Apple จะขยายฐานการผลิตในเวียดนาม แล้วประเทศไทยล่ะ ???

Apple จะขยายฐานการผลิตในเวียดนาม แล้วประเทศไทยล่ะ ???

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวคราวของการขยายฐานการผลิตของ Apple ในประเทศเวียดนามซึ่งคราวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท MacBook และ Apple Watch โดยที่ก่อนหน้านี้ Apple ได้มีฐานการผลิตของ iPad และ AirPod ในเวียดนามมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

จริงอยู่ส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนที่มีมากขึ้นทุกวันจนทำให้ Apple มีความจำเป็นที่จะต้อง Diversify ฐานการผลิตออกจากประเทศจีน

ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวคราวของธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ เช่น Samsung ซึ่งก็พยายามที่จะ Diversify ฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเช่นกัน

เป็นที่แน่นอนว่าประเทศที่ถูกเลือกเป็นฐานการผลิตโดย Apple ในฐานะธุรกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกของวันนี้ที่ราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 100 ล้านล้านบาท จะได้รับทั้งเงินลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยตรงจากธุรกิจอันดับหนึ่งของโลก

และเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมที่จะสามารถขยายผลทางอ้อมได้อีกหลายรอบจนส่งผลสู่พัฒนาการของประเทศที่สามารถวัดผลได้ด้วยตัวชี้วัดในระดับสากลอย่างเช่น IMD World Digital Competitiveness เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีอย่างนี้จะต้องทำอย่างไรถึงจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย

จากหลายแหล่งข้อมูลจะพบว่าการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในธุรกิจเทคโนโลยีของประเทศได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของการลงทุนทั้งหมดในอาเซียน

ในปีที่แล้ว 2021 หากการลงทุนทั้งหมดในอาเซียนเปรียบเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีการลงทุนเข้าในในประเทศไทยเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำกว่าอินโดนีเซียที่ 51, สิงคโปร์ 32, ฟิลิปปินส์ 9 และมาเลเซีย 4 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศไทยจะเทียบเท่ากับเวียดนามที่ 3 เปอร์เซ็นต์

อาจจะสรุปได้เลยว่าการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในธุรกิจเทคโนโลยีของประเทศไทยจะสูงกว่าเพียงแค่ พม่า ลาว และกัมพูชา ในอาเซียนเท่านั้น

ซึ่งเป็นความแตกต่างจากกว่าทศวรรษก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิงที่ไทยเคยอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียนจะเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เพียงเท่านั้น

แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศที่เคยอยู่ข้างหลังประเทศไทยอย่างเช่นอินโดนีเซียฟิลิปปินส์มาเลเซียและเวียดนามกลับมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วเคยสงสัยไหมว่าประเทศเหล่านี้เขาสามารถทำได้อย่างไร

ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งมาตรการล่าสุดของภาครัฐที่พยายามแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ได้ถูกกล่าวถึงในหลายบทความก่อนหน้านี้แล้วซึ่งล้วนเป็นมาตรการที่ยอดเยี่ยมของภาครัฐเพียงแต่ประเทศไทยอาจจะช้าไปที่เพิ่งมาเริ่มตื่นตัวเอาในยุคนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นได้เริ่มต้นกระบวนการของการพัฒนาอุตสาหกรรมมาก่อนหน้าเรามาเป็นทศวรรษแล้ว

และในหนึ่งปีก่อนหน้านี้ที่เป็นโอกาสทองที่สำคัญมากของประเทศเมื่อสิงค์โปร์ประสบปัญหาโลกร้อนและไม่สามารถขยายพื้นที่สำหรับให้บริการ Data Center ได้ และผู้ให้บริการระดับโลกหลายรายก็เริ่มมองหาประเทศอื่นเพื่อทดแทนในการลงทุนขยาย Data Center ซึ่งประเทศไทยก็เคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการสำรวจ

แต่แล้วในที่สุด รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ร่วมมือกับอินโดนีเซียในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ Nongsa ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายเทการลงทุนใน Data Center และธุรกิจเทคโนโลยีจากสิงคโปร์ และยังมีสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ของไทยอีกหลายประการจึงเป็นการปิดโอกาสทองของประเทศไทยไปโดยปริยาย

แม้ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐได้มีนโยบายสนัยสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม Chip คอมพิวเตอร์ให้กลับมามีฐานการผลิตในสหรัฐด้วยวงเงิน 52.7 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนหนึ่งย่อมมีผลมาจากความขัดแย้งกับประเทศจีนและการสูญเสียความเป็นผู้นำในโลกเทคโนโลยี

จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรมและพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเป็นเรื่องราวปกติของประเทศโดยทั่วไปที่ควรต้องทำอย่างเป็นวาระแห่งชาติ

และประเทศไทยในฐานะที่เริ่มช้ากว่าอีกหลายประเทศยังมีเรื่องที่ต้องทำอยู่อีกเป็นจำนวนมากก่อนที่จะสายเกินไปและประเทศไทยจะถูกทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้านไปมากกว่านี้