ส่องนโยบายทรัมป์ หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์
ในช่วงเวลาที่ผู้ท้าชิงตำแหน่ง "ผู้นำ" คนสำคัญของโลกเริ่มหาเสียงด้วยนโยบายต่าง ๆ อย่างเข้มข้น จึงเป็นโอกาสสำคัญในการมองหาโอกาสการลงทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนโยบายของผู้นำคนสำคัญของโลกคนต่อไป
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ทั่วโลกจับตามองทวีความร้อนแรงขึ้นต่อเนื่อง นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนถัดไปจะส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก การวางแผนจัดพอร์ทลงทุนในช่วงนี้ก่อนจะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จึงมีความสำคัญมาก
นับตั้งแต่ดีเบตครั้งแรก ตามมาด้วยเหตุการณ์ลอบยิง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะปราศรัยหาเสียง จนมาถึงการถอนตัวของ นายโจ ไบเดน พร้อมสนับสนุน นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันขึ้นเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ทวีความร้อนแรงและยากที่จะคาดเดา ซึ่งล่าสุดผลสำรวจชี้ว่าคะแนนนิยมของ นางกมลา แฮร์ริส และ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แม้นางกมลาจะยังไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการรวมถึงยังไม่มีการเปิดเผยนโยบายหาเสียง ในขณะที่นโยบายของทรัมป์ค่อนข้างมีความชัดเจนแล้ว
โดยเราสามารถสรุปนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อภาพการลงทุน ได้ดังนี้
1.นโยบายด้านภาษี : ทรัมป์มุ่งมั่นจะปรับใช้อัตราภาษีเงินได้ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศจะลดภาษีนิติบุคคลจากระดับปัจจุบันที่ 21% ลงเป็น 20% และตั้งเป้าจะลดให้เหลือ 15% ในขณะที่ยังคงต่ออายุอัตราภาษีส่วนบุคคลที่ใช้ในปัจจุบัน โดยคงเพดานอัตราภาษีสูงสุดไว้ที่ 37% ในขณะที่ไบเดน เคยเสนอว่าจะปรับเพิ่มกลับไประดับเดิมที่ 39.6% ซึ่งการลดภาษีนิติบุคคลจะส่งผลบวกกโดยตรงต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก
2.นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ : เก็บภาษีนำเข้าจากทุกประเทศ โดยเก็บจีนในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 60% และจากประเทศอื่นๆในอัตรา 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในวงกว้างโดยเฉพาะจีน
อย่างไรก็ตามประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ประเทศอื่นคาดว่าจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดและอาจได้อานิสงค์ในกรณีที่กำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีความเข้มข้นขึ้น เช่น อินเดีย รวมถึงเวียดนามที่พบว่ามีการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้าสู่เวียดนามอย่างมีนัยยะในช่วงที่ Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีนมีความรุนแรง ซึ่งนางกมลา แฮร์ริส มีโอกาสที่จะยังคงดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศในทิศทางคล้ายคลึงกัน หากพิจารณาจากการที่โจ ไบเดน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
3.นโยบายด้านอื่นๆ : Trump มีแนวโน้มจะลดหย่อนกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ไม่จำเป็น (Deregulation) เอื้อให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการได้คล่องตัวขึ้น โดยในช่วงที่ทรัมป์ดำแรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 1 ได้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การยกเลิกบางส่วนของกฏหมาย Dodd-Frank ที่ใช้ควบคุมภาคธนาคารอย่างเข้มงวดหลังเกิดวิกฤติ Subprime ซึ่งหากทรัมป์ยังคงเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายต่อไป กลุ่มหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ อย่างเช่น กลุ่มสถาบันการเงิน (Financial) ของสหรัฐฯ
ในช่วงเวลาที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำคนสำคัญของโลกเริ่มหาเสียงด้วยนโยบายต่าง ๆ อย่างเข้มข้น จึงเป็นโอกาสสำคัญในการมองหาโอกาสการลงทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนโยบายของผู้นำคนสำคัญของโลกคนต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ไม่นับรวมจีน ที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager