เศรษฐกิจโลก ปี 2023 “ใครว่าปีนี้แย่ ปีหน้าแย่กว่า”
สิ้นปีแล้ว อยากชวนทุกท่านมาสำรวจเศรษฐกิจโลกในปีหน้า หรือ ปี 2023 กัน ว่าเศรษฐกิจโลกแบบไหนที่กำลังรอเราอยู่
สิ้นปีแล้ว อยากชวนทุกท่านมาสำรวจเศรษฐกิจโลกในปีหน้า หรือ ปี 2023 กัน ว่าเศรษฐกิจโลกแบบไหนที่กำลังรอเราอยู่
Citi Global Wealth Investment พยากรณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มโตต่ำมาก โดย GDP โลกจะขยายตัวเพียง 1.3% นับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 40 ปีหากไม่นับปี 2009 ที่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ จนลามเป็นวิกฤตการเงินโลก และปี 2020 ที่เศรษฐกิจโลกหยุดชะงักจากการระบาดของโควิด
ใกล้เคียงกับ Institute of International Finance ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตเพียง 1.2% ระดับเดียวกับปี 2009 ตอนเกิดวิกฤตการเงินโลก
หากพูดให้เห็นภาพ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่โควิดระบาดหนัก โลกเปิดๆ ปิดๆ เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ ที่ 5.7% ในปี 2021 และ 3.3% ในปี 2022
เรียกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจโลกลุ่มๆ ดอนๆ จากโควิด ใครว่าแย่แล้ว ที่ผ่านมายังดีกว่าปีหน้าที่เรากำลังจะเจอ ..ปีหน้าจึงจัดว่าเป็นปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจโลก และทุกประเทศทีเดียว
สัญญาณความถดถอยของเศรษฐกิจโลกชัดขึ้น และเริ่มส่งผลต่อประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค. 2565 ติดลบ 4.4% นับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับแต่ ก.พ. 2564 โดยเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2565 ตัวเลขการส่งออกไทยขยายตัวที่ 7.8%
ไม่ใช่แค่ไทย มูลค่าการส่งออกของจีนในเดือน พ.ย. 2565 ตามรายงานของสำนักงานศุลกากรจีน ก็พบว่าลดลง 8.7% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ มี.ค. 2563 เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า มีอย่างน้อย 5 ประการ
1.การขึ้นดอกเบี้ย
โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี FED มุ่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หวังชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งก่อผลทางอ้อมให้ทุกประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ทั้งเพื่อรักษาค่าเงินและการลงทุนจากต่างประเทศ การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจแต่ละประเทศหดตัว เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้พร้อมๆ กันในหลายประเทศ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำถามสำคัญคือ FED ยังจะดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ หรือถึงเมื่อไหร่ จากการคาดการณ์ ในมุมของ FED เห็นว่าระดับเงินเฟ้อที่เหมาะสม หรือส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 2% ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 2022 ยังอยู่ที่ 7.1% นั่นหมายความว่าปีหน้า FED ยังต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ย่อมกดดันให้ทุกประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม นำมาซึ่งการหดตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้
2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ความยืดเยื้อของสงครามกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผ่านทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อาหาร และแร่โลหะต่างๆ ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกหลักในตลาดโลก เงินเฟ้อที่สูงขึ้นกดดันให้รายได้แท้จริงของคนทั่วโลกลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวลำบาก รวมถึงเป็นปัจจัยผลักดันให้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และธนาคารกลางทั่วโลก ยังต้องดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ World Economic Forum ร่วมกับ Ipsos ต่อมุมมองภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อคาดการณ์ทั่วโลก (เผยแพร่เมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา) โดยใช้ข้อมูล 36 ประเทศ สำรวจระหว่าง 21 ต.ค. - 4 พ.ย. 2022 ผ่านการสัมภาษณ์ประชากรมากถึง 24,471 คน รวมทั้งเก็บข้อมูลจากประเทศไทย
