สูตรสำเร็จ “ยำยำช้างน้อย” ตำนานบะหมี่ฯต้ม กลายเป็น “สแน็ก”
"ยำยำ" บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรกที่ออกสู่ตลาดในประเทศไทย โตแกร่งยืนเป็นเบอร์ 2 ของตลาด แต่อีกแบรนด์ที่พลิกวงการบะหมี่ฯ สร้างตำนานให้เป็น "สแน็ก" ต้องยกให้ "ยำยำช้างน้อย" อะไรคือความสำเร็จของแบรนด์ แม่ทัพธุรกิจมีคำตอบ
หากจะเอ่ยถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายแรกในประเทศไทย ต้องให้ผู้บุกเบิกอย่างค่ายอาหารและเครื่องดื่มอย่าง “อายิโนะโมะโต๊ะ” ที่ก่อตั้งบริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด เมื่อ 52 ปีก่อน
จากนั้นได้ผลิตบะหมี่ฯยี่ห้อ “ยำยำ” ออกสู่ตลาด สร้างการเติบโตในประเทศไทย กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของตลาดอย่างยาวนาน
ไม่เพียง “ยำยำ” เป็นสินค้าพระเอก ที่ตอบโจทย์ความอิ่มท้องและรสชาติหลากหลายถูกปากผู้บริโภคชาวไทย แต่บริษัทยังมีสินค้าบะหมี่ฯ ระดับตำนาน นอกเหนือจากมี “ยำยำ” ยี่ห้อแรก นั่นก็คือ “ยำยำ ช้างน้อย”
เมื่อ “ยำยำ” เป็นบะหมี่ฯ เสิร์ฟความกลมกล่อม และแซ่บจากหลากรสชาติ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คนรุ่นใหม่หรือนิวเจน ส่วน “ยำยำ จัมโบ้” เจาะผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย แต่จุดยืนเชิงการตลาดแบ่งช่วงอายุเป็น 18-55 ปี ขณะที่ “ยำยำ ช้างน้อย” จับกลุ่มเด็กอายุ 6-12 ปี
ตำนานบะหมี่ฯขบเคี้ยว
ทว่า ความเป็นบะหมี่ฯ ของ “ยำยำ ช้างน้อย” ซึ่งมีขนาดและประมาณ “ย่อม” เหมาะสำหรับเสิร์ฟเด็กๆให้ต้มรับประทาน 1 อิ่มกำลังดี แต่สิ่งที่สร้างแบรนด์ให้เกิดการจดจำและกลายเป็น “ตำนาน” ไม่ใช่การต้มรับประทาน แต่กลับกลายเป็น “บะหมี่ฯขบเคี้ยว” หรือสแน็ก
อะไรที่ทำให้ “ยำยำ ช้างน้อย” ประสบความสำเร็จ กรุงเทพธุรกิจ ชวนไขสูตร(ไม่)ลับกับ มร.ยูจิ มิซุตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ที่ย้อนเส้นางของแบรนด์ อยู่เคียงข้างผู้บริโภคมาตั้งแต่วัยเด็ก และเติบโตด้วยกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ตั้งโรงงานผลิตบะหมี่ฯ รายแรกเมื่อกว่า 50 ปีก่อน
นอกจากนี้ เอกลักษณ์ของ “ยำยำ ช้างน้อย” คือเป็นบะหมี่ฯสแน็ก ที่เขย่ารับประทานได้ ไม่ต้องเทน้ำร้อนใส่ กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสนุกสนาน ความสุขให้กับผู้บริโภคเวลารับประทาน
ปัจจุบัน “ยำยำ ช้างน้อย” มีสินค้าทั้งสิ้น 5 รสชาติ รสข้าวโพด รสบาร์บีคิว รสโนริสาหร่าย รสต้มยำกุ้ง และรสซุปเปอร์เลมอน โดยสินค้าพระเอกขายดีสุดคือ “รสข้าวโพด”
อีกรสชาติในตำนาน ยกให้ “ออริจินัล” ที่ผู้บริโภคโตมากับแบรนด์ยังคงถามหา แต่สินค้าดังกล่าว บริษัทจะนำมาทำตลาดเป็นบางช่วงบางตอนเท่านั้น อย่างล่าสุด คือออกสินค้า ลิมิเต็ด เอดิชั่น ฉลอง 40 ปีของ “ยำยำ ช้างน้อย” เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ส่วนอนาคตจะกลับมาไหม ยังต้องติดตาม
ขึ้นราคารอบทศวรรษเป็น 3.30 บาท
บะหมี่ฯ นอกจากถูกยกให้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ สินค้าอิงการเมือง ยังเป็นสินค้าถูกควบคุมราคาด้วย ซึ่งปี 2565 ผู้ผลิตบะหมี่ยักษ์ใหญ่ทุกราย ได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากต้นทุนวัตถุดิบการผลิตพุ่งแรง จากสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้องขอขึ้นราคาสินค้าหลักซอง 6 บาท เป็น 7 บาท
ชินานันท์ บุญศิริยะ
“ยำยำ ช้างน้อย” ขอขึ้นราคาด้วย จาก 3 บาท เป็น 3.50 สตางค์ แต่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไฟเขียวให้ 3.30 สตางค์
ประเด็นดังกล่าว ชินานันท์ บุญศิริยะ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจในและต่างประเทศ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด มีความกังวลใจไม่น้อยกับการตั้งราคาขายปลีกให้กับผู้บริโภค เพราะจะปัดราคาเป็น 3 ซอง 10 บาท ก็ไม่ได้ แล้วจะซื้อกันยังไง แต่ที่สุด หน้าร้านค้าปลีก ก็มีแนวทางการขายสินค้าให้กลุ่มเป้าหมายได้
“จริงๆ เอามีออพชั่นในการขอขึ้นราคาเป็นซองละ 3.50 บาท หรือ 3.25 บาท ซึ่งภาครัฐก็พยายามช่วยต่างๆ แต่สุดท้ายก็มาอยู่ที่ 3.30 บาทต่อซอง ระยะแรกห่วงเด็กๆหน้าร้านจะซื้อกันยังไง”
อย่างไรก็ตาม ก่อนขยับราคา ร้านค้ามีการซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่ากระทบตลาดระยะสั้น 2-3 เดือน จากนั้นจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขณะที่การปรับขึ้นราคา “ยำยำ ช้างน้อย” เป็น 3.30 บาท ถือเป็นครั้งแรกในรอบนับสิบปี
ปรับโฉม “ยำยำ สูตรเด็ด” ดึง “โบกี้ไลอ้อน” เพิ่มความเผ็ด!
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2565 มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท เติบโต 14% โดยเส้นเหลืองคิดเป็นสักส่วน 94% ของทั้งตลาด ที่เหลือเป็นเส้นขาว เป็นต้น โดยการโตของตลาด ส่วนหนึ่งเพราะมีการ “ขึ้นราคา” สินค้าช่วงไตรมาส 4 นั่นเอง
“โบกี้ไลอ้อน” เพิ่มความเผ็ด!ให้ยำยำ สูตรเด็ด
ปี 2565 ยังเป็นปีที่ “ยำยำ” สร้างผลงานการทำตลาดโดดเด่น มีส่วนแบ่งทางการตลาด 21.4% เป็น “เบอร์ 2” แซงคู่แข่งได้ในรอบหลายปี และค่อนข้างแข็งแกร่งด้วย
มร.ยูจิ เล่าว่า ปัจจัยที่ทำให้ “ยำยำ” มีส่วนแบ่งทางการตลาดรั้งเบอร์ 2 เกิดจากความสำเร็จของสินค้าหมวดพรีเมียม เติบโตขึ้น 24% สูงกว่าตลาดรวม ปีนี้จึงโฟกัสการทำตลาดเชิงรุก ทุ่มงบ 70 ล้านบาท สูงสุดรอบ 3 ปี พร้อมดึงศิลปิน “ โบกี้ไลอ้อน” เป็นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ จากก่อนหน้านี้แบรนด์เคยใช้ “ปู ไปรยา” เป็นพรีเซ็นเตอร์ราว 5 ปีก่อน
ภารกิจปี 2566 จะมุ่งขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรีเมียมทั้งแบบซองและแบบถ้วย อย่าง “ยำยำ สูตรเด็ด” มีการปรับโฉม และการสื่อสารรูปแบบใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย “นิวเจน” มากขึ้น และคาดว่าจะผลักดันยอดขายปีนี้ให้เติบโต 22% และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้แกร่งกว่าเดิม
ปีนี้ บริษัทยังมองโอกาสในการออกสินค้าใหม่เข้าทำตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะตอบโจทย์ผู้บริโภครักสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ยำยำ มีการลดปริมาณโซเดียม จนได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ด้วย
มร.ยูจิ มิซุตะ
“ปีนี้อยากให้ส่วนแบ่งการตลาดบะหมี่ฯเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มตลาดยังมีความยากลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะต้นทุน แต่บริษัทจะพยายามสร้างการเติบโตให้กลับมาเหมือนก่อนโควิดกระทบผลการดำเนินงาน”
สำหรับ “มร.ยูจิ” เข้ามาขับเคลื่อนตลาดบะหมี่ฯ ในไทยราว 2 ปี ภารกิจสำคัญนอกจากสร้างยอดขายเติบโต ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มบริษัทจะมุ่งนำเสนอคุณค่าขององค์กรให้กับลูกค้า เพื่อขจัดปัญหา(Pain point)ให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น อยากมีสินค้าที่ตอบโจทย์ความสนุกสนาน ใส่ใจสุขภาพ ต้องมอบคุณค่าเหล่านี้ให้ได้ รวมถึงการยกระดับโรงงานให้ผลิตสินค้าคุณภาพสร้างความยั่งยืนภายในปี 2573 สอดคล้องกับบริษัทแม่ “อายิโนะโมะโต๊ะ”