‘ชัชชาติ’ หนุนฟื้นท่องเที่ยว ดัน “กรุงเทพฯ” 50 เมืองน่าอยู่โลก
วันแรกของการเปิดงาน “Food & Hospitality Thailand 2022”หรือ FIT ที่จะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก อาหาร และบริการ ซึ่ง 4 วันของการจัดงาน “อินฟอร์มา มาร์เก็ต” คาดเงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาท
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยลำบากมา 2 ปีกว่า แต่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากจุดแข็งหลายด้าน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักหลังโควิดคลี่คลายคือพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการเคลื่อนตัวเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน(BCG) มาอยู่ในแผนงานมากขึ้น
ด้านภารกิจสำคัญ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังมุ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาโต กลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)สัดส่วน 1 ใน 5 อีกครั้ง
นอกจากฟื้นท่องเที่ยวภาพใหญ่ การประชุมสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย เชิญ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาบรรยายพิเศษ “วิสัยทัศน์ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ” ที่“กทม.” ขอร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังผลักดันกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองท่องเที่ยวโลก
ผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ฉายภาพ หน้าที่หลักของกทม.คือการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกภาคส่วนทำงานได้คล่องขึ้น
ขณะที่วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยังมอง “ธุรกิจโรงแรม” เป็นหัวใจสำคัญ เพราะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8.3 แสนล้านบาท ในปี 2563 มีการจ้างงานมหาศาลในระบบร่วม 4 ล้านคน เป็นต้น
“ผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ลอกท่อ เก็บขยะ แต่ต้องสร้างเศรษฐกิจด้วย”
สำหรับนโยบายด้านท่องเที่ยวที่ “ชัชชาติ” ต้องทำคือสานเป้าใหญ่ภายในปี 2570 กรุงเทพฯต้องติดอันดับ 50 ของเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน จากอันดับ 98 ซึ่งเป็นลำดับที่ รายงาน Global Liveability Index ปี 2564 จัดทำโดย Economic Itellgence Unit(EIU)ระบุไว้
ทำยังไงให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ ตามนโยบายที่ประกาศไว้มี 5 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมดี ปลอดภัยดี บริหารจัดการดี โครงสร้างดี และสุขภาพดี โดยมีแผนปฏิบัติการ 216 ข้อ แต่ไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่กำหนดไว้เริ่มดำเนินการแล้ว
“กรุงเทพฯเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เมืองน่าอยู่ ติดอันดับ 98 ซึ่งคนอยู่ไม่มีความสุข แต่คนมาเที่ยวสนุก หากเราปรับให้เป็นเมืองน่าอยู่ได้ ก็จะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวแน่นอน ช่วยดึงให้คนมาท่องเที่ยว มาทำงาน มาลงทุนเพิ่ม”
ส่วนหลังโควิด-19 คลี่คลาย กรุงเทพฯมีจุดแข็งมากมาย ดึงดูดนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น อัตราผู้ติดเชื้อไวรัสต่ำลง ไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด หน้าที่ของกทม. จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางกล้ากลับมาเที่ยวไทย ด้านค่าครองชีพ ในกทม.ถือว่าไม่แพง ติดอันดับ 106 จาก 227 ประเทศ แม้ต้องเผชิญภาวะ “เงินเฟ้อสูง”
ด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น เอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว สามารถเข้าถึงโรงแรม ที่พัก แหล่งเที่ยวสะดวกขึ้น แม้ประชาชนทั่วไปยังเจอภาระค่ารถไฟฟ้าสูงอยู่ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองเก่า 240 ปี(กรุงรัตนโกสินทร์) ร่ำรวยวัฒนธรรม มีย่านดังมากมาย เช่น เยาวราช ถนนราชดำเนิน ประตูน้ำ ฯ แต่ปัจจุบันอาจเล่าเรื่องราวหรือสตอรี่ไม่เก่ง
“กทม.ต้องทำหน้าที่เล่าเรื่องให้ดีขึ้น”
นอกจากนี้ กทม.ยังห้องพักรองรับนักเดินทางกว่า 1.6 แสนห้อง ราคาเฉลี่ยต่อคืนเพียง 2,000 บาท มีศูนย์ประชุมและการแสดงสินค้ามากมาย ทั้งไบเทคบางนา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฯ รองรับการจัดงานไมซ์ต่างๆ แต่จะต้องมีการโปรโมทให้เข้มแข็ม โชว์ศักยภาพ ความพร้อมเต็มที่ ตลอดจนการผลักดันเทศกาลต่างๆ ไปอยู่บน “ปฏิทินโลก” มากขึ้น
“ชัชชาติ” กล่าวอีกว่า ยังหารือกับกงสุลไทยประจำเวนิส ในการเชื่อมสัมพันธ์กรุงเทพฯกับเมืองเวนิส ให้เป็นเมืองพี่เมืองน้อง เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน การร่วมกับผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อจัดกิจกรรมแสงสี ตกแต่งไฟ เพื่อขยายเวลาท่องเที่ยวกลางคืนให้มากขึ้น
ขณะที่การขยายเวลาเปิดผับ-บาร์ถึงตี 4 พร้อมสนับสนุนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อป้องกันการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น