'เสถียร' นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ รุกน้ำเมาสีอำพัน 'เบียร์' ต่อกร 'สิงห์-ช้าง'
ตลาดเบียร์ 200,000 ล้านบาท จะไม่มีแค่ "สิงห์-ช้าง" ยืนหยัดยิ่งใหญ่ เพราะผู้ท้าชิงใหม่ "เจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป" อย่าง "เสถียร" อาจหาญต่อกร นำประสบการณ์จากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง การรุกธุรกิจเหล้า สู่การทุ่มทุนใหญ่ 4,000 ล้าน เสิร์ฟเบียร์ 2-3 รายการ เขย่าบัลลังก์เจ้าตลาด
นับเป็นอีกก้าวใหญ่ของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด หรือเจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป ซึ่งตลอดเส้นทางการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลัง “ท้าชน” ยักษ์ในตลาด จนฝ่าการแข่งขัน หาช่องทางการเติบโต
ล่าสุด เตรียมควักเงินลงทุนก้อนโตในรอบ 6 ปี ด้วยการควักเงินราว 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างไลน์การผลิตน้ำเมาสีอำพันหรือ “เบียร์” และเตรียมเปิดตัวเข้าทำตลาดในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566
“เป็นการลงทุนใหญ่เกือบเท่าการเปิดโรงงานเหล้าที่จังหวัดชัยนาท” เสถียร กล่าว และย้อนภาพการลงทุนโรงงานเหล้าเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ด้วยเม็ดเงินกว่า 3,000 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ 816 ไร่ สร้างโรงงานเพื่อผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจร ประเดิมสุราขาว "ข้าวหอม” ออกสู่ตลาด ปัจจุบันสามารถฝ่าวงล้อมยักษ์ ทำเงินเติบโตปีละ 50%
การเปิดตัว “เบียร์” ปลายปี แม้เจ้าตัวจะบอกว่าเน้นเจาะตลาดทุกเซ็กเมนต์ แต่น้ำหนักจะอยู่ในตลาดบน ส่วนแบรนด์มีความเป็นไปได้ในการต่อยอด “คาราบาวแดง” หรือ “ตะวันแดง” ซึ่งธุรกิจภายใต้ เจ้าพ่อเสถียร มีทั้ง “โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง”
ส่วนบริวมาสเตอร์ ส่งตรงจากเยอรมัน เพื่อตอกย้ำเจ้าแห่งตลาดเบียร์ ต้องยกให้ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองเบียร์” และสินค้าจะมีทั้งอยู่ในบรรจุภัณฑ์ “ขวดแก้ว” และ “กระป๋อง”
โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงถือเป็น “ฐานทัพ” น้ำเมาสีอำพันอันยอดเยี่ยมของ เสถียร เพราะนอกจากจะเป็นต้นน้ำในการผลิตเบียร์สด หลากลายรสชาติ หลากสไตล์ เช่น โรเซ่ ไวเซ่นส์ฯ หรือรวมๆมีราว 10 รสชาติ ออกมาเสิร์ฟผู้บบริโภคกลุ่มเป้าหมาย
การมีร้านดังกล่าวยังเป็น “ช่องทางจำหน่าย” ที่ทำให้รู้ความต้องการ พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายด้วย ยิ่งกว่านั้น ร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯ หรือ On-Premise ถือเป็นช่องทางหลักในการค้าขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
การทำตลาดสุรา โดยเฉพาะ “สุราสี” ที่บริษัทมีทั้งเทนโดะ ยังมีโซจู ยี่ห้อ “แทยัง” การจะขายสินค้าสร้างการเติบโต On-Premise คือหัวใจสำคัญ ทว่า การจะขายผ่านช่องทางดังกล่าว “เบียร์” คือสินค้าหลัก ที่ร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯ นิยมขาย ดังนั้นเมื่อ “ขาด” น้ำเมาสีอำพันพระเอก ทำให้ “อำนาจต่อรอง” ทางการค้า “ลด” บริษัทจึงต้องรับมาและแก้โจทย์ ด้วยการลงทุนใหญ่ 4,000 ล้านบาท ผลิตเบียร์สู่ตลาดนั่นเอง
การลงทุนดังกล่าว บริษัทสามารถมีกำลังการผลิตเบียร์ราว 400 ล้านลิตรต่อปี แต่ผลิตขั้นแรกราว 200 ล้านลิตรต่อปี
ขณะที่ตลาดเบียร์ มีมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท หรือเชิงปริมาณราว 2,000 ล้านลิตร คาดการณ์หลังบริษัทเสิร์ฟสินค้าเข้าทำตลาดจะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโต ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคในยุคดิจิทัลรับรู้สินค้า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น จึงมีทางเลือกและรู้ว่า ต้องบริโภคหรือไม่ต้องบริโภคสินค้าแบรนด์ที่มีเท่านั้น
โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
“ผู้บริโภคเปิดรับสินค้าทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น อย่างตอนเราทำเหล้าข้าวหอมสร้างยอดขายเติบโตปีละ 50% บริษัททำกำไรเกือบพันล้านบาทแล้ว ดังนั้นเราเข้ามาตลาดเบียร์น่าจะเติบโต”
สำหรับเส้นทางธุรกิจของ “เจ้าพ่อเสถียร” ล้วนเป็นเกมต่อกรยักษ์ใหญ่ หรือมุ่งเป็นแจ๊ค ผู้ล้มยักษ์ แต่มิติของเสถียรมองว่าการแข่งขันในสมรภูมิการค้า มีอยู่แล้ว การโดดสู่สนามแต่ละครั้งไม่คิดว่าจะต้องแข่งขันกับ “ใคร” แต่มอง “โอกาส” เป็นสำคัญ
'เสถียร' ทุ่มทุนลุยธุรกิจสุราชนยักษ์
'ช้าง' เขย่าบัลลังก์ 'สิงห์' เร่งโค่นผู้นำตลาดเบียร์
'เสถียร' เบ่งอาณาจักรสู่ 'แสนล้าน'
“ถ้าคิดว่าแข่ง อาจกลัวเขา(คู่แข่ง)ก่อน ตอนทำสุรามองว่าตลาดในประเทศจะมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวเหรอ น่าจะมีโอกาสให้กับเราเช่นกัน หรือตอนทำค้าปลีกซีเจ ไม่รู้ว่าคนอื่นทำยังไง แต่เราซื้อกิจการซีเจ มาแล้ว พอเห็นโอกาส จึงต่อยอดทำร้านถูกดี พลิกโชห่วยให้รวย โดยใช้เงินทุน เทคโนโลยี การตลาดไปช่วย”
อย่างไรก็ตาม โจทย์การทำ “เบียร์” ในขณะนี้คือการตั้ง “ราคาขาย” จะเป็นเท่าใด
“พอเราทำเหล้า เป็นไฟต์บังคับให้ต้องทำเบียร์ เพราะถ้าไม่มีเบียร์ โอกาสโตยาก เนื่องจากเหล้าสี เทนโดะ วิสกี้ หรือแทยังโซจู ต้องขายใน On-Premise แต่ช่องทางเหล่านี้ขายเบียร์เยอะสุด เราต้องทำเบียร์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง”
ขุมพลังธุรกิจ-แบรนด์ ก่อนขึ้นชก 'สิงห์-ช้าง' ชิงตลาดเบียร์
สำหรับภาพรวมตลาดเบียร์มูลค่า "แสนล้าน" กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ของตระกูล "ภิรมย์ภักดี" มีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากมาย เช่น สิงห์ ลีโอ มายเบียร์ สโนวี่ฯ ยังเป็น "ผู้นำ" โดย "ลีโอ" มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ขณะที่ ไทยเบฟเวอเรจของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" มีทั้งเบียร์ช้าง ช้าง เอสเปรสโซ ลาร์เกอร์ เฟดเดอร์บรอย อาชาฯ มีส่วนแบ่งตลาด "รดต้นคอ" เบอร์ 1 เพราะช่องว่างหรือส่วนต่าง "แคบสุด" ในรอบ 13 ปี ขณะที่ตลาดพรีเมี่ยม "ไฮเนเก้น" ยังยืนหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดมากสุด
เมื่อหน้าใหม่ท้าชิง ต้องติดตาม ผลลัพธ์ การเติบโตจะเป็นอย่างไร จะชน "สิงห์-ช้าง" สูสีแค่ไหน เพราะเบอร์ใหญ่ คงไม่ยอมให้ใครโค่นบัลลังก์ง่ายๆ