3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (1)
ปี 2566 เอกชนที่มีกรอบขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องมองหาความ “คุ้มค่า” มากกว่า “มูลค่า” จากการดำเนินงาน การตั้งเป้าหมายรายรับจากเน้นตัวเลขมูลค่างานที่สูง ท่ามกลางการชะลอตัวเศรษฐกิจ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับเป้าหมายหรือทำให้ตัวเลขสุทธิบรรทัดสุดท้ายเป็นบวก
ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้าทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งแยกสายอุปทานโลก ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจากปัจจัยภายในที่เป็นความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารแรงงานและความหลากหลาย รวมทั้งช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน เป็นต้น
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจ และได้กลายมาเป็นคำที่ใช้กันสามัญในปัจจุบัน
บทความในซีรีส์นี้ แบ่งเป็น 3 ตอน เพื่อนำเสนอแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ปี 2566 ใน 3 ธีม ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา
LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย
ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ที่เผยแพร่โดยธนาคารโลก ระบุว่าแม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยประมาณการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2566 ขณะที่การขยายตัวของบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 4 เนื่องจากแรงกระตุ้นจากการกลับมาเปิดประเทศเริ่มแผ่วลง และการชะลอตัวในการเติบโตของการส่งออกสินค้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย
สภาพัฒน์ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. โดยรวมในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เทียบกับร้อยละ 7.5 ในปี 2565 โดยปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนการส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับร้อยละ 3.9 ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก
ในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องมองหาความ “คุ้มค่า” มากกว่า “มูลค่า” จากการดำเนินงาน ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายรายรับจากการเน้นตัวเลขมูลค่างานที่สูง ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การตั้งเป้าหมายหรือทำให้มีตัวเลขสุทธิในบรรทัดสุดท้ายเป็นบวก ด้วยการดูแลควบคุมรายจ่ายหรือต้นทุนของกิจการ ให้คุ้มกับมูลค่างานที่ได้รับ
หนึ่งในแนวทางการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ ได้แก่ การบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การรีดไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า อาทิ การผลิตเกิน การขนส่ง การรอคอย สินค้าคงคลัง การชำรุด การมีกระบวนการมากเกินไป และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้กิจการพัฒนาปรับปรุงไปสู่การเป็น Lean Enterprise สำหรับรองรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีหน้า
อีกแนวทางหนึ่งเป็นการลงทุนสร้างสมรรถนะให้แก่ธุรกิจในระยะยาว ด้วยการปรับให้ธุรกิจสามารถดำเนินอยู่ได้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติมจากช่องทางแบบเดิม การฝึกฝนแรงงานให้สามารถปรับตัวเข้ากับทุกอุปสงค์ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถทำงานผสานเวลาทั้งในสำนักงานและจากระยะไกลได้ การปรับขนาดสถานประกอบการหรือเปลี่ยนแนวการดำเนินงานที่สามารถทำได้ในหลายสถานที่ตั้ง ทั้งในระยะไกล หรือโดยให้หุ้นส่วนดำเนินการแทน การลงทุนในเทคโนโลยีที่ถอดประกอบได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนของกิจการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปราดเปรียว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หรือรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ รวมถึงการเติบโตที่เหมาะกับขอบเขตงานหรือสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งในแบบค่อยเป็นค่อยไปและในแบบพลิกผันได้อย่างทันท่วงที
จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อกลยุทธ์การปรับตัวหลังโควิด องค์กรกว่าสองในสาม ระบุว่า การมีแผนการปรับตัว (Resilience) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ หนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว โดยในบรรดาองค์กรที่มีแผนการปรับตัว ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด อยู่ที่ร้อยละ 90.7 รองลงมาคือ ด้านลูกค้า ร้อยละ 58.1 และด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 53.5 ตามลำดับ
ในบทความตอนหน้า จะพูดถึงแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ในธีม CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ โดยสามารถติดตามได้ทางคอลัมน์ Sustainpreneur แห่งนี้