"โรคหัวใจ" รักษาได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงลิบ
ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจาก "โรคหัวใจ" และ "หลอดเลือด" ถึง 17.9 ล้านคนทั่วโลก และในประเทศไทยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉลี่ยถึงชั่วโมงละ 2 คน
วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาเป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) ที่จัดขึ้นทุกปี ซึ่งโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยเช่นกัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 17.9 ล้านคนทั่วโลก และในประเทศไทยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉลี่ยถึงชั่วโมงละ 2 คน
โรคหัวใจ ครอบคลุมโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีของกดทับ นอนราบไม่ได้ ปวดหน้าอกข้างซ้ายร้าวไปถึงแขนซ้าย หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดปกติ ขา ข้อ และเท้าบวม
การรักษาโรคหัวใจ จะได้ผลดีขึ้น หากตรวจพบเร็วและได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ซึ่งการรักษาโรคหัวใจแต่ละชนิดมีวิธีการรักษาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการรักษาโรคหัวใจแต่ละชนิด ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านและแตกต่างกันตามแต่โรงพยาบาล เช่น ค่าขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Transradial or Transfemoral PCI) อยู่ที่ประมาณ 100,000 - 200,000 บาท ค่าผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ประมาณ 590,000 - 800,000 บาท การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจประมาณ 750,000 - 950,000 บาท ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการักษาอย่างทันท่วงที เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง อาการโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงโรคหลอดเลือดส่วนปลายที่อาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อส่วนปลาย เช่น เท้า
โรคหัวใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุการเกิดโรคหัวใจบางชนิดไม่สามารถระบุได้ชัดเจนและยากที่จะควบคุม ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจมีตั้งแต่ อายุ-ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น เพศ-เพศชายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่า แต่เพศหญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังหมดประจำเดือน ปัจจัยทางพันธุกรรม การสูบบุหรี่ การกินอาหารที่มีไขมัน เกลือ น้ำตาล และคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การขาดการออกกำลังกาย ความเครียด รวมถึงปัญหาสุขภาพฟันที่พบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น
โรคหัวใจเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและให้ความสำคัญ การดูแลสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ แต่ปัจจัยอื่น ๆ ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อายุ และปัจจัยทางพันธุกรรม ก็ยังทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเช่นกัน ซึ่งหากเป็นโรคหัวใจแล้วต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจถือว่าสูงมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
การทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงจึงมีความจำเป็นมาก เพื่อให้อุ่นใจว่าเมื่อถึงยามเจ็บป่วยเราจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีอุปสรรคในด้านการชำระค่ารักษาพยาบาล และช่วยให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยบริการทางการแพทย์และเครื่องมือที่ทันสมัยแม้ค่ารักษาพยาบาลจะแพงลิ่วก็ตาม และที่สำคัญต้องเลือกประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรงที่คุ้มครองครอบคลุมเพียงพอทั้งประเภทของโรคร้ายและระยะเวลาคุ้มครอง
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้