ผู้บริโภควอนรัฐ-เอกชน ตรึงราคาสินค้า เทรนด์แรงปี 66 เป็นหนี้-จ่ายทีหลัง
นาทีนี้ประชาชนต้องการให้รัฐ-เอกชน หาทางตรึงราคาสินค้า บรรเทาความเดือดร้อน ถึงแม้ผู้บริโภคจะเผชิญภาวะข้าวของราคาแพง แต่การมีชีวิตอยู่ยังต้องกินต้องใช้ และสินค้าที่โดนใจบางครั้งไม่เคยรอผู้ซื้อ ทำให้เกิดพฤติกรรม ซื้อก่อน เป็นหนี้จ่ายทีหลัง
มายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร ในเครือกรุ๊ปเอ็ม เปิดแนวโน้มหรือเทรนด์ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจในปี 2566 ซึ่งจะมีผลต่อการสื่อสารและทำการตลาดของแบรนด์สินค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
หลังโควิดคลี่คลาย สถานการณ์เศรษฐกิจเห็นภาพชัดขึ้นว่าทั้งโลกอยู่ใน “ภาวะถดถอย” หรือ Recession แต่ประเทศไทยยังมีสัญญาณการรีบาวด์ จากท่องเที่ยวฟื้นตัว การบริโภค การลงทุนภาคเอชนที่เคลื่อนการขยายตัวของจีดีพี เป็นต้น
ขณะที่ 6 พฤติกรรมผู้บริโภคต้องจับตาปีนี้ ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการแผนกวางแผนกลยุทธ์ มายด์แชร์ ประเทศไทย ฉายภาพรวมจะเห็นผู้คนใส่ใจตัวเอง และปรับตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยกลับมาอีกครั้ง หลัง 2-3 ปีเหมือนอยู่ในโหมดจำศีล เสียสละตัวเองเพื่อ “รัดเข็มขัด” เพื่อต่อกรกับโรคระบาด
สำหรับเทรนด์แรกคือการจับจ่ายใช้สอยแบบชักเย่อ(Tug of wall spending) ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเช่นนี้ เพราะมองตัวแปร “เศรษฐกิจ” ยังไม่ดีขนาดที่จะกลับมาใช้จ่ายคึกคัก แต่จะให้ “ประหยัด” ต่อไปอีก หรือ “หยุดใช้จ่าย” คงไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะวิกฤติโควิดเสียสละมามากแล้ว
ทว่า แนวทางการใช้เงินจะ “ชาญฉลาด” ยิ่งขึ้น พฤติกรรมการซื้อสินค้าจะมองหาแบรนด์ที่มีความ “คุ้มค่า” และอาจเป็นแบรนด์ที่ “ราคาต่ำลง” เช่น สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของห้างร้านต่างๆ
“วันนี้เงิน 100 บาทหรือ 1,000 บาท ไม่สามารถซื้อสินค้าได้มากเหมือนในอดีต ดังนั้นเกมของความคุ้มค่า หรือ value equation game จะมีผลต่อการตัดสินใจจองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการ”
ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าเผชิญภาวะ “ต้นทุนพุ่ง” จนหลายแบรนด์ต้องขยับราคาขายต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคเกิดข้อเรียกร้องจาก “ภาครัฐ” และฝั่งเอกชนผู้ผลิตให้ช่วยกัน “ตรึงราคา” ในต่างประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐฯ ช่วงเวลาสำคัญอย่างเทศกาลยิ่งใหญ่ต่างๆ ได้ทำแคมเปญสินค้าราคาเดียวกับปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าสำหรับการเฉลิมฉลอง สร้างโมเมนต์แห่งความสุขได้ต่อเนื่อง
