‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพใหม่ยึดอาเซียน ดัน‘เหล้า-เบียร์-นอนแอลกอฮอล์’ ผงาดผู้นำ
ตลาดเครื่องดื่มอาเซียนทั้งสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ และ "ไทยเบฟ" ยังมุ่งมั่นผงาดเป็น "ผู้นำ" ของภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง จึงวางยุทธศาสตร์โตรอบทิศ เขย่าโครงสร้างใหม่วาง 3 กลุ่มสินค้าภายใต้ 3 ซีอีโอนำทัพ
ผ่ายุทธศาสตร์ “ไทยเบฟ” เคลื่อนทัพ เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ครองตลาดอาเซียน ชู 3 ประเทศยุทธศาสตร์ ไทย-เวียดนาม อินโดฯ เดินหน้าเขย่าโครงสร้าง-ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เร่งเพิ่มขีดแข่งขัน ปีหน้าทุ่มงบ 5-8 พันล้านลงทุนปรับปรุงโรงงาน ขยายกิจการ สยายปีกร้านอาหาร ปั้นเรือธงแฟรนไชส์ “โออิชิ บิสโทร” เจาะโอกาสเมกะเทรนด์ “อีวี” ซุ่มปั้นไพลอตโปรเจกต์ สถานีชาร์จควบคู่เชนร้านอาหารในเครือ หนุนโต 2 หลัก
“ไทยเบฟ” ประกาศแผนการดำเนินงานปี 2565-2566 (ปีงบประมาณ ต.ค.2565-ก.ย.2566) สานเป้าหมาย “PASSION 2025” สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร ครองความเป็น “เบอร์ 1” ในภูมิภาคอาเซียน
ล่าสุด บริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่วาง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องยนต์สำคัญ พร้อมตั้งแม่ทัพทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจ ผลักดันการเติบโตในภูมิภาค ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์สุราหรือเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (นอนแอลฯ) และกำหนด 5 กลุ่มฟังก์ชัน เช่น ด้านการวางแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน การสร้างแบรนด์ ค้าขายหรือคอมเมอร์เชียล เทคโนโลยี ดิจิทัล และด้านทุนมนุษย์เป็นต้น
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟมีการขยายธุรกิจ สร้างการเติบโตต่อเนื่อง จึงต้องปรับโครงสร้างใหม่ ให้มีกลุ่มซีอีโอ ดูแลขับเคลื่อนแต่ละกลุ่มสินค้า ทั้งเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ผลักดันการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่การแบ่งกลุ่มฟังก์ชันทั้ง 5 เป็นการวางแผนกลยุทธ์เสริมสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ
ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มทั้งเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียนมีขนาดใหญ่ ปี 2564 มูลค่ารวมเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่เจาะลึกเฉพาะประเทศที่อยู่ภาคพื้นดิน(ไม่ใช่เกาะ) ตลาดมีมูลค่าราว 65,000 ล้านดอลลาร์ เช่น ไทยมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 21% เบียร์ 30% นอนแอลฯ 49% เวียดนาม 26,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 2% เบียร์ 59% นอนแอลฯ 39% เมียนมา 3,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 21% เบียร์ 43% นอนแอลฯ 36%
มาเลเซีย 6,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเหล้า 11% เบียร์ 44% นอนแอลฯ 45% กัมพูชา 2,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น เหล้า 4% เบียร์ 64% นอนแอลฯ 32% และลาว 1,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเบียร์ 58% และนอนแอลฯ 42%
นอกจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายปีที่ผ่านมา ไทยเบฟมุ่งขยายตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น แม้อัตราการทำกำไรจะต่ำกว่าเหล้า เบียร์ แต่ปริมาณการบริโภคต่อปีถือว่าสูงมาก เช่น ตลาดอินโดนีเซียอยู่ที่ 19,000 ล้านลิตรต่อปี สูงกว่าไทยที่บริโภค 15,400 ล้านลิตรต่อปี
“แพชชั่น 2025 หรือภายในปี 2568 ไทยเบฟยังเดินหน้าสร้างธุรกิจ เสริมแกร่งในตลาดอาเซียนย้ำภาพผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาค รวมถึงการปลดล็อกคุณค่า เสริมศักยภาพให้ธุรกิจ ลุยทรานส์ฟอร์ม สร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโลกการค้าในเอเชียแปซิฟิก”
นายฐาปน กล่าวอีกว่า หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย บริษัทได้เดินหน้าขยายการลงทุนในทุกธุรกิจ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมด้านช่องทางจำหน่ายร้านค้าทั่วไป โลจิสติกส์ ฯ ซึ่งทั้งปีวางงบลงทุนราว 5,000-8,000 ล้านบาท
เหล้าเล็งลงทุน 6,000 ล้านใน 3 ปี
ธุรกิจสุราหรือเหล้า ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอสำคัญของกลุ่มไทยเบฟ ที่ทำรายได้สูงสุด 70-80% มาอย่างยาวนาน ยิ่งกว่านั้นทำ “กำไร” เกือบ 100% หรือมากกว่าในบางปี เนื่องจากกิจการบางหมวดขาดทุน เช่น อาหาร แต่หลังการซื้อหุ้นซาเบโก้ เบอร์ 1 เบียร์ในเวียดนาม ทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนแปลง โดย 6 เดือน(ต.ค.64-มี.ค.65)ยอดขายรวมมูลค่า 142,942 ล้านบาทเติบโต 8.9% สัดส่วนรายได้แบ่งเป็น กลุ่มเครื่องดื่มสุรา 45.6% เบียร์ 43.3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.8% และอาหาร 5.4%
ขณะที่กำไรสุทธิ 6 เดือน มูลค่า 18,365 ล้านบาท เติบโต 14.2% แบ่งสัดส่วนจากสุราสูงถึง 75.3% เบียร์ 21.1% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.6% อาหารเพียง 1% เท่านั้น
โครงสร้างรายได้-กำไรไทยเบฟช่วง 6 เดือนแรก(ต.ค.64-มี.ค.65)
ดังนั้น แนวทางการขยายธุรกิจสุราจึงมีความสำคัญต่อเนื่อง เพื่อรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ซึ่งนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า แนวทางการขยายธุรกิจสุราใน 2-3 ปี วางงบลงทุนไว้เกือบ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนปกติเพื่อปรับปรุงโรงงาน ปรับไลน์การผลิต เพิ่มความเร็วในการผลิตสินค้าสุราฯ อยู่ที่ 600-800 ล้านบาท
ปีหน้ายังวางแผนขยายการลงทุนอีก 1,200 ล้านบาท และจะสร้างโรงงานผลิตบรั่นดีใหม่คาดการณ์ใช้เงินลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท รวมถึงการสานภารกิจธุรกิจยั่งยืน มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าร์เซลล์) นำพลังงานก๊าซชีวภาพหรือไบโอแก๊สมาใช้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกรีน อินเวสท์เมนท์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
“เดิมเราจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตบรั่นดีแบรนด์เมอริเดียนแห่งใหม่ แต่มีการทบทวนแผน โดยเปลี่ยนเป็นการปรับปรุงโรงงานเดิม ขยายไลน์การผลิตแทน”
รักษาแชมป์ตลาดเหล้าไทย ลุยเจาะอาเซียน
ขณะที่การปรับโครงสร้างองค์กร และเหล้าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสร้างการเติบโต จึงมองการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ มีอัตราการบริโภคสูง รวมถึงประเทศเวียดนาม เพราะถือเป็นฐานทัพสำคัญของธุรกิจ จากปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆจากซาเบโก้ ที่จะซีนเนอร์ยีทำงานร่วมกัน ต่อยอดการเติบโตได้
ประภากร ทองเทพไพโรจน์
