“เสี่ยยักษ์” บ่นไม่ได้กำไร “ไอพีโอ” อย่างเดียว แต่ก็ขาดทุนก็เป็น !
เป็นรายใหญ่ขาประจำที่ลงทุนใน “หุ้นไอพีโอ” เกือบทุกตัว ! แต่ในยุคที่ IPO มีทั้ง "กำไร" และ "ขาดทุน" “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” นักลงทุนรายใหญ่รุ่นลายคราม ก็ไม่รอดต้องยอมมอบตัว “ตัดขายขาดทุน” นับตั้งแต่วินาทีแรกที่หุ้นเปิดซื้อขายวันแรก !
เป็นนักลงทุนรายใหญ่...แต่ไม่ได้การันตีเสมอไปว่าจะไม่ “ขาดทุนหุ้น” โดยเฉพาะในยุคการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อีกต่อไป เนื่องจากในตลาดหุ้นมีตัวแปรที่อยู่เหนือการควบคุมมากมาย และหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่รุ่นลายครามของตลาดหุ้นไทย อย่าง “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” เปิดเผยว่า ตนเองขาดทุนหุ้นไอพีโอ 2 ตัว หุ้น พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) และ หุ้น เบทาโกร (BTG) โดยหุ้นไอพีโอทั้งสองตัวเปิดต่ำกว่าราคาจองซื้อ แต่ตนเองยังโชคดีได้หุ้นKLINIQ เข้ามาชดเชย
โดยตนเองมองว่า ปัจจุบันที่ปรึกษาทางเงิน (FA) มีการกำหนดราคาไอพีโอสูงเกินไป ทำให้ช่องว่างอัปไซด์ของราคาหุ้นให้กับนักลงทุนเหลือน้อยมาก เนื่องจากบริษัทต้องการเงินระดมทุนจำนวนสูง และ FA ตามใจลูกค้ามากเกินไป ส่งผลให้หุ้นเข้าซื้อขายวันแรกเปิดมาต่ำกว่าราคาจองซื้อ ทำให้ต่อไปก่อนการลงทุนในหุ้นไอพีโอตนเองคงต้องศึกษาข้อมูลธุรกิจหุ้นตัวนั้นๆ ให้มากขึ้นไปอีก...
**กำไร KLINIQ คอบคลุมที่ขาดทุนไป !
หุ้น เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม หรือ KLINIQ เป็นหนึ่งในหุ้นไอพีโอสร้างสีสันในตลาดหุ้นไทย และสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขาย จากราคาขายไอพีโอที่ 24.50 บาท แจกกำไรนักลงทุนในวันแรก (7 พ.ย.) ไปแล้วกว่า 69.39% มาปิดการซื้อขายที่ 41.50 บาท เพิ่มขึ้นถึง 17 บาท !
และหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่ปรากฏรายชื่อถือหุ้น KLINIQ หลังตลาดหุ้นปิดซื้อขายวันแรกอย่าง “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” ถือหุ้นจำนวน 2,500,000 หุ้น คิดเป็น 1.14% นี่อาจเป็นอีก 1 สาเหตุที่ทำให้หุ้น KLINIQ ดีดขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 45.75 บาท ในวันที่ 9 พ.ย.2565 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว 86.7% จากราคาขาย IPO
“เสี่ยยักษ์” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตนเองทยอยขายหุ้น KLINIQ ออกทั้งหมดแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่ “เสี่ยยักษ์” ถือ 2.5 ล้านหุ้น หากขายในวันแรกที่ราคาสูงสุด 41.50 บาท คิดเป็นมูลค่าหลักพันล้านบาท ! แต่เสี่ยยักษ์ใช้กลยุทธ์ทยอยขายออก ดังนั้น มูลค่าที่แท้จริงอาจต้องสูงกว่านั้น !
ที่ขายหุ้น KLINIQ ไม่ใช่หุ้นเขาไม่ดี แต่ตนเองไม่รู้ในแง่ของธุรกิจ เพราะไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดของธุรกิจ เพียงแต่ได้รับการจัดสรรหุ้นมากจากบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เปิดพอร์ตลงทุนด้วย ดังนั้น ตนเองเลยทยอยขายทำกำไรออกมาก่อน แต่หากอนาคตธุรกิจมีทิศทางเติบโตและน่าสนใจอาจจะเข้าลงทุนใหม่ได้ และส่วนตัวยังไม่เคยเจอและพูดคุยกับ “หุ้นใหญ่ KLINIQ”
สำหรับ KLINIQ เป็นแหล่งดึงดูด “นักลงทุนไซส์บิ๊ก” หลายรายตั้งแต่ก่อนเข้าระดมทุนแล้ว หากอ้างอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น KLINIQ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบรายชื่อเหล่านักลงทุนรายใหญ่ อาทิ “ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” จำนวน 5,818,182 หุ้น คิดเป็น 2.65% “คเชนทร์ เบญจกุล” จำนวน 2,424,242 หุ้น คิดเป็น 1.10% “พีรนาถ โชควัฒนา” จำนวน 2,424,242 หุ้น คิดเป็น 1.10%
ด้วย “จุดเด่น” ของบริษัทที่มีทีมแพทย์ และเครื่องมือแพทย์ที่เราใช้ได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงแผนการขยายสาขาต่อเนื่องปีละ 6-10 สาขา นอกจากนี้ ลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เพราะเป็นกลุ่มระดับกลางถึงบน ทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น ทำให้นักลงทุน และนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) เข้ามาถือหุ้นของบริษัท และเชื่อว่านักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว
แต่หลังจากวันที่ 9 พ.ย.2565 เป็นต้นมา ราคาหุ้น KLINIQ ก็ดิ่งลง 4 วันทำการติดต่อกัน โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ปิดตลาดที่ระดับ 33.25 บาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 5.75 บาท คิดเป็นการลดลงราว 14.7% ซึ่งราคาหุ้นที่ระดับ 33.25 บาท ยังคิดเป็นการลดลงราว 27% จากจุดสูงสุดที่ได้ทำเอาไว้เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565
การร่วงลงติดต่อกันของราคาหุ้น KLINIQ เกิดขึ้นท่ามกลาง ความกังวลที่มีต่อการขายหุ้นออกมาของเหล่าผู้บริหาร แม้ว่าจะเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ไม่นาน ขณะเดียวกันยังพบว่า มีกรรมการ (บอร์ด) ระดับสูงถึง 2 คน ตัดสินใจลาออกในวันเดียวกัน