สภาวะแบบนี้ จะเน้น “ลดรายจ่าย”หรือ “เพิ่มรายได้”หรือ….!?

สภาวะแบบนี้ จะเน้น “ลดรายจ่าย”หรือ “เพิ่มรายได้”หรือ….!?

กระชับความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการยกระดับการบริการ เพื่อให้ลูกค้าปัจจุบันไม่เปลี่ยนไปใช้กับคู่แข่ง และถ้าสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้โดยลูกค้าจ่ายในราคาเท่าเดิม สรุปลดค่าใช้จ่ายอย่างฉลาดและการเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในยุคปัจจุบัน

Part.1.ทุกสภาวะจะปล่อยให้เกิดวิกฤติ หรือ สร้างโอกาสก็ได้ !

มีเสียงบ่นเของแทบทุกธุรกิจ เรื่องกำลังซื้อถดถอย ยอดขายรายได้ตกมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของสภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของในประเทศไทยเอง ที่ถดถอยมานาน

ทุกท่านคงเริ่มเห็นบางธุรกิจทยอยปิดตัว เพราะไม่สามารถฝืนต่อไปได้ ซึ่งก็น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ส่วนธุรกิจที่เจอสภาวะแบบเดียวกันและยังฝืนที่จะสู้ต่อ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

เพราะทุกท่านที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งที่ผ่าน ก็จะรู้อยู่แล้วว่า วิกฤติไม่ใช่แค่เพียงวิกฤติที่ต้องยอมรับสภาพ แต่ในสภาวะวิกฤติ ถ้าเราเปลี่ยนมุมคิด ปรับวิธีการ ก็สามารถสร้างโอกาสได้เช่นกัน

Part.2.ข้อควรระวังเมื่อเผชิญสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ….?

บ่อยครั้งเมื่อเผชิญสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย รายได้น้อย รายจ่ายยังเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

เจ้าของกิจการ หรือ ผู้บริหาร มักจะใช้ “สูตรเด็ดที่มีเพียงสูตรเดียว” คือรีบลดค่าใช้จ่ายทันทีแบบฮวบฮาบและรุนแรงจนทำให้ขวัญกำลังใจของทีมงานถดถอย ตกต่ำจนส่งผลเสียหนักขึ้นให้กับองค์กร!

การลดค่าใช้จ่ายไม่ใช่สิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ควรทำด้วยซ้ำเมื่อเผชิญสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยอดขายตกต่ำ

แต่การลดค่าใช้จ่าย แบบทะเล่อทะล่า ขาดสติ ไม่ได้มองให้ไกลกว่าปัจจุบัน และไปลดค่าใช้จ่ายอย่างรุนแรงกับบางจุด บางเรื่อง มักจะเป็นเรื่องที่ผิดและสร้างผลเสียมากกว่าผลดี

ตัวอย่างเช่น แทนที่จะไปลดค่าใช้จ่ายกับสิ่งที่เคยฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น (งบเลี้ยงรับรองแบบไม่จำกัด หรือเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงานที่เว่อร์วัง อลังการ หรูหราเพื่อให้เชิดหน้าชูตาของผู้บริหาร ) หรือกระบวนการทำงานที่ทั้ง”ซ้ำซ้อน”และ”ซับซ้อน”ที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย (แนะนำให้ไปวิเคราะห์งาน Operation ของทุกหน่วยงานดูนะครับ จะพบว่า มีหลายหน่วยงานที่ทำงานแบบ ซ้ำซ้อนหรือซับซ้อน อย่างที่กล่าวมา)

กลับไป”คน” หรือ ”ลดรายได้ของทีมงาน” แบบลวกๆโดยไม่ได้วิเคราะห์ว่า คนและรายได้ของทีมงานที่ลดไปนั้น ส่งผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ เป็นต้น!

Part.3.ลดค่าใช้จ่ายอย่างฉลาด และ ไม่พลาดที่จะมองหาวิธีเพิ่มรายได้!

