"วันสตรีสากล" 8 มีนาคม เปิดลิสต์ "นักธุรกิจหญิง" ที่ร่ำรวยที่สุดในไทย
ต้อนรับ "วันสตรีสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ชวนส่อง 5 อันดับ "นักธุรกิจหญิง" ที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองไทย ทรัพย์สินอู้ฟู่หลักหมื่นล้าน!
วันสตรีสากล ถือเป็นวันสำคัญต่อผู้หญิงทั่วโลก และเป็นวันที่ทุกคนร่วมเฉลิมฉลองให้กับศักยภาพของผู้หญิงเก่งในสายงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาย "นักธุรกิจหญิง", นักการเมืองหญิง, นักวิทยาศาสตร์หญิง, ตำรวจหญิง, นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังย้ำเตือนให้รำลึกถึงเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องสิทธิ และการเพิ่มค่าจ้างให้แก่ “แรงงานหญิง” ในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเหตุสะเทือนใจเกิดขึ้นคือ ในขณะที่พวกเธอออกมารวมตัวกันเพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิ มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ ทำให้มีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหล่าแรงงานหญิงก็ตระหนักและรับรู้ถึงสิทธิอันพึงมีของตนเองมากขึ้น เกิดการประท้วงของแรงงานหญิงในโรงงานหลายแห่งทั่วอเมริกาและยุโรป
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อที่ประชุม “สมัชชาสตรีสังคมนิยม” ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของกรรมกรสตรี คือ ให้ทำงานน้อยลงเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน, ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย, ให้สวัสดิการคุ้มครองแรงงานสตรีและแรงงานเด็ก
จากนั้นเป็นต้นมา ผู้หญิงก็มีสิทธิในการทำงานหลากหลายอาชีพมากขึ้น และได้รับค่าแรงเทียบเท่าผู้ชาย นำไปสู่การเปิดศักยภาพและความสามารถของผู้หญิงทั่วโลกที่ไม่ด้อยไปกว่าใคร
ปัจจุบันนี้จะเห็นว่าสุภาพสตรีสามารถเป็นผู้นำที่มีความสามารถอยู่ในขององค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมถึงบทบาทของนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นทั่วไปในยุคนี้เช่นกัน สำหรับประเทศไทยเองก็มี “นักธุรกิจหญิง” ที่เก่งกาจ มากความสามารถ และมีศักยภาพไม่แพ้ผู้ชาย แถมยังทำรายได้มหาศาลหลักหมื่นบาท!
จากข้อมูลการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 โดย ForbesThailand พบว่า เศรษฐีนีที่ร่ำรวยอู้ฟู่ที่สุดในเมืองไทย 5 อันดับแรก ได้แก่
- อันดับ 1 ดาวนภา เพ็ชรอำไพ : มูลค่าทรัพย์สิน 7.22 หมื่นล้านบาท
“ดาวนภา เพ็ชรอำไพ” ทำธุรกิจร่วมกับสามี “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” มาตั้งแต่ต้น ทั้งคู่เป็นเจ้าของบริษัทสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นั่นคือ “บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล” ซึ่งธุรกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2561 นับเป็นปีทองของบริษัท ด้วยรายได้แตะ 1.04 หมื่นล้านบาท เติบโต 39.42% และกำไรสุทธิ 3.7 พันล้านบาท เติบโต 48.46%
ทั้งนี้ สองสามีภรรยาได้รับเรื่องให้ติดในทำเนียบเศรษฐีใจบุญแห่งเอเชียประจำปี 2562 อันเนื่องจากการสนับสนุนเงินและแรงให้กับวงการด้านการศึกษาและสาธารณสุข
- อันดับ 2 Nishita Shah : มูลค่าทรัพย์สิน 4.57 หมื่นล้านบาท
ทายาทสาวของ “Kirti Shah” เจ้าของบริษัทขนส่งทางทะเล ผู้บริหาร GP Group ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2532) นิชิตา ชาห์ เป็นทายาทรุ่น 3 ของนักธุรกิจชาวอินเดียที่เข้ามาทำกิจการในไทย
โดยเธอเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวซึ่งทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่บริษัทเดินเรือ ยา อาหารเสริม ก่อสร้าง พลังงาน เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ อะลูมิเนียม โรงแรม ส่งออกสินค้าเกษตร นายหน้าประกันภัย ไปจนถึงซอฟต์แวร์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว
ปัจจุบัน Nishita ยังคงเล็งหาธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจเพื่อเข้าไปลงทุน โดยเธอมีความสนใจในธุรกิจยา สุขภาพ และการศึกษา เป็นหลัก แต่ก็เปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพด้านอื่นเช่นกันหากมีความน่าสนใจ
- อันดับ 3 ศุภลักษณ์ อัมพุช : มูลค่าทรัพย์สิน 3.52 หมื่นล้านบาท
ราชินีค้าปลีก ศุภลักษณ์ อัมพุช คือผู้นำหญิงของ เครือเดอะมอลล์ เชนค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ อาณาจักรค้าปลีกของตระกูลสร้างรายได้ให้กว่า 5.8 หมื่นล้านบาทในปี 2561
เครือเดอะมอลล์บริหารศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือ สยามพารากอน และ เอ็ม ดิสทริค จุดหมายปลายทางแห่งการช็อปปิ้งระดับลักชัวรีซึ่งประกอบด้วย ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และ ดิ เอ็มสเฟียร์ ซึ่งจะมีศูนย์รวมศิลปะและการแสดงขนาดใหญ่อยู่ภายใน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
ศุภลักษณ์ยังวางเป้าหมายให้เครือเดอะมอลล์ทำยอดขายแตะ “แสนล้านบาท” ให้ได้ภายใน 6 ปี (ประมาณปี 2566-2567) ท่ามกลางแรงกดดันจากเทคโนโลยีที่ชhอปปิ้งออนไลน์ ที่กำลังไล่บี้ธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก อีกทั้งยังมีแผนลงทุนศูนย์การค้าแห่งใหม่ “แบงค็อก มอลล์” มิกซ์ยูสมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท บนที่ดินกว่า 100 ไร่ บริเวณสี่แยกบางนา ที่มีเจ้าสัว ชาลี โสภณพนิช เป็นหุ้นส่วน
- อันดับ 4 ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ : มูลค่าทรัพย์สิน 3.25 หมื่นล้านบาท
เธอเป็นหัวเรือใหญ่ของ “คาราบาวกรุ๊ป” ซึ่งรั้งอันดับสองในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในไทย จุดเด่นที่น่าสนใจคือ คาราบาวกรุ๊ปได้เป็นสปอนเซอร์ในการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้หุ้นของคาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG เป็นที่สนใจในชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคชาวอังกฤษของคาราบาวอยู่ในกลุ่ม 25-34 ปี ซึ่งเป็นสัดส่วนมากถึง 50% ของประชากรทั้งหมด
สำหรับณัฐชไม แยกตัวออกมาจากธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินของครอบครัว เพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับเสถียร ถัดมาในปี 2542 ได้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ซึ่งเป็นทั้งโรงเบียร์ขนาดเล็กและร้านอาหาร ถัดมาอีก 2 ปี ทั้งคู่จับมือเป็นพันธมิตรกับ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดัง เพื่อเจาะตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
- อันดับ 5 สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ : มูลค่าทรัพย์สิน 2.5 หมื่นล้านบาท
เธอเป็นประธานกลุ่ม “ไทย ซัมมิท” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ ที่ก่อกำเนิดจากร้านรับทำเบาะมอเตอร์ไซค์ของ 2 พี่น้อง สรรเสริญ จุฬางกูร และ พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ สามีผู้ล่วงลับของสมพร ร่วมกันสร้างแล้วค่อยแยกกันโต สร้างอาณาจักรชิ้นส่วนยานยนต์ของตัวเองมูลค่านับหมื่นล้านบาท
ไทยซัมมิทกรุ๊ป ได้ทำสัญญาเป็นผู้ผลิตตัวถังรถยนต์น้ำหนักเบา เทคโนโลยีที่ไทยซัมมิทกรุ๊ปพัฒนาขึ้นมาเองเพื่อส่งมอบให้กับ Tesla inc. บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา สำหรับใช้เป็นโครงสร้างรถยนต์ Tesla ในโมเดล 3
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นผลสำรวจนักธุรกิจหญิงที่ร่ำรวยที่สุดในไทยในปี 2565 ที่ผ่านมาเท่านั้น คงต้องติดตามดูอีกครั้งว่าในช่วงกลางปี 2566 จะมีใครหลุดอันดับไป หรือมีเศรษฐีนีหน้าใหม่คนไหนเข้ามาติดอันดับเพิ่มบ้าง เราจะรายงานให้ทราบกันในครั้งต่อไป
--------------------------------------
อ้างอิง : ForbesThailand (ข้อมูล ณ ปี 2565)