“สิ่งที่ผู้บริโภคมองหาคือแบรนด์มีส่วนช่วยทำให้เงินที่ใช้จ่ายมีมูลค่าขึ้นอย่างไรได้บ้าง เช่น การตรึงราคาสินค้า”
นอกจากนี้ การใช้จ่ายจะเห็นพฤติกรรมอยู่เพื่อวันนี้ ยอมจ่าย(หนี้)ภายหลัง หรือ Live for Today, Pay(debt) Later เนื่องจากทุกคนมีกิเลสและความต้องการบริโภควันนี้ เงินเดือนออก ต้องกินต้องใช้ แต่เศรษฐกิจท้าทายทำให้เกิดความย้อนแยง เพราะสินค้าบางอย่างไม่ได้รอลูกค้าเสมอ ใน 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น
เทรนด์ดังกล่าวจึงเห็นเทคโนโลยีการเงิน ซื้อวันนี้ จ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later : BNPL) คว้าสร้างโอกาสโต และอนาคตคาดการณ์ปี 2569 จะโตถึง 260%
เทรนด์รักสุขภาพ : การใส่ใจตัวเองไม่แค่ร่างกายฟิต แข็งแรง กินอยู่ดี แต่สุขภาพจิตต้องดีด้วย หากสินค้าตอบสนองความต้องการได้ย่อมเพิ่มโอกาสสร้างยอดขาย เช่น ผลิตภัณฑ์แพลนท์เบส ตอบเทรนด์สุขภาพและสร้างความยั่งยืนให้โลก
“เทรนด์โลกพบว่าผู้บริโภค 70% ให้ความสำคัญกับการรักษาร่างกายและจิตใจให้ดี”
การมองหาประสบการณ์ที่ดีจากแบรนด์ : ที่ตอบโจทย์เฉพาะแต่ละบุคคลมากขึ้น ซึ่งการเก็บข้อมูลช่วยให้เชื่อมต่อผู้บริโภคได้แม่นยำ เพิ่มความสะดวกสบาย ยกระดับชีวิตให้ลูกค้าดีขึ้น
ยุคการบริโภคอย่างชาญฉลาด : โดยผู้บริโภคยุคนี้ห่วงหลายมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม ความภาคภูมิใจในท้องถิ่น ความเห็นต่าง การกลั่นแกล้ง ฯ จึงพร้อมทำหน้าที่สอดส่อง และ “ตรวจตรา” แบรนด์ที่ไม่ตระหนักในเรื่องดังกล่าว ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ ระบุคนไทยมองหาทริปเที่ยวในประเทศ 48% แม้การเปิดประเทศทำให้คนเที่ยวต่างแดนได้ก็ตาม
การแสดงพลังในฐานะผู้บริโภค : ปัจจุบันเสียงของลูกค้ามีความสำคัญกับแบรนด์มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ สร้างประสบการณ์ที่ดี ตัวอย่าง ยูนิลีเวอร์ เปิดกว้างให้ผู้บริโภคมีส่วนแนะนำนวัตกรรม ไอเดียต่างๆ เมื่อต่อยอดสู่ธุรกิจยังได้รับผลตอบแทนกลับไป
การหลอมรวมทุกอย่างเข้ากับโลก : ปี 2565 ถือเป็นการ “ซ้อมใหญ่” เพื่อกลับสู่การใช้ชีวิตหลังโรคระบาด และปี 2566 คนกลัวไม่ได้ใช้ชีวิต จึงพร้อมออกไปสัมผัสทุกประสบการณ์ ซื้อสินค้าจริง แต่การทำตลาดแบรนด์ต้องผสานโลกจริงและโลกดิจิทัลให้ตื่นเต้นตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากขึ้นอข้อมูลยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า
- คนไทย 71% ต้องการกลับไปใช้ชีวิตเหมือนก่อนโควิด
- ชาวอาเซียน 50% ต้องการเดินทางในอีก 6 เดือนข้างหน้าเชื่อมต่อโลกกว้าง เพิ่มพูนประสบการณ์หลายมิติ
- 65% ต้องการเที่ยวจริงไม่แค่ผ่านหน้าจออีกต่อไป