ผลสำรวจพบว่า 69% ของประชากรเชื่อว่า เงินเฟ้อในปีหน้ายังจะสูงขึ้นต่อไป และ 79% ของประชากรเชื่อว่า ค่าจ้างแท้จริงของตัวเองในปีหน้าจะลดลง มีเพียง 12% ที่เชื่อว่าค่าจ้างจะปรับเพิ่มขึ้น มากกว่าหรือเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ การลดลงของค่าจ้างแท้จริงทั่วโลก ย่อมทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ
3.เศรษฐกิจจีน
การควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมาหยุดชะงัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างไม่สามารถทำได้ตามปกติ การถดถอยของเศรษฐกิจจีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นผู้บริโภครายใหญ่ ส่งออกนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เศรษฐกิจที่ถดถอยตลอดจนมาตรการจำกัดการเดินทางนอกประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ
คำถามสำคัญคือปีหน้ารัฐบาลจีนจะดำเนินมาตรการรับมือโควิดอย่างไร จะกลับไปใช้มาตรการควบคุมแบบเข้มงวดอย่าง Zero-Covid อีกหรือไม่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ปัจจุบันที่จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนยังเพิ่มขึ้นตลอด ทำให้เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในความไม่แน่นอนต่อไป นอกจากนี้จากปัจจัยดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่เป็นปัญหาอยู่แต่เดิมด้วย
โดยเฉพาะล่าสุดที่รัฐออกมาตรการจำกัดการกู้ยืมของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่ต้องติดตาม ทั้งนี้ Citi Global Wealth Investment ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนปีหน้าโตที่ 4.5% จากปีนี้ที่โต 3.5% ใกล้เคียงกับ J.P.Morgan ที่คาดว่าโต 4.3% และ Goldman Sachs ที่คาดว่าโต 4.5%
4.การถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป
สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่นำมาสู่วิกฤตราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุด จากการประเมินของ European Commission เศรษฐกิจของประเทศสหภาพยุโรปส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะถดถอย ณ ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และคาดว่าปีหน้าระดับเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปจะยังสูงต่อไป โดยคาดว่าอยู่ที่ 6-7% โดยกว่าจะลดไปอยู่ที่ระดับ 2-3% คือปี 2024 ทีเดียว
ทั้งนี้ European Commission ประเมินว่าเศรษฐกิจยุโรปปีหน้าจะขยายตัวเพียง 0.3% ส่วน Citi Global Wealth Investment ประเมินว่า จะติดลบ 0.5% ใกล้เคียงกับ Morgan Stanley ที่คาดว่าติดลบ 0.2%
5.การหดตัวของการค้าโลก
จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งการเมือง สงคราม เศรษฐกิจแต่ละประเทศ ประกอบกับแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานใหม่ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดมานับแต่มีโควิด ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า เปลี่ยนจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบเน้นประสิทธิภาพ/ต้นทุนต่ำ เป็นการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบเน้นความยืดหยุ่นและลดความผันผวน ทั้งหมดนี้กดดันให้การค้าระหว่างประเทศลดลง การค้าที่ลดลงย่อมกดดันให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจถดถอยลงไปด้วย
องค์การการค้าโลก หรือ WTO ประเมินว่าในปีหน้า การค้าโลกจะเติบโตเพียง 1% เท่านั้น ลดจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.5%
ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจโลกปีหน้า ให้อยู่ในภาวะไม่แน่นอน โตต่ำ มีปัจจัยลบหลายอย่างรุมเร้า
สถานการณ์นี้อันตรายต่อผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากจนเป็นพิเศษ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ความยากจนทั่วโลกที่เลวร้ายลงจากพิษโควิดฟื้นตัวช้า ข้อมูลจาก UNDP พบว่า เพียงช่วง 3 เดือนของปีนี้ (มี.ค.-มิ.ย. 2022) มีประชากรในประเทศกำลังพัฒนาตกสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้น 71 ล้านคน สาเหตุหลักจากปัญหาราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นเร็ว โดยพบว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเพิ่มปัญหาความยากจนให้รุนแรงมากกว่าโควิดเสียอีก
สำหรับประเทศไทย ที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมาก เพราะการส่งออกเป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจ จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงในปีหน้า ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือให้ดี