เฟ้นหา ‘สมดุล’ พอร์ต ‘หุ้นไทย-ต่างประเทศ’ สไตล์ ‘วีระพงษ์ ธัม’
โลดแล่นในตลาดหุ้นไทยมานาน ! “หลิน-วีระพงษ์ ธัม” อดีตนายกสมาคม “วีไอ” แต่ “หุ้นต่างประเทศ” แค่ “เริ่มต้น” !! และเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเมื่อหุ้นต่างประเทศ "ผันผวนหนัก" ทำพอร์ตติดลบ แต่ไม่ถอดใจเร่งปรับทัพใหม่หา “จุดสมดุล” ระหว่างหุ้นไทย-ต่างประเทศ พลิกเป็น "กำไร"
ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน “โลกลงทุน” ไม่ได้หยุดแค่ในประเทศไทยแล้ว ! เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการลงทุนให้อยู่แค่ปลายนิ้วมือ “คลิก” เท่านั้น... สอดคล้องกับการลงทุนใน “หุ้นต่างประเทศ” ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเป็นการ “กระจายความเสี่ยง” และ “เพิ่มโอกาส” สร้าง “ผลตอบแทน” (รีเทิร์น) ที่ดีขึ้น นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นไทย
ในปัจจุบัน การจะลงทุนใน “หุ้นต่างประเทศ” ไม่จำเป็นต้องไปเปิดพอร์ตที่ต่างประเทศเอง ให้ยุ่งยากวุ่นวาย มีทางเลือกที่สะดวกสบายมากขึ้นเยอะ…ทำให้นักลงทุนหลายคน กระจายการลงทุนไปยัง หุ้นต่างประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่างหุ้นดังที่หลายๆ คนน่าจะรู้จัก เช่น Apple, Amazon, Alibaba, Facebook, Netflix, Microsoft, Tesla ฯลฯ
“ตลาดหุ้นไทยปิด...ตลาดหุ้นสหรัฐเปิด !” นี่คือความ “ยากลำบาก” ของการลงทุน เมื่อมีการกระจายพอร์ตลงทุนทั้งหุ้นไทย-ต่างประเทศ... “หลิน-วีระพงษ์ ธัม” อดีตนายกสมาคมนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ “วีไอ” เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า พอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศปี 2565 “ติดลบ” ด้วยเพราะว่าหุ้นต่างประเทศปรับตัวลงหนักมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ หุ้นในพอร์ตหลายตัวปรับตัวลงมาหลายเปอร์เซ็นต์ แต่หุ้นไทยพอร์ตลงทุนเป็น "กำไร"
ทำให้ปี 2566 ต้องปรับทัพลงทุนกันใหม่ โดยมาทบทวนดูการลงทุนต้องหา “จุดสมดุลใหม่” ระหว่างหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ “หลิน” บอกว่า การลงทุนในหุ้นต่างประเทศต้องใช้ “พลังงานเยอะมาก!!” ดังนั้น ต้องโฟกัสใหม่ เช่น ต้องหาสมดุลพอร์ตลงทุนในหุ้นต่างประเทศสัดส่วนเท่าไหร่ , เงินลงทุน , หุ้นที่ซื้อต้องมีในพอร์ตกี่ตัว และที่สำคัญราคาหุ้นถูกหรือแพง !
ด้วยความที่ลงทุนแรกๆ ไม่มีการวางแผนการลงในพอร์ตโฟลิโอ ทำให้ในพอร์ตมีหุ้นหลากหลายตัว และด้วยกลยุทธ์ลงทุนเน้นลงทุนใน “หุ้นเติบโตเร็ว” ฉะนั้น หุ้นจะมีราคาค่อนข้างผันผวน จึงทำให้ต้องนั่งเฝ้าและติดตามความเคลื่อนไหวค่อนข้างเยอะ ส่งผลให้ต้องใช้พลังในการดูค่อนข้างมากตามไปด้วย
“อย่างไรก็ตามหากเรามีการลงทุนในหลายตลาดเราก็มีโอกาสมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังพยายามหาจุดบาลานซ์พอร์ตลงทุนที่เหมาะสมระหว่างหุ้นไทยและต่างประเทศ แม้ว่าพอร์ตต่างประเทศติดลบแต่ไม่ได้ถอดใจและถอนลงทุน แต่จะเติมหุ้นในพอร์ตด้วยซ้ำ โดยสัดส่วนลงทุนปัจจุบันอยู่ที่ 10% จากที่เคยลงทุนมากสุดเกิน 20% ของพอร์ตรวม”
สุดท้าย “หลิน-วีระพงษ์” บอกไว้ว่า ตลาดทุนเป็นตลาดแห่งโอกาสและเป็นทางรอดของคนชนนั้นกลางที่จะทำให้มีอิสรภาพทางการเงินได้ รวมทั้งยังเป็นหนทางที่จะทำให้คนทุกคนเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองได้