‘KEX-BTG’อดีตหุ้นมหาชน กับโจทย์ใหญ่ต้องเรียก ‘ศรัทธาคืน’ !
“ขาลง” ที่แท้จริง ! จากอดีตเคยเป็นหนึ่งในหุ้นขวัญใจของมหาชน “KEX-BTG” ทว่าวันนี้กลับคลายมนต์ขลัง หลังสารพัดปัญหาถาโถม ฉุด “ความสวย” จืดจาง... ลุ้นโอกาสจะพลิกกลับมา โดนใจขาหุ้นได้หรือไม่ ?
หากเอ่ยถึงหุ้นไอพีโอที่เคย “ฮอตฮิต” หรือเป็น “หุ้นมหาชน” ที่นักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ รวมถึงนักลงทุนสถาบัน ต่างแสดงความสนใจอยากเป็นเจ้าของ แค่เพียงมีข่าวว่าเตรียมตัวที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เท่านั้น และหนึ่งในนั้นคงต้องมีรายชื่อของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG
ด้วย “จุดเด่นสำคัญ” ของหุ้นทั้งสองตัวคือ เป็นกิจการที่สร้างการเติบโต “โดดเด่น” อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ! และที่ไม่ต้องพูดให้มากความเพราะว่า เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่รู้จักกันดีของ “ผู้บริโภค” ในท้องตลาด โดยหุ้น KEX เป็นหุ้นจัดส่งพัสดุด่วนพิเศษตัวแรกในตลาดหุ้น ขณะที่ หุ้น BTG เป็นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม “เกษตรและอาหาร” มีมูลค่าเสนอขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และยังมีมูลค่าเสนอขายสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปี 2565
อีกหนึ่งจุดสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจและมองอนาคตธุรกิจสดใสคือ หุ้น KEX และ BTG เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นในจังหวะที่ดี ! โดยธุรกิจอยู่ในช่วงของการเติบโตและอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก สะท้อนผ่านธุรกิจ KEX ความต้องการ (ดีมานด์) ใช้บริการขนส่งเติบโตก้าวกระโดด ตามอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตทั่วโลก ขณะที่ธุรกิจ BTG ความต้องการด้านอาหารพุ่งสูง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการแปลงสภาพเป็นกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company) แล้ว ! แต่ทำไม... นักลงทุนเริ่มทยอยถอยห่างหุ้น “KEX-BTG” กันเรื่อยๆ
หากลองพิจารณาดูพบว่า ทั้ง KEX และ BTG มีข้อหนึ่งที่เหมือนกันคือ ผลดำเนินงานที่ชะลอตัว มาจากต้นทุนที่พุ่ง สะท้อนผ่านล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2566 โดย KEX มีขาดสุทธิสุทธิ 787.49 ล้านบาท และเป็นการพลิกขาดทุนสุทธิ จำนวน 6 ไตรมาสติดต่อกัน สะท้อนผ่านไตรมาส 4 ปี 2564 ขาดทุน 604 ล้านบาท ,ไตรมาส 1 ปี 2565 ขาดทุน 491 ล้านบาท , ไตรมาส 2 ปี 2565 ขาดทุน 732 ล้านบาท , ไตรมาส 3 ปี 2565 ขาดทุน 674 ล้านบาทและไตรมาส 4 ปี 2565 ขาดทุน 932 ล้านบาท
ขณะที่ BTG ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 ไม่ขาดทุน !! แต่กำไรสุทธิลดลงกว่า 80% มาอยู่ที่ 392.78 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปี 65 ที่มีกำไรสุทธิ 1,970 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้ 27,959.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากงวดเดียวกันปี 65 ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้การขายสินค้าทุกธุรกิจ ทั้งกลุ่มเกษตร -อาหาร ต่างประเทศ และสัตว์เลี้ยง
หากมาดู ราคาหุ้น KEX คงต้องบอกว่า “ดูไม่จืด” ดิ่งลงต่อเนื่อง จากที่เคยเป็นหุ้นที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นเคยทะยานขึ้นไปทำจุดสูงสุด (New High) ที่ 73 บาท (ณ 24 ธ.ค.63) จากราคาจองซื้อ 28 บาท ซึ่งเป็นวันแรกของการเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น แต่หลังจากนั้นราคาหุ้น KEX ก็มีทิศทางปรับตัวลง และหากดูจากต้นปี 2566 ราคาหุ้น KEX อยู่ที่ 18.40 บาท เทียบกับราคาล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 ที่ราคาหุ้น 10.20 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุด (New Low) ตั้งแต่เข้าตลาด ร่วงกว่า 44.56%
