"ปลดล็อก" อยู่กับโควิด
รัฐบาลไทยต้องหันกลับมาเดินหน้าแนวทาง “อยู่กับโควิด” อย่างจริงจัง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ก้าวไปข้างหน้าในสิ่งที่ควรจะเป็น เพื่ออยู่กับโควิดให้ได้
ข่าวดีที่เกิดขึ้นวันนี้ คือ สหรัฐถอดคำเตือนห้ามเดินทางมาไทย เพราะล่าสุด..ได้จัดอันดับไทยอยู่ในกลุ่มความเสี่ยง "โควิด-19" มาอยู่ระดับ 3 หมายความว่า ไทยมีความเสี่ยงสูงจากโควิด-19 โดยรัฐบาลสหรัฐแนะนำให้ชาวอเมริกันฉีดวัคซีนโควิดสูตรที่มีการปรับปรุงล่าสุด ก่อนจะเดินทางมายังประเทศไทย
จากเดิมก่อนหน้า ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับ 4 ซึ่งบ่งชี้ ความเสี่ยงสูงสุดจากโควิด และรัฐบาลสหรัฐแจ้งเตือนชาวอเมริกันให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเยือนประเทศกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก
แต่ล่าสุดได้ยกเลิกคำเตือนเหล่านี้แล้ว ซึ่งจัดอันดับประเทศไทยให้เป็นระดับเดียวกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน รัสเซีย ตุรกี กรีซ อิสราเอล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง
มุมมองแบบนี้ แสดงว่า เมืองไทยดีขึ้นมากในสายตาของต่างชาติ ดังนั้นภายในประเทศเองต้องมาคิดกันจริงจังว่าเราจะผ่อนปรนอะไรกันต่อเนื่อง
สถานการณ์วันนี้ รัฐและรัฐบาลไทย ต้องหันกลับมาคิดเดินหน้าแนวทาง “อยู่กับโควิด” อย่างจริงจัง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ทำงานในสิ่งที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของแนวทางนี้คือ ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัวเอง และหากติดเชื้อจะจำนวนเท่าไรๆ ไม่สำคัญเท่าประเทศมีระบบรองรับผู้ป่วย ยาเพียงพอ ประชากรในประเทศมีภูมิคุ้มกันมากพอ เพื่ออยู่กับโควิดให้ได้
ยิ่งประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในอัตราที่สูง และเกี่ยวข้องกับหลายคลัสเตอร์ด้วยแล้ว ธุรกิจบริการ โรงแรม ท่องเที่ยว จึงสำคัญสำหรับประเทศไทย ดูตัวอย่างเกาหลีใต้ล่าสุด ยกเลิกข้อจำกัดคุมโควิดเกือบทั้งหมดแล้ว
ถือเป็นก้าวย่างสำคัญมุ่งหน้าสู่การใช้ชีวิตปกติ เนื่องจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอ่อนกำลังลง การติดเชื้อรายวันต่ำสุดในรอบกว่าสองเดือนเหลือไม่ถึง 50,000 คน ตอนนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยววางแผนเดินทางเข้าเกาหลีใต้กันอย่างมาก
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ศบค. ชุดเล็ก วันที่ 21 เม.ย. และชุดใหญ่ 22 เม.ย.นี้ ถึงเวลาที่จะประกาศ “ปลดล็อก” การเดินทางเข้าประเทศ และกิจกรรมหลายๆ อย่างในประเทศ ได้แล้ว ขณะเดียวกัน คนในประเทศก็ต้องปรับตัว การจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับแนวทาง “อยู่กับโควิด” เพื่อรองรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 ก.ค. 2565
ทั้งนี้ หากฟังเสียงจากภาคธุรกิจ จะทราบดีว่าหากยังปล่อยเป็นเช่นนี้ เอกชนทนไม่ไหว และรัฐบาลก็ไม่อาจจะเยียวยาได้อีก เพราะมีข้อจำกัดด้านการคลัง ซึ่งล่าสุดภาคธุรกิจอย่าง "วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค" ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยเสนอแนะให้ยกเลิกระบบหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) และมาตรการ “Test & Go” เพราะผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือน เม.ย. 2565 มีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 11,623 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อวันจำนวนกว่า 50,000 คนในเดือน เม.ย. 2563 ถือเป็นข้อเสนอที่ควรให้ความสนใจ