หวั่น ‘ซามาเนีย พลาซ่า’ ดิสรัปค้าส่ง กระทบหนัก 'รายย่อย-พ่อค้าคนกลาง’
จับตา “ซามาเนีย พลาซ่า” ปลุกกระแสดิสรัปตลาดค้าส่ง สะเทือนรายย่อย พ่อค้าคนกลาง แนะรัฐทบทวนกฎหมายเอื้อดูแลกิจการรายเล็ก หวั่นขยายทั่วมุมเมืองกระทบหนัก ด้านบิ๊กคอร์ป ทีซีซีฯ ปั้น “เออีซี เทรดเซ็นเตอร์” ค้าปลีกค้าส่งเชื่อมการค้าภูมิภาคแต่โปรเจกต์ยังไม่กระหึ่ม
การเปิดตัวของ ซามาเลีย กรุ๊ป แจ้งเกิด "ซามาเนีย พลาซ่า" โครงการค้าปลีกค้าส่งครบวงจรและใหญ่สุดในประเทศไทย เป็นที่จับตาของทุกฝ่ายจากโมเดลธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่ายโดยตรง หลากหลายและครบถ้วนทั้งของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำครัว เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์เครื่องมือช่าง
อาณาจักร ซามาเลีย พลาซ่า บนที่ดิน 200 ไร่ พื้นที่ขายกว่า 3.3 แสนตารางเมตร ทยอยเปิดบริการเฟสแรกมีพื้นที่ค้าปลีกกว่า 5 หมื่นตร.ม. 4 อาคาร รวมกว่า 500 ร้านค้า และโซนบริการ 100 ร้านค้า เฟสต่อไปจะเป็นส่วนของโรงแรม อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม
นับเป็นการลงทุนเมกะโปรเจกต์ในไทยที่จะส่งผลต่อการจ้างงานใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ แต่ผลอีกด้าน คือ การนำเข้าสินค้าจากจีนมาทำตลาดใน “ราคาต่ำ” สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมาก
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าว ว่า การเข้ามาของกลุ่มทุนใหม่ในตลาดค้าปลีกที่มีการนำสินค้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยยุคแรกๆ ช่วง 30-40 ปีก่อนที่มีการนำเข้ามาทางชายแดน ต่อมาช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นการเข้ามาเปิดหน้าร้านในสำเพ็งจนถึงปัจจุบัน เป็นการเปิดคลังสินค้าเพื่อกระจายสินค้าและเข้ามาจำหน่ายเองสินค้าโดยตรง
“ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าในกลุ่มเดียวกันจะได้รับผลเรื่องราคาสินค้า เพราะสินค้าจากจีนที่นำมาจำหน่ายโดยตรงสามารถตั้งราคาถูกกว่าได้ ด้วยศักยภาพการผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำให้รายย่อย เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบมาก แข่งขันได้ยากขึ้น และต้องปรับตัวครั้งใหญ่”
ทั้งอาจส่งผลต่อเนื่องกับการจ้างงานจำนวนมากในประเทศ และผลกระทบผู้ประกอบการไทยที่เป็น “พ่อค้าคนกลาง” หรือตัวกลางนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่าย เมื่อเปิดศูนย์กระจายสินค้าเอง ลูกค้าสามารถเลือกไปสั่งโดยตรงที่ได้ต้นทุนต่ำกว่าตลาดสำเพ็งที่มีผู้ประกอบการรายย่อยเปิดร้านจำหน่าย
"ยกตัวอย่างชัดๆ ย่านสำเพ็ง จากเดิมมีเอกชนไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่าย ต่อมามีผู้ประกอบการจีนมาเปิดหน้าร้านโดยตรงมากขึ้น รวมถึงในย่านเสือป่าที่มีกลุ่มนักลงทุนจีนมาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเกือบทั้งตึก หรือในกลุ่มผลไม้อย่างทุเรียน ก็มีกลุ่มทุนจีนมาเปิดคลังสินค้าเพื่อส่งออกโดยตรง จากที่ผ่านมาเอกชนไทยจะเป็นตัวกลางส่งออกไปจีนเป็นหลัก”
ปรับกฎหมายดูแลผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง อยากให้รัฐพิจารณาปรับแก้กฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสามารถดูแลผู้ประกอบการไทยได้มากขึ้น เช่น อัตราภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแนวทางส่งเสริมช่องทางตลาด
สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ ในระยะแรกอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ระยะต่อไปมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะสนใจไปสั่งซื้อสินค้าในแหล่งที่ขายราคาถูก ทำให้ย่านการค้าอย่างตลาดสำเพ็งในอนาคตที่อาจได้รับผลกระทบที่ผู้บริโภคเข้าไปในพื้นที่ลดลงส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เชื่อว่ายังสามารถแข่งขันได้ในตลาดด้วยรูปแบบที่แตกต่าง
ทุนจีนหลายรายสนใจรุกค้าปลีกไทย
นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า การเข้ามาของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจค้าปลีกมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ โดยผลทางลบที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้นกับผู้ประกอบการไทย แต่ผลทางบวกที่อาจเกิดการค้าใหม่ร่วมกัน และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว สิ่งสำคัญคือ การดูแลให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายที่มีอยู่
“5 ปีก่อนหน้านี้ มีกลุ่มทุนจากจีน ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนสร้างศูนย์ค้าปลีก ค้าส่ง ขนาดใหญ่มากสุดในไทย และมีขนาดใหญ่กว่า ซามาเลียด้วย พร้อมเสนอโมเดลเป็นการนำเข้าสินค้าจากจีน 60% สินค้าจากผู้ประกอบการไทย 40% แต่ได้ชะลอแผนดังกล่าวออกไปเพราะสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม”
โบ๊เบ๊สเตชั่นเผยต้องจับตาใกล้ชิด
นายสุรพงษ์ บัณฑุเศรณี กรรมการ บริษัท แผ่นดินอำพัน จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าโบ๊เบ๊สเตชั่น กล่าวว่า ผู้ประกอบการในย่านโบ๊เบ๊ ได้มีการร่วมกลุ่มของสมาคมชาวโบ๊เบ๊ เพื่อร่วมหารือในประเด็นต่างๆ โดยหากไปสำรวจพื้นที่ย่านโบ๊เบ๊ในช่วงที่ผ่านมา ที่เป็นแหล่งค้าเสื้อผ้าแฟชั่นรายใหญ่ของประเทศ มีกลุ่มทุนจากประเทศจีน ได้เข้ามาในพื้นที่ของย่านโบ๊เบ๊ โดยมาเปิดหน้าร้านเพื่อทำธุรกิจเอง แต่ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้ประกอบการดั้งเดิม แตกต่างจากย่านสำเพ็ง ที่มีผู้ประกอบการชาวจีนมุ่งเข้ามาเปิดมากกว่า ในระยะยาวจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจาก โบ๊เบ๊ ก็มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายเช่นกัน
จีนกระตุ้นลงทุนแต่ส่งผลกระทบมากกว่า
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ฉายภาพว่า การเข้ามาของทุนจีนเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทยหลายเซ็กเตอร์เกิดขึ้นมาระยะใหญ่แล้ว โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการนำเงินมาซื้อโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ นำร่องและเกิดเป็นชุมชนจีนขนาดย่อมชัดเจน คือ ย่านรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ขยายสู่ย่านเยาวราช และจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
หากวิเคราะห์ผลเชิงบวก นักธุรกิจจีนเข้ามา นำเงินมาลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน เช่น ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ เปรียบเสมือนไชน่าทาวน์ 2 ทุนจีนได้เปลี่ยนตึกร้าง หรือทรุดโทรมให้เป็นพื้นที่ค้าขาย ร้านอาหาร สร้างความคึกคักให้กับทำเลดังกล่าว
ขณะที่ผลกระทบเชิงลบซึ่งมีมากกว่านั้น การเข้ามาของทุนจีน ทำให้ค่าเช่าและราคาขายอาคารพาณิชย์ย่านดังกล่าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าผู้เช่าที่เคยทำมาหากินมา 20-30 ปี สู้ต้นทุนไม่ได้และอยู่ไม่ได้ สุดท้ายต้องล้มหายตายจากไปจาก
พลังทุนจีนเขย่าดีเวลลอปเปอร์ไทย
การเข้ามาของทุนจีนรุกคืบพัฒนาอสังหาฯ ในไทยต่อเนื่องเชื่อว่าจะเขย่าดีเวลลอปเปอร์เจ้าถิ่นอย่างแน่นอน ด้วยศักยภาพของจีนมีเงินทุนมหาศาล พัฒนาโปรเจกต์ยักษ์นับหมื่นยูนิต ยากที่ผู้ประกอบการไทยจะต่อสู้ ทว่า ปัจจุบันทุนจีน หรือบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกง รัฐบาลจีนมีกฎหมายห้ามลงทุนนอกประเทศ ส่วนไทย ยังมีกฎหมายต่างด้าวที่ควบคุมการลงทุน หรือเข้ามาต้องตั้งบริษัทในประเทศไทยมีการตรวจสอบอย่างละเอียด
