Clean Energy Megatrend ใหม่พลังงานโลก !
การลงทุนในกลุ่มหุ้นพลังงานสะอาดเป็นเมกะเทรนด์ใหม่พลังงานโลกมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่อง ประกอบกับ Valuation ที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับการเติบโตโดดเด่น นับว่าเป็นอีกธีมการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจมากตอนนี้
หากจะตั้งคำถามให้นักลงทุนตอบ ว่าอะไรคือรากปัญหาของเศรษฐกิจในปีนี้ คงหนีไม่พ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรุนแรงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก เช่น มติการขยายกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่น้อยลงกว่าความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วงวิกฤต COVID-19 ซ้ำเติมด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียโดยกลุ่ม G7 และรัสเซียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซอันดับ 2 ของโลก ตอบโต้กลับด้วยการระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติสู่สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซียในปัจจุบันมาเป็นจุดแข็งในการตอบโต้ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นกว่า 120%
นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนวันแรก (24 ก.พ. 2022) แม้ว่าความตั้งใจของกลุ่ม G7 ในการคว่ำบาตรรัสเซียจะต้องการสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจของรัสเซีย รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองของประธานาธิบดีปูติน แต่กลุ่ม G7 หลายประเทศกลับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทางอ้อม ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายสิบปี และภาครัฐฯ ของกลุ่ม G7 ต้องหาทางรับมือก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจนสายเกินแก้
เริ่มด้วยมาตรการของยุโรปที่เคยเป็นลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซีย โดยมีการนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซียราว 40% จากเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งประเทศ มาตรการตอบโต้ของรัสเซียทำให้ยุโรปจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงจากรัสเซียผ่านแผน REPowerEU โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ส่งเสริมและเร่งรัดการใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าร์ ลม น้ำ หรือชีวมวล ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 1,236 Gigawatts หรือคิดเป็น 45% กำลังการผลิตทั้งยุโรปให้ได้ภายในปี 2030 นี้ และรวมไปถึงมาตรการอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทนถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซในอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งนโยบายประชาสัมพันธ์การประหยัดพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะมีงบประมาณทั้งหมดราว 2.1 แสนล้านยูโรผ่านกองทุนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (RRF)
อีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อไม่น้อยไปกว่ากันอย่างสหรัฐอเมริกาที่เป็น 1 ในผู้ก่อตั้งกลุ่ม G7 ก็ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act : IRA โดยใช้มาตรการภาษีเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงวงเงิน 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาทิ ลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งพลังงานสะอาดที่ใช้ในครัวเรือน ลดภาษีรถยนต์ EV รวมถึงลดหย่อนภาษีให้แก่ธุรกิจการผลิตหรือขนส่งที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ เป็นต้น
แม้ว่าการเร่งรัดแผน REPowerEU หรือ IRA ดูเหมือนเป็นการแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นในระยะสั้นจากแหล่งเชื้อเพลิงที่ไม่เพียงพอ แต่ทั้ง 2 กลุ่มประเทศเองก็เป็นผู้ร่วมลงนามตามข้อตกลงฝรั่งเศสว่าด้วยการลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ (Paris Agreement) ร่วมกับ 195 ชาติทั่วโลกในปี 2015 เป็นต้นมา ซึ่งมีพันธกิจสำคัญ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกช่วงศตวรรษนี้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนับตั้งแต่ข้อตกลงเกิดขึ้น องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า เงินลงทุนด้านพลังงานสะอาดต่อปีค่อย ๆ เพิ่มขึ้นปีละ 2% จนมาถึงปี 2021 ที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้ถึง 12% หรือราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2022 เนื่องด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานสะอาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากข้อมูลของ IEA ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การลงทุนปี 2021 จะเร่งตัวขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2021 และคาดการณ์ว่าปี 2022 จะมีการลงทุนในด้านพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นแตะ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การบรรลุเป้าหมายตาม Paris Agreement เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ อาจต้องใช้เงินลงทุนต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน หรือ การลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 14% ทีเดียว ฉะนั้น หากภาครัฐฯ แต่ละประเทศต้องการดำเนินพันธกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นไปได้ว่างบประมาณสนับสนุนต้องมากขึ้นกว่าในปัจจุบันเช่นกัน
ในแง่ของผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดก็ทำได้ดีสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนที่เติบโตข้างต้น โดยผลการดำเนินงานที่อ้างอิงจากดัชนี S&P Global Clean Energy Index ตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นบวกสวนตลาดหุ้นได้ +2.47% ต่างจาก S&P 500 ที่ติดลบ -19.1% เลยทีเดียว นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดตอนนี้ ปัจจุบันระดับ Valuation ยังน่าสนใจและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยอ้างอิงจากดัชนี S&P Global Clean Energy Index ที่มีระดับราคาต่อยอดขาย (P/S Ratio) ที่ 2.05 เท่า ยังถูกกว่าหุ้นทั้งหมดใน S&P 500 ราว 8% และนักวิเคราะห์ประมาณการณ์กำไรเติบโตตั้งแต่ปี 2021 - 2023 เฉลี่ยปีละ 15% ซึ่งมากกว่า S&P 500 ที่เติบโตได้เพียงปีละ 12% เท่านั้น
จากแนวโน้มการออกมาตรการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของชาติมหาอำนาจในระยะสั้น สู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อตกลง Paris Agreement ในศตวรรษนี้ การลงทุนในกลุ่มหุ้นพลังงานสะอาดที่มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่อง ประกอบกับ Valuation ที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับการเติบโตโดดเด่น นับว่าเป็นอีกธีมการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจมากตอนนี้ ซึ่งสามารถนำมาส่วนหนึ่งของการจัดพอร์ตที่เป็นเป้าหมายลงทุนระยะยาว เช่น ลงทุนเพื่อการเกษียณ ก็นับว่าเหมาะสมเช่นกัน
แผนภาพที่ 1: เงินลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดต่อปี ตั้งแต่ปี 2015 - 2030
ที่มา: IEA
Note: APS = Announced Pledges Scenario คือ งบประมาณลงทุนด้านพลังงานสะอาดที่ทุกประเทศดำเนินการในปัจจุบัน; NZE = Net Zero Emissions by 2050 Scenario คือ งบประมาณลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้