ควบรวม “ทรู-ดีแทค” ส่งผลเสียอะไร ทำไมไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม

ควบรวม “ทรู-ดีแทค” ส่งผลเสียอะไร ทำไมไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม

เอาจริงประเด็นควบรวม "ทรู-ดีแทค" ไม่ควรยืดเยื้อถึงวันนี้ด้วยซ้ำ กสทช. ควรสรุปให้ชัด ยึดผลประโยชน์ประชาชนและหน้าที่ตนให้แน่น เพราะความสับสน ยืดเยื้อ สร้างต้นทุนทั้งต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร

วันนี้ กสทช. จะพิจารณาให้ควบรวม “ทรู-ดีแทค” หรือไม่ 

กสทช. ไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม ด้วยเหตุผลหลายประการ

ธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เป็นธุรกิจที่มีผู้ให้บริการน้อยราย เสี่ยงถูกผูกขาดในระดับสูงอยู่แล้ว ผู้ประกอบการฮั้วกันง่าย มีแรงจูงใจให้แข่งกันต่ำ

การอนุญาตให้ควบรวม จะส่งผลเสียมากขึ้น

1. ต่อผู้บริโภค สินค้าราคาแพงขึ้น ทางเลือกน้อยลง

2. ต่อผู้ผลิต ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจพัฒนาตัวเอง ขาดการคิดค้นนวัตกรรม ขาดการปรับปรุงคุณภาพเมื่อเทียบกับต้องแข่งขันกันสูง

3. ต่อสังคม เมื่อผู้ผลิตไม่พัฒนาตัวเอง ไม่คิดค้นนวัตกรรม ทรัพยากรย่อมไม่ถูกใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ

4. ต่อแรงงานในอุตสาหกรรม การแข่งขันที่ลดลง ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมเสี่ยงถูกจ้างน้อยลง ได้ค่าตอบแทนลดลง ได้รับการพัฒนาลดลง

5. ต่อการผูกขาดธุรกิจอื่นในอนาคต โดยเฉพาะในยุค Big Data ที่ทุกฝ่ายสามารถหาประโยชน์จากข้อมูล ธุรกิจโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ยึดกุม/ผูกขาด/เข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคมากอยู่แล้ว การที่ผู้ผลิตสามารถผูกขาดมากขึ้น ยิ่งทำให้ธุรกิจรายใหม่เข้ามาแข่งได้ยาก ผู้ผลิตสามารถใช้อำนาจผูกขาดที่มี นำไปสู่การผูกขาดบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานเดิม หรือผูกขาดต้นน้ำถึงปลายน้ำเพิ่มขึ้น ขยายการผูกขาดไปสู่ธุรกิจอื่นมากขึ้น

6. ต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในยุคดิจิทัล ที่ทุกคน/ทุกธุรกิจพึ่งพาอินเตอร์เน็ตและสัญญาณโทรคมนาคม การแข่งขันที่ลดลง ค่าบริการที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตประชาชนและภาคธุรกิจสูงขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลยากขึ้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางและเล็กของไทยแข่งขันกับคนอื่นยากขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

7. ประการสำคัญสุด ผลเสียเหล่านี้ เมื่อเกิดแล้วหรืออนุญาตให้ควบรวมไปแล้ว การจะกลับมาแก้ไข ทำได้ยาก การจะป้องกันไม่ให้เกิด ก็ยาก การไม่อนุญาตให้ควบรวมตั้งแต่ต้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

8. ทั้งนี้แม้หากอนุญาตให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไข เงื่อนไขและมาตรการที่ กสทช. เตรียมไว้กรณีอนุญาตให้ควบรวม ก็เป็นเงื่อนไขที่หลวม ไม่มีมีบทลงโทษที่ชัดเจนและแรงพอ จนจูงใจให้ผู้เล่นปฏิบัติตาม การกำหนดบทลงโทษมีความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าเงื่อนไขและมาตรการต่างๆจะถูกปฏิบัติโดยเคร่งครัด บทลงโทษควรมีทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้กำกับ เพื่อให้ผู้ให้บริการเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติ ขณะเดียวกันผู้กำกับก็เข้มงวดในการบังคับ ติดตาม ตรวจสอบ

อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. เองระบุว่า เป็นไปได้ที่ผู้ขอรวมธุรกิจจะมีแรงจูงใจขึ้นค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ ผู้เล่นรายใหม่จะเจออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดยากขึ้น GDP จะลดลงราว 0.05-1.99% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.05-2.07%

ขณะที่รายงานจาก 101 PUB ชี้ว่า หากควบรวมแล้ว ค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเสี่ยงแพงขึ้น อาจเพิ่มมากกว่า 200% (หากแข่งปกติ ค่าบริการแพงขึ้น 13-41% ถ้า 2 รายหลักพอใจในส่วนแบ่งตลาด จนไม่แข่งกัน ค่าบริการแพงขึ้น 49-245% หรือแม้แต่แข่งกันรุนแรง ค่าบริการก็ยังสูงขึ้น 2-15%)

เอาจริง ประเด็นนี้ไม่ควรยืดเยื้อถึงวันนี้ด้วยซ้ำ กสทช.ควรสรุปให้ชัด ยึดผลประโยชน์ประชาชนและหน้าที่ตนให้แน่น เพราะความสับสน ยืดเยื้อ สร้างต้นทุนทั้งต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร การดำเนินธุรกิจของเอกชน ส่งผลต่อประชาชนให้ต้องเสียทรัพยากรคอยจับตา ติดตาม หรือกระทั่งกระทบราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ ในฐานะผู้กำกับกติกา ในกรณีนี้ ขอเพียง”รู้” 3 เรื่อง

หนึ่ง รู้หน้าที่

สอง รู้เท่าทัน

สาม รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ

… รู้หน้าที่ คือ รู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องดูแลผลประโยชน์ประชาชน ต้องลดการผูกขาดให้ได้มากสุด

… รู้เท่าทัน คือ รู้เท่าทันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากปล่อยให้มีการควบรวม

… รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ คือ รู้ว่าเมื่อตนมีหน้าที่เช่นนี้ การควบรวมจะส่งผลเสียแบบนี้ แม้อนุญาตแบบมีเงื่อนไขก็เสี่ยงปฏิบัติให้เกิดผลยาก จนส่งผลกระทบแง่ลบอยู่ดี และผลกระทบเหล่านี้เมื่อเกิดแล้ว กลับมาแก้ไขไม่ได้ 

การไม่อนุญาตจึงเป็นคำตอบ