"แต่หากจีนต้องการเข้ามาลงทุนในไทย หรือขยายเขตแดนการค้าลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ก็มีช่องว่างให้ทำได้ เช่น กรณีศึกษาไทยที่กำลังเผชิญทุนจีนสีเทา การใช้นอมินี หรือแต่งงานกับชาวไทย เพื่อหาช่องดำเนินธุรกิจจนได้ หากทุนจีนบุกอสังหาฯ แค่ 2-3 โปรเจกต์ในบ้านเรา ดีเวลลอปเปอร์ไทยอาจตายได้ เพราะอสังหาฯ แดนมังกรใหญ่มาก สร้างรายได้ระดับ 4 ล้านล้านบาท เทียบเท่าจีดีพีบางประเทศ”
ซามาเนียดิสรัปพ่อค้าแม่ขายไทย
กรณีทุนยักษ์ค้าปลีกค้าส่ง “ซามาเนีย” มองว่าไม่กระทบค้าปลีกเจ้าถิ่นอย่างกลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ผู้พัฒนาศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างกันชัดเจน จับคนตลาด แต่สะเทือนค้าปลีกค้าส่งอย่างย่านสำเพ็ง ประตูน้ำ พาหุรัด ที่มีการสั่งสินค้าจากจีนเข้ามาจำหน่ายในราคาต่ำอย่างแน่นอน
แต่อีกด้าน อาจเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าในไทยเลือกสินค้าได้โดยตรง จับต้องประเมินคุณภาพได้เอง ไม่ต้องเสี่ยงสั่งซื้อจากจีน ซึ่งอาจเผชิญปัญหาสินค้าไม่ตรงปก
“การเปิดบริการของ ซามาเนีย พลาซ่า ส่งผล 2 มิติ คือฝั่งผู้ส่งออกสินค้าจากจีนมาขายให้ผู้ประกอบการรายย่อยในสำเพ็ง อีกด้านยี่ปั๊วซาปั๊วของไทยเองจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ห้างค้าปลีกค้าส่งดังกล่าวแทนการนำเข้า”
ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทุนไทยเล็กใหญ่จำเป็นปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขัน ขับเคลื่อนตามกลไกตลาด เนื่องจากปัจจจุบันโลกการค้าขายไร้พรมแดน ไม่มีกำแพงภาษีใดๆ ช้อปปิงออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
“การเข้ามาของทุนจีนน่ากลัว มองทุกมิติเราสู้ไม่ได้ สุดท้ายอยู่ที่รัฐบาลจะมีนโยบายอะไรควบคุม ปกป้องธุรกิจไทย อย่างอสังหาฯ หากเข้ามา 2 ราย ไม่ต้องมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ส่วนเซ็กเตอร์การค้าขายหากผู้ประกอบการไทยปรับตัวไม่ได้ ย่อมหายจากตลาด เป็นไปตามเกมแข่งขัน เมื่อโลกเปลี่ยน จะทำการค้าแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว”
เออีซี เทรดเซ็นเตอร์ ชนยักษ์จีนได้แต่ยังไม่เกิด
แหล่งข่าววงการอสังหาฯ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาการเข้ามาของซามาเนีย พลาซ่า นอกจากเปิดห้างค้าปลีกค้าส่งใหญ่สุดในไทยย่านบางนา อนาคตอาจขยายไปยัง 4 มุมเมือง เช่น พระราม 2 เชียงใหม่ รวมถึงภาคใต้ จะยิ่งดิสรัปการค้าขายในไทยทั้งระบบ
อย่างไรก็ดี นอกจาก ซามาเนีย พลาซ่า ยังมี “เออีซี เทรดเซ็นเตอร์” ภายใต้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กิจการในเครือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี หนึ่งในทุนใหญ่ของไทย ที่พัฒนาโครงการดังกล่าวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าในอาเซียนสู่ภูมิภาค
เออีซี เทรดเซ็นเตอร์ ศูนย์ค้าส่งครบวงจรที่ใหญ่สุดในภูมิภาคใช้เงินลงทุนราว 6,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 160 ไร่ มีพื้นที่ขาย 3 แสนตร.ม. ประกอบด้วย 10 อาคาร เช่น อาหารแฟชั่น เครื่องประดับ อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์จัดแสดงสินค้า ฯลฯ
ที่ผ่านมาโครงการได้ลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับอี้อู (Yiwu) หรือ Zhejiang China Commodities City Group Co.,Ltd. (CCC Group) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดใหญ่สุดของโลกจากจีนมาเสริมแกร่งด้วย
“เออีซี เทรดเซ็นเตอร์ มีทั้งทำเลพันทิป ประตูน้ำ และอยุธยาฯ แต่โครงการยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก”