DPAINT เล็ง “ซื้อกิจการ” จ่อก้าวสู่ “ผู้นำ” สีทาอาคาร TOP 3 ไทย

DPAINT เล็ง “ซื้อกิจการ” จ่อก้าวสู่ “ผู้นำ” สีทาอาคาร TOP 3 ไทย

"สีเดลต้า" จ่อลุยธุรกิจใหม่ ก้าวสู่ "ผู้นำตลาดสีทาอาคารท็อป 3" ภายใน 5-10 ปี พร้อมตั้งงบ “ซื้อกิจการ” ไว้แล้ว กำลังคุยพันธมิตรหลายราย คาดชัดเจนปีนี้

“อุตสาหกรรมสีทาอาคาร” มีมูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านบาท ในภาพรวมของตลาดอาจจะเติบโตไม่ “หวือหวา” มากนัก ! เป็นตามทิศทางตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์สีคิดเป็นสัดส่วน 2% ของมูลค่าโครงการ แต่สำหรับ บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร กลับมีธุรกิจที่เติบโตมากกว่าอุตสาหกรรม เนื่องจากมีนวัตกรรมเป็นจุดเด่น !   

“สีเดลต้า” ที่ก้าวเข้าสู่ 4 ทศวรรษ ! หรือก่อตั้งมากกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่ง ณ เวลานี้ธุรกิจถูกส่งต่อสู่ “ทายาทรุ่นสอง” อย่าง “รณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ” ลูกชายคนโต และ “อรรถพล ตั้งคารวคุณ” ลูกชายคนสุดท้อง ของ “อาจณรงค์-วิไล ตั้งคารวคุณ” ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ! 

“รณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เมื่อบริษัทมีเป้าหมายธุรกิจระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า ต้องการก้าวสู่การเป็น “ผู้นำตลาดระดับ Top 3” ของอุตสาหกรรมสีทาอาคารของเมืองไทย โดยธุรกิจต้องเติบโตราว “5 เท่า” สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้ที่ตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ยระดับ 20% หรือ ต้องมี “ส่วนแบ่งทางการตลาด” (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 12% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%    

ดังนั้น หากยังคงยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดด “ย่อมยาก” มากขึ้น จึงต้องเดินแผนรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิม “สีทาอาคาร” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยระดับโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น การแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ เสริมสร้างแบรนด์สู่ความเป็นสากลมากขึ้น  

พร้อมไปกับรุกเข้าสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) เพื่อเป็นการปรับพอร์ตรายได้ (Diversify) โดยปัจจุบันบริษัทวางงบลงทุนในการเข้า “ซื้อกิจการ” (M&A) ก้อนใหญ่พอสมควรแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจาพันธมิตรหลายราย และปัจจัยหลักสำคัญในการตัดสินใจเข้าลงทุนคือ “ผลตอบแทนลงทุน” (IRR) ต้องคุ้มค่า และสิ่งสำคัญต้องเข้ามา “เพิ่มมูลค่า” หรือ “ผนึกกำลัง” (Synergy) ร่วมกัน คาดจะสามารถเห็นความชัดเจนมากขึ้นปี 2565 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินทุนที่ตั้งไว้เพื่อไดเวอร์ซิไฟล์อยู่แล้ว และหากเจอดีลที่ตรงตามเป้าหมายก็พร้อมเข้าลงทุนทันที ซึ่งบริษัทเปิดกว้างในการเจรจาพันธมิตรทุกรูปแบบทั้งใน และต่างประเทศ สะท้อนภาพบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.5 เท่า และด้วยขนาดของบริษัท และโปรดักต์ที่ยังมีน้อยคือ มีแค่สีทาอาคาร ดังนั้น บริษัทยังขาดสีอีกหลายหมวดอุตสาหกรรม อาทิ สีรถยนต์ , สีทาไม้ , สีเฟอร์นิเจอร์ หรือ สีเรือ เป็นต้น 

DPAINT เล็ง “ซื้อกิจการ” จ่อก้าวสู่ “ผู้นำ” สีทาอาคาร TOP 3 ไทย

“เรามองว่าสีเดลต้าเหมาะสมที่จะลงทุนโมเดล M&A เพราะธุรกิจเรามีแค่สีทาอาคาร เรายังขาดสีอีกหลายหมวดอุตสาหกรรม แม้ว่าจริงๆ เราสามารถขยายการลงทุนเองได้แต่มองว่าไม่ทันการณ์ ดังนั้น โมเดลซื้อกิจการจะเร็วกว่า และเชื่อจะสร้างผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องในระยะยาว”

