บรรษัทวิสาหกิจชุมชน EEC ความสำเร็จอยู่ที่รูปแบบธุรกิจ

บรรษัทวิสาหกิจชุมชน EEC ความสำเร็จอยู่ที่รูปแบบธุรกิจ

การพัฒนาวิสาหกิจในพื้นที่ EEC ที่นำเสนอนั้นก็คือการสร้างบรรษัทวิสาหกิจชุมชนโดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย EEC (สกพอ.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และภาคเอกชน

ในอัตราส่วนของเงินลงทุน 10:10:80 เพื่อคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพสูงเพื่อพัฒนาบ่มเพาะความรู้ทักษะในการบริหาร ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การตลาด ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งแหล่งสนับสนุนเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 นี้ ซึ่งในรายละเอียดยังไม่ปรากฏออกมาชัดเจนนักเพราะยังต้องหาคนร่วมลงทุนภาคเอกชน และรูปแบบการทำธุรกิจของบรรษัทเอง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแบบบริษัทประชารัฐสามัคคีจังหวัดต่าง ๆ ที่จะหาตัวอย่างของความสำเร็จตามเป้าหมายแทบไม่เจอ ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนให้กับ สกพอ. ที่กำลังจะตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชนแบบไฮบริดนี้ขึ้นมาในพื้นที่ EEC  
 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชนหรือจะเป็นวิสาหกิจ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทอะไรก็ได้ที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านทุน ความรู้ การจัดการ และการตลาด แต่ต้องมีการดำเนินงานแบบธุรกิจจริง ๆ ล้วน ๆ ไม่พึ่งพางบประมาณของรัฐ และต้องกำหนดการทำธุรกิจของตนเองให้ชัดว่าบรรษัทนี้ทำธุรกิจอะไร ผมยังมองไม่เห็นในรายงานว่า สกพอ. จะให้บรรษัทนี้เข้าไปร่วมลงทุนทำธุรกิจกับวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อบ่มเพาะให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ผ่านการจัดการที่ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน การตลาดที่มีประสิทธิภาพ หรือการขยายธุรกิจ ฯลฯ หรือลงทุนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นมาทำธุรกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทำการแปรรูปเกษตรหรือวัตถุดิบในพื้นที่ เพื่อให้เป็นตัวเชื่อมโยงการเกษตรกรรมในพื้นที่กับตลาด โดยวิสาหกิจชุมชนที่ทันสมัย มองระบบตลาดทั้งระบบ แบบที่เขาเรียกว่าอุตสาหกรรมที่ 6 คือมีทั้งอุตสาหกรรมที่ 1 คือทางการเกษตร อุตสาหกรรมที่ 2 ก็คือการแปรรูป และอุตสาหกรรมที่ 3 คือเรื่องของการตลาด โดยวิสาหกิจนี้จะมองการตลาดเป็นสำคัญ กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด และถอดลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิต ก่อนโยงไปหาเกษตรกรรมและวัตถุดิบในพื้นที่ว่าต้องทำการผลิตอย่างไร คุณภาพแบบไหน เพื่อสามารถผลิตออกมาเป็นสินค้าที่ลูกค้าต้องการ และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ 
 