“ปัจจัยสร้างการเติบโต ก่อนโควิดเรามองตลาดเมียนมา ต้องการเข้าไปขยายเพิ่ม จากปัจจุบันมีวิสกี้ของแกรนด์ รอยัลกรุ๊ป เป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว ส่วนเวียดนามต้องการเข้าไปเจาะตลาด เพราะเป็นประเทศหลักในเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่ม”
สำหรับช่วงโควิด-19 ระบาด ตลาดสุราเมียนมาได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั้งโลก โดยยอดขายของแกรนด์ รอยัลกรุ๊ปหดตัวลง 10% แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย ตลาดฟื้นตัวสร้างยอดขายได้ 10 ล้านลัง เหมือนภาวะปกติแล้ว รวมถึงความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำคัญของกลุ่มธุรกิจสุรา ในประเทศไทยต้องรักษาบัลลังก์เบอร์ 1 ทั้งเหล้าขาว และเหล้าสี ซึ่ง 2 หมวดนี้ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 90%
นอกจากตลาดอาเซียน บริษัทยังนำสุราไทยขยายสู่ตลาดโลกมากขึ้น เช่น เหล้ารัมแบรนด์ PHRAYA โดยปัจจุบันบริษัท อินเตอร์เบฟเวอเรจ ส่งสินค้าไปขายกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
ช่วงโควิดการจำหน่ายสุราในต่างประเทศ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่การค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรี แต่ปัจจุบันฟื้นตัวแล้ว ยิ่งการขายสก๊อตวิสกี้เป็นบัลก์ขนาดใหญ่เติบโต 150% สอดคล้องกับตลาดสุราในประเทศไทยการบริโภคกลับมาราว 80% ภาพรวมเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาการเติบโต 23% สูงกว่าเดือนกรกฎาคมและมิถุนายนที่เติบโต 12%(ที่มา : นีลเส็น)
“เราต้องรักษาเสถียรภาพของธุรกิจสุรา โดยเฉพาะการเติบโตของกำไร”
นอนแอลกอฮอล์ เล็งสร้างรง.เพิ่มต่างแดน
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นอีกกลุ่มที่จะผลักดันไทยเบฟให้เติบโตเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยเป้าหมายของบริษัทต้องการเห็นการขยายตัวในอัตรา 2 หลัก
โฆษิต สุขสิงห์
ทั้งนี้ กลยุทธ์การทำตลาด ได้มองโอกาสในการสร้างฐานผลิตหรือตั้งโรงงานในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะในอาเซียน จากปัจจุบันมีการนำสินค้าส่งออกไปจำหน่ายตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงสร้างแบรนด์ และตั้งสำนักงานขายในแต่ละประเทศ
ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ใหญ่สุดของไทยเบฟ มีทั้งประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทมีสินค้าแบรนด์ดัง ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นเบอร์ 1 หลายรายการ อีกด้านบริษัทมองโอกาสในตลาดเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากมีฐานธุรกิจที่แกร่งจากซาเบโก้ ซึ่งภายใต้เครือยังมีบริษัทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่าง CHUONG DUONG BEVERAGES ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม และเป็นผู้ผลิตน้ำอัดลม "ซาสี่" สามารถต่อยอดธุรกิจเครื่องดื่มได้อย่างดี
"การปรับโครงสร้างองค์กร จัดกลุ่มสินค้าใหม่ ถือเป็นการคิดบริหารพอร์ตโฟสินค้ามากขึ้น มองตลาดไหนที่มีจุดเด่น ตลาดใหญ่ มีโอกาสเติบโตสูง เพื่อเข้าไปบุก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย จีน ซึ่งที่ผ่านมาอินโดนีเซียเราส่งสินค้าจากเฟรเซอร์แอนด์นีฟหรือเอฟแอนด์เอ็นเข้าไปจำหน่าย สร้างแบรนด์ มีการตั้งบริษัทเทรดดิ้งในประเทศ ขั้นต่อไปคือการสร้างฐานผลิต ซึ่งจะเห็นในปี 2566”
ด้านในประเทศบริษัทวางงบลงทุนราว 300-400 ล้านบาท เพื่อใช้ในปรับปรุง ดูแลโรงงานผลิตสินค้า หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการขยายลงทุนไปค่อนข้างมาก สร้างโครงข่ายการกระจายสินค้าเสริมแกร่ง และบริการจัดการต้นทุนให้ต่ำลง
