า ทีเส็บได้ริเริ่มนำแนวความคิด “เฟสติวัล อีโคโนมี” เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนงานเทศกาล ภายใต้เป้าหมายใหญ่ “ผลักดันเทศกาลเมืองสู่ตลาดโลก” จึงเป็นที่มาของการจัดงานเทศกาลต้นแบบ Phuket Peranakan Festival 2022 สีสันของศิลปวัฒนธรรมเพอรานากันที่ผสมผสานและถูกนำมาประยุกต์สู่สื่อศิลปะต่างๆ ในยุคปัจจุบัน ให้เกิดมิติอันหลากหลายในจังหวัดภูเก็ต ยกระดับต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดทางด้านการตลาด สร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและเมือง ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิดชูรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต
“นับเป็นการต่อยอดแนวคิด เฟสติวัล อีโคโนมี ร่วมสร้างงานเทศกาลจากภูมิปัญญาเพื่อสร้างความยั่งยืนกับพื้นที่เมืองเก่าและจังหวัดภูเก็ตต่อไป”
เรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เพื่อสานเป้าหมายสู่ “ภูเก็ต ปลอดภัย ทันสมัย ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ต้องตีโจทย์ว่า “โลกที่เปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิด-19” เขาคิดอะไร เปลี่ยนแปลงอะไร ชูอะไร ขึ้นเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ และคิดอย่างไรในการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ยกตัวอย่างวัฒนธรรม “เพอรานากัน” เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม เช่น การแต่งงาน อาหารดั้งเดิม และบทเพลงพื้นเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่ทายาทเพอรานากันพยายามรักษาวิถีอันดีงามของบรรพบุรุษ โดยจัดงานพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างชาวเพอรานากันที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้วัฒนธรรมเพอรานากันที่มีอยู่มานานใน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มั่นคง โดยสมาคมเพอรานากันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานต่อไป ดังนั้นการร่วมมือกันจัดงานเทศกาลนี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของ “คนทุกเพศวัย” ในการสื่อสารเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพอรานากัน
“งานเทศกาลเปรียบเหมือนอาวุธสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยภารกิจสำคัญของงานเทศกาลฯ นอกเหนือจากการเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นในการนำความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทุกอุตสาหกรรม นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพอรานากันจึงเป็นต้นทุนการออกแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต”
บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) กล่าวว่า หลังจากสมาคมฯร่วมจัดต้นแบบงานเทศกาล “Phuket Peranakan Festival 2022” เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยการดึงตัวตนหรือ “DNA” ของ “ภูเก็ต” เรื่องวัฒนธรรม “เพอรานากัน” ซึ่งมีรากเหง้ามาจากชาวจีนโพ้นทะเลมาเป็นจุดขาย คาดว่าน่าจะจัดงานเทศกาลดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้เป็นปีแรกในช่วงไตรมาส 4 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “ไฮซีซั่น” ของภูเก็ต คาดมีเม็ดเงินสะพัดจากการจัดงานเทศกาลนี้หลายร้อยล้านบาท
ทั้งยังสอดรับกับการฟื้นตัวของตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ!!