วิธีลดค่าใช้จ่ายอย่างฉลาด หลักก็คือ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบกับขวัญกำลังใจและการสร้างรายได้ในสิ่งที่ลด (ยกตัวอย่างไปบ้างแล้วใน Part.2.ลองย้อนกลับไปอ่านดูนะครับ)

แต่ถ้าจำเป็นจริงๆกับบางหน่วยงานที่ควรลดหรือเลิก เพื่อไปใช้ Outsource แทน หรือสามารถใช้ AI. มาเสริมหรือมาทดแทนได้ ก็ต้องทำ แล้วโยกย้ายทีมงานที่ถูกยุบไปสร้างทักษะใหม่ๆ โดยเน้นทักษะที่สร้างรายได้ ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนในหน่วยงานที่ถูกยุบจะรับสภาพหรือเรียนรู้วิธีสร้างรายได้ แล้วทำงานใหม่ได้ ก็ต้องปล่อยไป

วิธีลดค่าใช้จ่ายอย่างฉลาดอีกแบบคือ หน่วยงานใดที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ หน่วยงานนั้นจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น(โดยตัดงบบางส่วนจากค่าใช้จ่ายที่ลดได้ จะกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ผู้บริหารลองพิจารณาดู) การใช้วิธีนี้ บริษัทไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเลย เพราะใช้งบบางส่วนจากค่าใช้จ่ายที่ลดได้

และหน่วยงานใดที่นอกเหนือจากช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หน่วยงานนั้นก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นวิธีการสร้างขวัญกำลังใจที่ได้ผล โดยไม่บั่นทอนกำลังใจแบบการลดค่าใช้จ่ายแบบดื้อๆอย่างที่หลายที่ชอบทำ!

ก่อนที่จะลดค่าใช้จ่ายกับหน่วยงานใด ลองวิเคราะห์ให้ชัดก่อนว่า หน่วยงานนั้น เป็น Cost Center(เป็นหน่วยงานที่สร้างภาระ ค่าใช้จ่าย)จริงๆหรือไม่ สามารถปรับเปลี่ยน ยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่สร้างรายได้ ได้หรือไม่? อย่าไปมองแบบตื้นๆชั้นเดียว เชิงเดียวว่า หน่วยงานนั้นๆจะเป็น Cost Center เสมอไปโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย!

Part.4. เลือกทั้งวิธี ลดค่าใช้จ่ายอย่างฉลาดและการเพิ่มรายได้!

การเพิ่มรายได้ จากลูกค้าใหม่ ตลาดใหม่ จากสินค้า บริการใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและงบประมาณ แต่ทำเพื่อรองรับอนาคตระยะกลางและระยะยาวของธุรกิจ

ลองค่อยๆพิจารณาดูว่า ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อตกต่ำ ลูกค้า คิดและกังวลเรื่องอะไรบ้าง? และสิ่งที่ลูกค้าคิด กังวล สินค้าและบริการใหม่ๆของท่าน จะไปตอบโจทย์หรือแก้ Pain Point อะไรให้กับลูกค้าในสภาวะปัจจุบันได้

เช่น ลูกค้าต้องการสินค้า บริการที่ตอบสนองความต้องการ โดยจ่ายน้อยลง หรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่ง สินค้า บริการที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจของลูกค้า เป็นต้น

แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำในระยะสั้น คือ การเพิ่มรายได้จากลูกค้าเดิม ซึ่งหมายถึงลูกค้าที่ซื้อสินค้า ใช้บริการในปัจจุบัน กับ ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้า ใช้บริการ แต่ปัจจุบันไม่ได้ซื้อมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อ

เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้า บริการ ให้โดดเด่น น่าสนใจ เพื่อดึงอดีตที่ลูกค้าที่เคยใช้เคยซื้อ แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ ไม่ได้ซื้อ ให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง

ส่วนลูกค้าปัจจุบัน นอกเหนือจากการ กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (เพราะถ้าลูกค้าปัจจุบันบางส่วนหยุดใช้บริการ หรือเลิกซื้อ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก)

วิธีการคือ กระชับความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการยกระดับการบริการ เพื่อให้ลูกค้าปัจจุบันไม่เปลี่ยนไปใช้กับคู่แข่ง และถ้าสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้โดยลูกค้าจ่ายในราคาเท่าเดิม ก็จะเป็นเรื่องที่ส่งผลดีอย่างมากให้กับธุรกิจของท่าน

โดยสรุป ลดค่าใช้จ่ายอย่างฉลาดและการเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำในยุคปัจจุบันครับ!