เปิดเส้นทางผิดนัดชำระ ‘หุ้นกู้ ALL’ กับทาง ‘รอด’ ที่อาจริบหรี่ !
31 ก.ค. นี้ คือวันสุดท้ายของ “7 หุ้นกู้ ALL” ที่ครบกำหนดให้ชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย หลัง “ผู้แทนผู้ถือหุ้น” ขีดเส้นตาย ! หากละเลยไม่ดำเนินการจะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป แม้ที่ผ่านมาจะพยายามทุกหนทางเพื่อ “เสริมสภาพคล่อง” ทั้งเพิ่มทุน-ขายโครงการ แต่ไม่เพียงพอ
4 ม.ค. 2566 เปิดต้นปีมา บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แจ้งข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงการ “ไม่ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้” จำนวน 10.65 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา !
“หุ้นใหญ่ ALL” อย่าง “ธนากร ธนวริทธิ์” ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1ในสัดส่วน 13.30% และมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) 7,453 ราย (ตัวเลข ณ วันที่ 29 มี.ค.2566) แจงเหตุผล ว่า เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และนี่คือ...ชนวนเริ่มต้นของสารพัดปัญหาที่ซ่อนอยู่ !!
เบื้องต้นสะท้อนให้เห็นถึงฐานะทางการเงินที่ “ย่ำแย่” จากผลประกอบการที่ “ขาดทุนสุทธิ” ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2563-ไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ -347.20 ล้านบาท -1,494.79 ล้านบาท และ -346.57 ล้านบาท ตามลำดับ และหากย้อนกลับไปดูนับตั้งแต่ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
การผิดนัดชำระจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ เป็นจุดเริ่มต้นให้นักลงทุน “ขาดความเชื่อมั่น” ในหุ้น ALL ไปแล้ว สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงต้นปี 2566 (4 ม.ค.) หุ้น ALL อยู่ที่ 0.29 บาท ล่าสุดอยู่ที่ 0.06 บาท (25 ก.ค.) ร่วงกว่า 79.31% แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะพยายามทุกหนทางในการกู้สภาพคล่องของธุรกิจ ! เพื่อทยอยแบ่งจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ ทั้ง “การขายหุ้นเพิ่มทุน-ตัดขายโครงการ” แต่หุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายบุคคลในวงจำกัด (PP) ก็ขายไม่หมดเสียที
โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการ ALL มีมติออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 359.12 ล้านหุ้น เสนอขายบุคคลในวงจำกัด (PP) โดยขายให้ บริษัท เอชลอนแคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งครั้งแรกขายจำนวน 25 ล้านหุ้น ในราคา 1 บาท ชำระเงินค่าหุ้นปลายเดือนส.ค. 2565
ครั้งที่ 2 ขายอีกจำนวน 41.48 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.94 บาท ชำระเงินค่าหุ้นต้นเดือนก.ย. 2565
ครั้งที่ 3 ขายอีก 53.76 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.93 บาท ชำระเงินกลางเดือนก.ย. 2565
ครั้งที่ 4 ขายให้ บริษัท เอชลอนแคปปิตอลฯ อีก 63.95 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.91 บาท ชำระค่าหุ้นปลายเดือนก.ย. 2565
ครั้งที่ 5 ขายหุ้นเพิ่มทุนอีก 55.07 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.69 บาท ชำระเงินช่วงกลางเดือนต.ค.2565
และครั้งที่ 6 ขายอีก 31.74 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.63 บาท ชำระค่าหุ้นต้นเดือนพ.ย. 2565 โดย บริษัท เอชลอนแคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ ALL ในทุกราคา
นอกจากนี้ ALL มีการอนุมัติจำหน่ายหุ้นสามัญของ บริษัท เรียล ลาซาล 17 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 9,997 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นสัดส่วน 99.98% ให้แก่ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในราคาเสนอขายหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นมูลค่าซื้อขายรวมเป็นเงิน 999,700 ล้านบาท รวมถึงให้จำหน่ายที่ดิน และโครงการปลูกสร้างอาคารชุดพักอาศัยโครงการ ดิ เอ็กเซล ลาซาล 17 ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง มีที่ดินรวม 4 ไร่ 3 งาน 62 ตารางวา (โครงการลาซาล 17)
โดยภายหลังจากที่บริษัทได้โอนขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทเรียล ลาซาล 17 ให้กับผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการโอนขายสินทรัพย์ที่ดินโครงการลาซาล 17 ให้กับ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ มูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 480 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้จากผู้ประเมินอิสระที่ 457 ล้านบาท และบริษัทจะรับชำระค่าโอนขายที่ดินเป็นเงินสดทั้งจำนวน
อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามระดมทุนหาเงินมาเสริมภาพคล่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้เมื่อวันศุกร์ 30 มิ.ย. 2566 บริษัทจำต้องแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวน “4รุ่น” ประกอบด้วย
- หุ้นกู้มีประกันของบริษัท ครั้งที่ 2/2564 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2568 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน หรือ หุ้นกู้รุ่น ALL230A
- หุ้นกู้มีประกันของบริษัท ครั้งที่ 5/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2568 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน หรือ หุ้นกู้รุ่น ALL235A
- หุ้นกู้มีประกันของบริษัท ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2569 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน หรือ หุ้นกู้รุ่น ALL242A
- หุ้นกู้มีประกันของบริษัท ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2568 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน หรือหุ้นกู้รุ่น ALL252A
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ได้ส่งหนังสือขอให้ชำระหนี้หุ้นกู้โดยพลันอีก 1 รุ่นคือ ALL244A เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 มีการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ จำนวนทั้งสิ้น 10.53 ล้านบาท โดยให้ ALL ชำระเงินต้นคงค้างทั้งหมดภายใต้หุ้นกู้ รวมถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 733.23 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 9% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566
นอกจากนี้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดสิทธิการผิดนัดชำระหนี้ ขอเรียกให้หุ้นกู้อีก 2 รุ่นคือ ALL22OA และ ALL232A ทั้งหมดถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน ทำให้ ALL จะต้องชำระเงินต้นคงค้างทั้งหมดภายใต้หุ้นกู้
รวมถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิที่คำนวณจนถึงวันที่ผิดนัดให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นอีก 198.96 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 2% บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยปกติและจำนวนเงินนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566
ดังนั้น เมื่อความพยายามเสริมสภาพคล่องด้วยการเพิ่มทุนและขายโครงการไม่บรรลุตามเป้าหมายเงินที่ระดมได้ไม่เพียงพอใช้เป็นทุนหมุนเวียน จนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะทางการเงิน จนอาจจะต้องเบี้ยวชำระค่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่น และเลวร้ายสุดโดน Cross Default
โดยล่าสุดธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จึงได้ส่งหนังสือขอให้ชำระหนี้หุ้นกู้โดยพลัน นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566 โดยปัจจุบันบริษัทยังไม่เข้าเงื่อนไขการ Cross Default
ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ชำระเงินต้น และพร้อมดอกเบี้ยตามที่บอกกล่าวข้างต้นได้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายกับบริษัทต่อไป
สุดท้ายผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จะหาทางออกจากหุ้น ALL ตัวนี้อย่างไร โดยเจ็บตัวน้อยที่สุด เพราะมองจากโอกาสที่ ALL จะฟื้นแทบมองไม่เห็น มีแต่โอกาสที่จะฟุบยาวๆ จนถึงจุดอวสานในอนาคตหรือเปล่าก็ยังหาคำตอบไม่ได้ !