นับถอยหลังไลเซ่นส์ 'ทีวีดิจิทัล' ธุรกิจสื่อเปลี่ยน ขอยืดเวลา 5 ปี
อีก 7 ปี สิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล แนวโน้มธุรกิจยังลุ้นทาง "รอด" ท่ามกลางโจทย์ใหม่ๆ กระทบธุรกิจ ผู้ประกอบการแนะกสทช.วางแผนแม่บทใหม่สอดรับเทคโนโลยี พร้อมทดเวลาบาดเจ็บ หลังติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ทำธุรกิจเสียโอกาส 5 ปีแรก
แม้จะเกินครึ่งทางแล้ว สำหรับการเปลี่ยนผ่านธุรกิจทีวีดิจิทัลของไทย ภายใต้การทุ่มเงินมหาศาลเพื่อประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์) เป็นเวลา 15 ปี แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาการถูก “ดิสรัป” จากเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ พฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนโฉมหน้า จนกระทบผู้ประกอบการ “ทีวีดิจิทัล” ประเภทธุรกิจ ที่เหลือ 15 ช่อง จะยังไม่หมดไป กลับกันเจอโจทย์ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี
หนึ่งในความท้าทายของค่าย “ทีวีดิจิทัล” คือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มโอทีทีระดับโลก ที่มีมากมาย ซ้ำร้ายผู้บริโภคยอมจ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือน(Subscription) เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนท์โปรดบนช่องทางดังกล่าว ทำให้การดูคอนเทนท์ผ่านทีวีดิจิทัลลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา จึงเปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม(Focus group) ผ่านโครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ไทย ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและทางรอดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในระบบนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป”
สถาบันการศึกษานำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับการปรับตัวของทีวีไทยในห่วงโซ่คุณค่าของแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอออนไลน์(โอทีที) ความท้าทายใหม่ในโลกเทคโนโลยีสื่อหลอมรวมในตลาดน่านน้ำแดงเดือด(Red-ocean) ยังมีประเด็น “OTT TV โอกาสและทางรอดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยในระบบนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป” ถูกหยิบมาถกโดย 3 กูรูวงการสื่อ ผู้ผลิตคอนเทนต์
อีก 7 ปี “ทีวีดิจิทัล” ตายก่อนคว้าขุมทอง “โอทีที”
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาเนชั่น กรุ๊ป และกรรมการสมาคมโทรทัศน์ระบบจิตอล(ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า โอทีที ทีวี เป็นโอกาสของผู้ประกอบการสื่อ ผู้ผลิตคอนเทนท์ เพราะถือเป็นช่องทางใหม่ในการนำเนื้อหารายการดี มีคุณภาพ ตอบโจทย์คนดู
ทว่า โจทย์ใหญ่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเผชิญมาตลอดกว่าครึ่งทางของประมูลไลเซ่นส์มาทำธุรกิจ ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ การเสพสื่อเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน มีทั้งการไลฟ์ สื่อสังคมออนไลน์ ฯ ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ
การฝ่าพายุดิสรัปชั่นระลอกแล้วระลอกเล่า อาจทำให้ทีวีดิจิทัลค่ายต่างอาจอยู่ไม่รอด เพื่อไปคว้าขุมทรัพย์จากโอทีที ทีวีย่อมเป็นได้ เพราะนับวันยังมี “ตัวแปร” กระทบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระแสทวิตเตอร์ ปรับลดคน เฟซบุ๊กหรือ Meta “ขาดทุน” เทคโนโลยีความคมชัดก้าวหน้าเป็น 4K-16K แต่ทีวีดิจิทัลของไทยยังเป็นระบบความคมชัดปกติ(เอสดี) เป็นต้น
“โอกาสจากโอทีที ทีวีมีอยู่มหาศาล แต่ผู้ประกอบการจะรอดถึงได้ใช้โอกาสเหล่านั้นไหม แค่นั้นเอง”
ทางรอด ต้องวางแผนแม่บทใหม่
ทั้งนี้ หากต้องการให้ผู้ประกอบการทีวีดิจัล “รอด” บนเส้นทางสื่อ เพื่อรับโอกาสโอทีที ทีวี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องโละทิ้งโร้ดแมปเดิมๆ ลดข้อจำกัด และวางแผนแม่บทใหม่ ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ “แข่งขัน” ได้
เนื่องจากข้อดีที่เกิดจากการประมูลไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล คือเอกชนมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ซอฟท์แวร์ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญผลิตคอนเทนต์ ที่ต่อยอดได้ หลังสิ้นสุดการระยะเวลาประกอบกิจการใน 7 ปีข้างหน้า
“แผนแม่บทก่อนประมูลทีวีดิจิทัล ทิ้งไปได้เลย เรกูเลเตอร์ต้องเขียนใหม่ มองไปอีก 10 ปีข้างหน้า เหมือนสื่อยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ ที่กำหนดว่าจะเลิกทำทีวี วิทยุ เวลานี้กสทช.เราต้องคิดได้แล้ว”
ที่ผ่านมา กสทช.เจอผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยังถามถึงการประมูลครั้งใหม่ หลังสิ้นสุดใบอนุญาตเดิม “อดิศักดิ์” ย้ำว่า “กรุณาเลิกถาม เพราะไม่มีใครประมูลแล้ว บนเงื่อนไขปัจจุบัน”
นับตั้งแต่ประมูลไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล สร้างบาดแผลให้กับผู้ประกอบการมากมาย โดยเฉพาะการแจกกล่องรับสัญญาเข้าถึงประชาชน 22 ล้านครัวเรือน ซึ่งทำได้จริงเพียง 7-8 ล้านครัวเรือนเท่านั้น การลงทุนโครงข่ายทีวีดิจิทัล(มักซ์) สูญเปล่า เป็นต้น
ขอ 5 ปีทดเวลาบาดเจ็บ ไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล
เดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนท์ ย้ำชัดโอทีที ทีวี คือ “โอกาส” ที่ใหญ่มาก ทว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะไปรอดอย่างไร ในโลกธุรกิจที่แข่งขันสูง เทคโนโลยีเปลี่ยนแรง ซ้ำร้ายเผชิญวิกฤติโควิดจนต้องปรับตัวเพื่อคว้าขุมทรัพย์จากแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากขึ้น
ยิ่งย้อนครึ่งทางของไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล ช่วง 5 ปีแรก ผู้ประกอบการ “เสียโอกาส” มหาศาล เพราะฝุ่นตลบในอุตสาหกรรม จากเหตุที่ “กสทช.” กลัดกระตุมผิดเม็ดตั้งแต่ต้น
“5 ปีแรกทีวีดิจิทัลเสียเวลาฟรี เวลาของไลเซ่นส์ที่เหลือ จึงควรชดเชย ทดเวลาบาดเจ็บให้ผู้ประกอบการ ซึ่งจริงๆเราไม่รู้จะไปถึงวันนั้นไหม แต่การได้เวลาทดบาดเจ็บเพิ่ม เราอาจทำอะไรได้มากขึ้น”
ระหว่างทางอีกเกือบ 7 ปีที่เหลือของใบอนุญาต กสทช.ควรปรับวิธีคิดใหม่ โดยคิดภาพใหญ่ระดับโลก แต่ปฏิบัติในระดับประเทศให้มากขึ้น หรือ Think Global Act Local มองภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนอุตสหากรรมทีวีไทยให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นการทำทีวีแห่งชาติ การนำช่องสาธารณะมาต่อยอดให้เกิดประโบชน์ การป้อนคอนเทนท์คุณภาพตอบโจทย์คนดู เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมองการวางโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งหมายถึงกฎมัสต์ แฮฟ และกฎมัสต์ แคร์รี ที่ต้องสังคายนา โดยใช้วิกฤติการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เป็น “บทเรียน” เนื่องจาก กสทช. ดึงเงินกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ตั้งต้นร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำคอนเทนต์ระดับโลกมาให้คนไทยได้ชม แต่กลายเป็น “ความล้มเหลว” เพราะสุดท้าย อุปกรณ์ สื่อบางช่องทางไม่สามารถรับชมได้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เท่าเทียม ทั่วถึง
“วันนี้กลับมาสู่ความจริงสุดท้าย กสทช.ต้องสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ให้เกิดขึ้น ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์”
ที่ผ่านมาความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่ได้ทำให้ค่ายทีวีดิจิทัลตกใจ แต่ต้องตระหนักมากขึ้น เพราะการเผชิญโจทย์ดังกล่าวเกิดตั้งแต่ทีวีดาวเทียม เป็นต้น
“คีย์เวิร์ดสำคัญ ต้องกลับไปแก้ไขอินฟราสตรัคเจอร์ให้ถูกต้อง ส่งเสริมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลให้ครอสฟังชั่นก์ ให้ปีนี้รอดให้ได้ก่อน เพราะวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก สิ่งที่คุย 3-4 เดือนก่อน ปัจจุบันล้าสมัยแล้ว”
งบโฆษณาทีวีหมดยุคเฟื่องฟู
แม้ไม่มีช่องทีวีดิจิทัล แต่ถือเป็นผู้ผลิตเนื้อหา รายการชั้นนำของเมืองไทยมายาวนาน ทำเงินเติบโต แต่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม ดูทีวีน้อยลง ส่งผลต่อ “เรทติ้ง” สุดท้ายกระทบเงินโฆษณา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ดร.โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ฟันธงอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาทาง “ทีวี” จะไม่มีทางครองเม็ดเงินเหมือนอดีตอีกแล้ว
นอกจากนี้ การสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกอากาศทางทีวีให้ดังโกยเรทติ้งยากขึ้น เดิมใช้เวลา 1 ปี ผู้บริผู้บริโภครับรู้ ปัจุบันใช้เวลา 1 ปี 9 เดือน โกยยอดวิวบนออนไลน์หลัก “ร้อยล้านวิว” คนรู้จัก 50% หากยืนระยะ 2 ปี ต้องเสิร์ฟคอนเทนท์ผ่านติ๊กต๊อก(TikTok)สร้างกระแส ดึงคนกลับมาดูทีวี จะสร้างรับรู้ได้ 70%
มองโอกาสงบโฆษณาจากทั่วโลก
ทั้งนี้ ย้อนยุคเฟื่องฟู ทีวีโกยเงินโฆษณามหาศาลราว 60,000 ล้านบาทต่อปี ทว่าสื่อหลากหลาย ออนไลน์ทรงพลัง ชิงขุมทรัพย์ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันทีวีครองเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ไทย ที่ผู้ประกอบการพยายามสร้างสรรค์ ชิงเงินโฆษณากับแพลตฟอร์มโลก ต่อสู้มา 7-8 ปี ยอมรับว่าสู้ไม่ได้จริงๆ
“อดีตสื่อมี 4–6 ช่อง ครองเม็ดเงิน 60,000 ล้านบาท ปัจจุบันทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 15 ช่อง มีเม็ดเงินเพียง 40,000 ล้านบาท งบโฆษณาทางทีวีลดลงเรื่อยๆการจะทำสื่อแล้วได้เงินจำนวนมาก ไม่ใช่ทางรอดอีกต่อไป เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก มีการทำแพ็คเกจให้ลูกค้าซื้อโฆษณาง่ายขึ้น”
ทีวีแห่งชาติต่อยอด Soft Power คอนเทนต์
แนวโน้ม “โอทีที ทีวี” สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตคอนเทนท์มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องการเห็นคือ รัฐนำเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัลมาทำ “ทีวีแห่งชาติ” เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอคอนเทนท์ไทยสู่สายตาชาวโลก ดึงรายได้เข้าประเทศ
ตัวอย่าง รายการศึก ONE ลุมพินี ที่เทโรฯ ช่อง 7 ผนึก “ONE Championship” เพื่อถ่ายทอดสดทางช่อง 7 เวลา 20.30 น.ทุกวันศุกร์ เริ่ม 20 มกราคม 2566 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปีที่นำกีฬาไปแทนที่ “ละคร” ช่วง “นาทีทอง” หรือไพรม์ไทม์ ซึ่งจากความดังของซอฟท์พาวเวอร์มวยไทย ทำให้เพิ่มโอกาสดึงเม็ดเงินโฆษณาจากแบรนด์ระดับโลกมากขึ้น
“ทิศทางประเทศไทย ควรมีทีวีแห่งชาติ เพื่อทำการถ่ายทอดคอนเทนต์สู่สายตาชาวโลก ให้เห็นว่าเรามีคอนเทนต์ที่เจ๋ง สร้างความภาคภูมิใจ สร้าง Soft Power”