“ซีอีโอ” แจกแจงต่อว่า สำหรับกลยุทธ์การเติบโตธุรกิจสีทาอาคาร บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายตลาดเข้าไปในพื้นที่ระดับอำเภอมากขึ้น เนื่องจากสินค้าบริษัทยังกระจายได้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว “เปรียบเหมือนตอนนี้บริษัทกำลังลงทุนปักเสาสัญญาณโทรศัพท์เพื่อให้กระจายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ”

รวมทั้ง การกระจายพอร์ตลูกค้าเข้าไปใน “อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่” ซึ่งปัจจุบันมีสัญญากันหลายรายแล้ว และเริ่มทยอยมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามา แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก เนื่องจากบริษัทเพิ่งเริ่มทำตลาดเข้าไปในกลุ่มลูกค้าดังกล่าว

สอดรับแผนการเปิดโรงงานแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังโดยมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 50% เป็นกำลังผลิตรวม 4.8 ล้านแกลลอนต่อปี โดยโรงงานใหม่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Slurry แทนระบบ Co-Grind เพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดขั้นตอน และลดการสูญเสียจากสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนในการผลิตได้มากขึ้น 

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับราคาสินค้าขึ้น 6-12% เพื่อรักษาอัตรากำไร และสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนวัตถุดิบ และลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร และการขาย คาดว่าจะลดต้นทุนการผลิตลงได้ประมาณ 3-5% ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

สำหรับการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายใน “ต่างประเทศ” ปัจจุบันบริษัทเริ่มขยายตลาดสีทาอาคารไปในประเทศกลุ่ม CLM (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดกว่า 10,000 กว่าล้านบาท โดยตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จาก CLM ประมาณ 10% ในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% 

โดยใน สปป.ลาว บริษัทมีพาร์ตเนอร์ในการทำตลาดแล้ว คาดไตรมาส 3 ปี 65 จะเริ่มดำเนินการได้ ส่วนในเมียนมา ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายผ่านทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขณะที่กัมพูชาเบื้องต้นจะให้พาร์ตเนอร์เป็นคนทำตลาดให้ โดยปัจจุบันบริษัทให้ยืมเครื่องผสมสีไปติดตั้งที่กัมพูชาแล้วกว่า 10 เครื่อง ซึ่งบริษัทเป็นคนลงทุนเครื่องผสมสีราว 3 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการจำหน่ายหลักยังมาจากในประเทศมากกว่า 90% โดยมีการจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายรวมกันมากกว่า 1,500 สาขาเกือบทั่วประเทศ ได้แก่ ร้านโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ร้านค้าปลีก (Retail) และงานโครงการ (Project) ดังนั้น การเติบโตในประเทศยังมีอีกมหาศาล 

โดยมองว่าบริษัทยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ และเสี่ยงที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากเกินไป เนื่องจากตลาดที่บริษัทมีความคุ้นเคย และรู้จักดีมาตลอด 40 กว่าปี ยังสามารถสร้างการเติบโตได้อีกมาก ดังนั้น การลงทุนในต่างประเทศตอนนี้แค่เริ่ม หากวันหนึ่งเมื่อตลาดไทยอิ่มตัวก็ยังมีอีกตลาดที่บริษัทดำเนินการรออยู่แล้ว    

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทยังมีผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง เพราะสีถือเป็นวัสดุใช้ซ้ำทุก 10 ปี สีถือว่ามีราคาถูกกว่าวัสดุอื่นๆ และต้องทาสีใหม่สำหรับอาคารทั่วไป และถ้าเป็นอาคารบริการ เช่น โรงแรม ยิ่งมีการทาสีใหม่บ่อยขึ้น โดยสัดส่วน 70% ของตลาดคือ เรื่องของการรีโนเวทอยู่แล้ว และอีก 30% เป็นตลาดความต้องการ (ดีมานด์) ใหม่ 

สุดท้าย “รณฤทธิ์” บอกไว้ว่า หากเราจะเติบโตขึ้นมาเป็น TOP 3 เราจะต้องกินมาร์เก็ตแชร์คนอื่นๆ และด้วยกลยุทธ์การกระจายสินค้าของเราไปเจาะลูกค้าตามอำเภอ คาดว่าจะทำให้ฐานลูกค้ามากขึ้น โดยเราจะเข้าไปเป็นหนึ่งในทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์