จับตา SINGER แอบซ่อนความ ‘อลหม่าน’ อะไรไว้ภายในองค์กร !

จับตา SINGER แอบซ่อนความ ‘อลหม่าน’ อะไรไว้ภายในองค์กร !

เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรอายุ 100 กว่าปี ! อย่าง “ซิงเกอร์ประเทศไทย” หรือไม่ ? ภายหลังกรรมการผู้จัดการ “กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์” ลูกหม้อ “เครือเจมาร์ท” ยื่นลาออกกะทันหัน ! ฟากราคาหุ้น SINGER ไหลลงต่อเนื่อง จากต้นปี 66 ดิ่งกว่า 50.17% แล้ว

กำลังเกิดอะไรขึ้น !! กับองค์กรเก่าแก่อายุ 100 กว่าปีอย่าง บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER หลังเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 ทาง SINGER แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติรับทราบการลาออกของ “กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์” จากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการ และกรรมการการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2566 เป็นต้นไป และมีมติอนุมัติแต่งตั้ง “นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์” แทน มีผล 9 พ.ค. นี้ !

สำหรับ “กิตติพงศ์” ถือเป็นลูกหม้อของ “เครือเจมาร์ท” คงไม่ผิดเพราะว่าได้รับความไว้วางใจโยกให้มาทำงานใน SINGER ตั้งแต่ปี 2559-2560 จากตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสายงานการขายและการตลาด” ก่อนที่ในปี 2560 จะได้รับความไว้วางใจอีกครั้งให้ขยับขึ้นมารับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” ภายหลังกลุ่มเจมาร์ทได้เข้ามาถือหุ้น SINGER ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจและโครงสร้างองค์กรใหม่  

ทำให้การลาออกแบบกะทันหันของ “กิตติพงศ์” ในครั้งนี้ ย่อมถูก “จับตามอง” จากนักลงทุนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใน SINGER องค์กรที่มีอายุ 100 กว่าปีแห่งนี้ !!

พร้อมกับความสงสัยที่ว่า การลาออกของ “เอ็มดี” กะทันหันเช่นนี้...มันจะเหมือนเป็นการเปิดแผลอะไรซ่อนอยู่ภายในองค์กรไหม ? หรือ แค่เป็นการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงกันปกติ ! 

ขณะที่ในมุมของผลดำเนินงานของ SINGER ก็ต้องจับตาดูเช่นกัน ภายหลังเหล่า “นักวิเคราะห์” ต่างพาเหรดปรับลดประมาณการของ SINGER ปี 66 โดยคาดว่าจะเติบโตแบบชะลอตัว เนื่องจากคาดว่า “ยอดขายสินค้า” จะหดตัวรุนแรง สาเหตุหลักๆ หนีไม่พ้นตัวเลขคุณภาพสินเชื่อที่มีทิศทาง “แย่ลง” หลังบริษัทมีการประกาศจะมุ่งเน้นไปที่การ “ยึดคืน” และ “ระบายสินค้า” เป็นหลัก

นอกจากนี้ ตัวเลขภายในงบการเงินไตรมาส 4 ปี 2565 ยังดูไม่ดีในแง่ของ NPL ก้อนใหญ่จากสินเชื่อ H/P เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสัดส่วน NPL อยู่ที่ประมาณ 11% เพิ่มขึ้นจาก 7% ในสองไตรมาสก่อน และสัดส่วน NPL ของสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ที่ 1% ดังนั้น แนวโน้มในปีนี้ยังถือว่าท้าทายอย่างมาก โดยบริษัทมีการวางเป้าควบคุม NPL ไม่เกิน 5% โดยการตั้งสำรองในปีนี้จะยังสูงขึ้นคงเพิ่มค่าใช้จ่ายหนี้เสีย/สินเชื่อ (Credit cost) ไว้ที่ 3% ดังนั้น เมื่อตั้งเป้าควบคุมตัวเลข NPL ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายอดขายจะหดตัวอย่างแน่นอน... 

หากมาดูราคา หุ้น SINGER ในรอบ 4 เดือน ! ร่วงมากว่า 50.17% ซึ่งราคาปิดตลาดเมื่อ 28 เม.ย.66 อยู่ที่ 14.20 บาท จากต้นปี 66 อยู่ที่ 28.50 บาท ขณะที่ "มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด" (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 11,771.69 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่มีมาร์เก็ตแคป 23,640.16 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 11,868.47 ล้านบาท 

โดยก่อนหน้านี้ข้อมูลในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์เคยปรากฏรายชื่อของ “เซียนฮง-สถาพร งามเรืองพงศ์” ติดอันดับเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ SINGER ซึ่ง “เซียนฮง” ถือหุ้น SINGER จำนวน 18,141,800 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.21% 

แต่อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด ไม่พบรายชื่อของ “เซียนฮง-สถาพร” ติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER แล้ว 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ! บริษัทในเครือของ SINGER อย่าง บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ก็มีความ "อลหม่าน" เกิดขึ้น ภายหลังจาก “บุษบา กุลศิริธรรม” มีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจส่วนตัว ? โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.66 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ SGC เป็นบริษัทย่อยของ SINGER ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 ด้วยราคา IPO ที่ 3.90 บาท แต่ราคาปิดหลุดต่ำกว่าไอพีโอ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.66 โดยปิดราคาที่ 3.60 บาท ล่าสุดราคาหุ้น SGC อยู่ที่ 2.52 บาท ลดลง 35.38% จากราคาไอพีโอ 

ทบทวนความจำกัดหน่อย ! เมื่อกลางปี 2558 “กลุ่มเจมาร์ท” ประกาศเข้าซื้อหุ้น SINGER กว่า 67 ล้านหุ้น คิดเป็น 24.99% มูลค่า 945 ล้านบาท จากกลุ่ม SINGER (THAILAND) B.V. ของสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “ซิงเกอร์ประเทศไทย” ใช้เวลาจบดีลภายใน 3 เดือน และทำให้ “เจมาร์ท” กลายเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ของซิงเกอร์ประเทศไทย โดย บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าเงินผ่อน อันดับต้นๆ ในไทย

ตอนนั้น “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” เจ้าของอาณาจักรเครือเจมาร์ท เคยกล่าวไว้ว่า การได้ธุรกิจของ SINGER มาถือเป็นอีก “จิ๊กซอว์สำคัญ” ในการรุกสู่ธุรกิจ “รีเทล” เติมเต็มให้อาณาจักร “เจมาร์ท” โดยเฉพาะการได้มาซึ่ง “ฐานข้อมูลลูกค้าต่างจังหวัด” จำนวนมหาศาล เป็นการเชื่อมต่อฐานลูกค้ากับ “ธุรกิจเดิม” และ “ธุรกิจใหม่” ที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างลงตัว

และท้ายสุด ! ความสงสัยของนักลงทุนในทุกๆ ประเด็นที่เกิดขึ้นกับหุ้น SINGER ที่ผ่านมา กำลังรอคอย "คำตอบ" จากผู้ที่มีหน้าที่มาไขความสงสัยในหุ้น SINGER ให้กระจ่าง !  

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์