หากมองในนโยบายมหภาคที่ดูด้าน Impact ของนโยบายการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างให้วิสาหกิจเหล่านี้สามารถแข่งขันได้จากความได้เปรียบในวัตถุดิบในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม วัตถุดิบทางทะเล มีการจัดการบริหารที่ดี ก็จะกลายเป็นตัวรับซื้อและกระจายสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และบางส่วนก็แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกกลุ่มในห่วงโซ่อุปทาน เกษตรกรก็มีตลาดจำหน่ายพืชผลไม้ตนเอง ในขณะที่วิสาหกิจชุมชนก็มีความสามารถดำรงอยู่ได้ทางธุรกิจ ดังนั้นการเข้าไปสร้างหรือร่วมทุน สร้างความแข็งแกร่งให้วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เหล่านี้ในทุกมิติไม่ว่าการจัดการ การตลาด การผลิต หรือการพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ 
การออกแบบการพัฒนาแบบนี้ ก็ช่วยให้เกษตรกรรู้ว่าเขาต้องผลิตพืชผลไม้อะไร ตามรูปแบบ คุณภาพ มาตรฐานอย่างไรที่ลูกค้าต้องการ ส่วนวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเกษตรในรูปแบบที่สามารถขายได้ในตลาด ซึ่งวิสาหกิจเหล่านี้ก็คือศูนย์กลางของการรวบรวมข้อมูลทางการตลาดจากฝั่งดีมานด์ คือตลาด กับด้านซับพลาย คือฝั่งเกษตรกร เพื่อให้ทั้งลูกค้าและเกษตรกรสามารถเชื่อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบนี้คือการเกษตรกรรมแบบ Demand Driven อย่างที่เราพยายามทำกันมาตลอด แต่ก็ไม่ได้สักที ยังมีพืชผลทางการเกษตรและผลไม้ยังล้นตลาดให้เห็นเสมอ 
การพัฒนาให้วิสาหกิจชุมชนไม่ว่าการแปรรูปหรือบริการเพื่อสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ นั้นไม่ใช่ของใหม่ แต่การที่จะทำให้เขาสามารถเป็นตัวเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานได้นั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะการเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคเกษตรกรรม และการตลาดเข้าด้วยกันนั้น ต้องการทรัพยากรจำนวนมาก ไม่ว่าความรู้ ทุน และเครือข่าย ที่ผ่านมาและในวันนี้ก็เป็นบรรษัทขนาดใหญ่ ทุนหนา เทคโนโลยีสูงเป็นผู้คุมตั้งแต่หัวจนท้ายมาตลอด ดังนั้นความท้าทายของการสร้างหรือพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับเครือข่ายเหล่านี้ที่มีความพร้อมและครบถ้วนทุกอย่างซึ่งโอกาสสู้ไม่ได้เลย หรือหากหันมาพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจนสามารถเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายของบรรษัทขนาดใหญ่ได้ก็ต้องเผชิญกับส่วนแบ่งที่อาจไม่ได้มากเท่าที่ควรจะได้ หรือหากหลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ ต้องถามตนเองว่าจะสามารถขยายได้มากไปมากแค่ใดในอนาคต เพราะเมื่อยิ่งขยายก็มีโอกาสเจอยักษ์ใหญ่เข้ามาเล่นด้วย     
ถึงเรื่องการตลาดเป็นสำคัญทำให้ผลิตภัณฑ์ในกระบวนการพัฒนาวิสาหกิจของเรานั้นมักจะประสบปัญหาการตลาดอยู่เสมอออกมาแล้วไม่รู้จะขายอย่างไรหลายหน่วยงานก็พยายามเติมเต็มในส่วนที่ขาดทางด้านการตลาดโดยการตั้งงบประมาณจัดงานขายให้ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถือว่าก็ช่วยได้จะเทียบประสิทธิภาพของงบประมาณที่ใส่ลงไปแล้วผมก็ยังคิดว่าน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านั้นแนวคิดของการพัฒนาวิสาหกิจในหลายหลายพื้นที่ในโลกนี้เขาจะมักจะมองให้ครบถ้วนสำคัญ 
ความท้าทายของโครงการนี้ ก็คือ การกำหนดรูปแบบธุรกิจของบรรษัทวิสาหกิจชุมชนที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่มีศักยภาพนั้น ต้องมีการดำเนินงานแบบธุรกิจจริง ๆ แม้ว่าตัวชี้วัดที่ทาง EEC บอกไว้นั้นส่วนมากจะเป็นผลตอบแทนทางสังคมแต่ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางธุรกิจของตนเองด้วย ไม่งั้นวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้มีโอกาสรอดยาก นอกจากนี้การบริหารองค์กรที่ต้องหาคนที่มีเข้าใจอย่างลึกซึ้งและมีความสามารถบริหารองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ ทั้งด้านสังคมและธุรกิจ ซึ่งส่วนผสมความสามารถของคนบริหารและรูปแบบธุรกิจของบรรษัทแห่งนี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้