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ภายใต้ CHUONG DUONG
ขณะเดียวกันได้ศึกษาโอกาสใหม่ๆ เช่น การลงทุนพลังงานสะอาด และอีวี เช่น โครงการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่สามารถควบคู่ไปกับธุรกิจร้านอาหารในเครือ เช่น เคเอฟซี หรือการประยุกต์ใช้ในระบบโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาดและโอกาสในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ
นอกจากไทยเบฟ มีสินค้าหลากหลายรายการ บริษัทยังมีระบบโลจิสติกส์ของตนเอง หน่วยรถจำนวนมาก จึงมีแผนปรับเปลี่ยนมาใช้รถอีวีด้วย แต่โจทย์ใหญ่คือสถานีชาร์จ และหากมองพฤติกรรมการชาร์จในต่างประเทศ สัดส่วน 95% เป็นการชาร์จที่บ้านหรือที่ทำงาน มีเพียง 5% ที่ใช้บริการสถานีชาร์จ อีกตัวแปรที่ต้องติดตามคือการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) จะมีผลต่อการพิจารณาต้นทุนด้วย
สนซื้อเคเอฟซีจาก RD แม้ยัมฯไม่ขายสิทธิ์ให้
นอกจากสร้างการเติบโตตามธรรมชาติจากศักยภาพภายในองค์กร(organic growth) ไทยเบฟยังให้ความสนใจในการซื้อและควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือร้านไก่ทอดแบรนด์ระดับโลก “เคเอฟซี” หลังจาก 1 ใน 3 แฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิ์บริหารร้านเคเอฟซีในประเทศไทย(บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือRD) ต้องการขายกิจการดังกล่าว ซึ่งนายฐาปน กล่าวว่า บริษัทเปิดกว้างการลงทุน และสนใจบริหารต่อ แต่ยัม เรสเทอรองตส์ ฯ ในฐานะเจ้าของแบรนด์ ต้องการให้เกิดการแข่งขัน เพื่อสร้างการเติบโต
“เราอยากได้สิทธิ์บริหารร้านเคเอฟซีเพิ่ม แต่เจ้าของแบรนด์ต้องการให้แฟรนไชส์มีการกระจายตัว เพื่อไม่ให้ติดกับเกมที่จะไม่เติบโต อีกทั้งถ้าไทยเบฟซื้อกิจการมา จะทำให้เราใหญ่เกินไป”
นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ยัมฯ ต้องการบาลานซ์แฟรนไชส์บริหารร้านเคเอฟซี 3 ราย ขณะที่กลุ่มไทยเบฟซื้อกิจการร้านเคเอฟซีมา 4 ปี สร้างการเติบโตร้านถึง 160 สาขา หรือปัจจุบันมีร้านกว่า 430 สาขา
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล
“เรามองศักยภาพสร้างการเติบโตเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อกิจการ(ร้านเคเอฟซีจาก RD)มา ขณะที่ภาพรวมธุรกิจ บริษัทวางงบลงทุนราว 1,100 ล้านบาท เพื่อขยายร้านอาหารเพิ่มเติม”
รอจังหวะดันเบียร์เข้าตลาดฯ สิงคโปร์
ด้านธุรกิจเบียร์ บริษัทยังมองการปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่า การเติบโต โดยหนึ่งในแผนสำคัญคือการผลักดัน BeerCo เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แต่ปัจจุบันยังไม่ดำเนินการ โดยนายฐาปน กล่าวว่า บริษัทยังมองโอกาสและรอจังหวะสถานการณ์ตลาดทุนเอื้อในการ IPO กลุ่มธุรกิจ BeerCo อีกครั้ง
สอดคล้องกับนายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ของ BeerCo ถือว่ามีมูลค่า เพราะเป็นผู้นำในตลาดเบียร์อาเซียน ดังนั้นบริษัทจะไม่ลดคุณค่า เพื่อให้ได้เข้าตลาดแต่อย่างใด โดยเปรียบเทียบบ้านที่มีมูลค่า 1 ล้านเหรียญ ที่จะไม่ยอมให้ถูกนำเสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด หรือคุณค่าที่ควรจะได้รับ
“เราต้องรอจังหวะตลาดทุนมีความเหมาะสม โดยพิจารณาทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจ การเมืองโลก เช่น สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น”