ขณะที่ ราคาหุ้น BTG ไม่ต้องพูดถึงทำนักลงทุนรายใหญ่-รายย่อย “เจ็บตัวหนัก” ตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ! โดยไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่จองซื้อถอนทุนคืนแต่อย่างใด หลังราคาเปิดวันแรกอยู่ที่ 39.75 บาท ลดลง 0.63% หรือ 0.25 บาท จากราคาไอพีโอ 40 บาท เรียกว่า “เจ๊ง” ตั้งแต่จอง
นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ราคาหุ้น BTG ยังไม่พ้นราคาจองซื้อไอพีโอได้เลย... หากดูจากราคาหุ้นต้นปี 66 ราคาหุ้นอยู่ที่ 33.75 บาท (3 ม.ค.) เทียบกับราคาล่าสุด (17 พ.ค.66) อยู่ที่ 23.80 บาท ราคาร่วงลงกว่า 29.48% แต่หากคิดจากราคาไอพีโอที่ 40 บาท ราคาหุ้น BTG ร่วงกว่า 40.50%
**ปรับทัพใหม่ หวังกู้ศรัทธาคืน
บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX บอกไว้ว่า ในปี 2566 บริษัทได้วางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน ขณะที่ผู้ถือหุ้นหลัก อย่าง SF Holding และ Kerry Logistics Network (KLN) จะเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ know-hows ในการประกอบธุรกิจและการจัดการ พร้อมสนับสนุนทางการเงิน
ขณะเดียวกัน บริษัทจะพิจารณาปรับแผนการลงทุนในโครงการที่ไม่สามารถทำกำไรและสร้างประโยชน์ในระยะสั้นให้เลื่อนออกไปเป็นการชั่วคราวก่อน
“วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร (BTG) เปิดเผยว่า จากการวางกลยุทธ์ปี 2566 เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการลงทุนสร้างรากฐานการผลิตอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการไม่หยุดนิ่งสร้างสรรค์อาหารและช่องทางจำหน่ายที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การขยายพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม
รวมทั้งความสามารถในการควบคุมต้นทุนราคาวัตถุดิบด้วยระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และการมุ่งเน้นสินค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีนที่ได้อัตรากำไรที่ดีกว่า เพื่อลดผลกระทบของความผันผวนของราคาเนื้อสัตว์ จะผลักดันให้ยอดขายปี 66 มีอัตราการเติบโต 5-10% ตามเป้าหมาย และตอกย้ำเป้าหมายสู่การเป็นแบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำระดับสากลเพื่อชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ภาพรวมการบริโภคอาหารปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และมีดีมานด์เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และทำให้อัตราการบริโภคขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ แม้ในระยะสั้นสถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิต จะมีความผันผวนได้บ้าง
เนื่องจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงต้นปีนี้มีการลักลอบนำเข้าสุกรตัดแต่ง และมีการเพิ่มน้ำหนักของสุกรขุน ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาสุกรในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทิศทางราคาสุกรเริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะกลับมามีสเถียรภาพหากมีการบริหารซัพพลายที่ดี
ขณะที่แนวโน้มราคาและการส่งออกไก่เนื้อ คาดการณ์ว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ชะลอตัว