อ่วมต้นทุนไฟพุ่ง 20% สินค้าจ่อขยับราคา ภาคผลิต-บริการ เข้มมาตรการประหยัด

อ่วมต้นทุนไฟพุ่ง 20% สินค้าจ่อขยับราคา ภาคผลิต-บริการ เข้มมาตรการประหยัด

เอกชน อ่วมแบกต้นทุนค่าไฟพุ่ง 10-20% เข้มมาตราการประหยัดไฟ ปรับลดการใช้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น พร้อมเร่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปหนุนบริหารจัดการพลังงานระยะยาว

นายอัศวิน​ เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกบิ๊กซี ในเครือ บีเจซี กล่าวว่า บิ๊กซี ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นมาก โดยต้นทุนค่าไฟปรับสูงขึ้น 20%  จากการใช้เครื่องปรับอากาศและตู้แช่ต่างๆ ที่ต้องใช้ไฟจำนวนมาก 

สำหรับ ต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทไตรมาสแรกนี้ด้วย อย่างไรก็ดี บริษัทได้มุ่งนโยบายประหยัดค่าไฟ พร้อมเร่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 40 สาขาแล้ว 

"อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งค่าไฟที่สูงขึ้นกระทบต่อภาคเอกชนและทุกคนในประเทศทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาในหลายประเทศค่าไฟจะปรับขึ้นไม่มาก ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นถือเป็นต้นทุนทุกอย่างในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศ เพราะทุกคนใช้ไฟ ถ้าบริหารไม่ดี เราแพ้การแข่งขันประเทศอื่นแน่นอน"

ลดใช้ไฟ-เดินหน้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

รายงานข่าวจาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลได้เร่งปรับแผนรับมือค่าไฟที่สูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนนี้ได้มีมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า (Central’s Energy Efficiency Master Plan) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้ง จัดทำระบบปรับอากาศ โดยปรับลดเวลาใช้งานเครื่องตามเวลาการเปิดบริการศูนย์การค้า และสอดคล้องกับจำนวนผู้มาใช้บริการ 

อ่วมต้นทุนไฟพุ่ง 20% สินค้าจ่อขยับราคา ภาคผลิต-บริการ เข้มมาตรการประหยัด มีการปรับลดการเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น และปิดไฟเร็วขึ้นหลังปิดให้บริการ ปรับลดการเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่างในช่วงกลางวันให้สอดคล้องกับแสงสว่างธรรมชาติ และลดเปิดไฟในพื้นที่ลานจอดรถที่ไม่มีผู้ใช้บริการ ระบบลิฟท์และบันไดเลื่อน ปรับลดการเปิดใช้ล่วงหน้าก่อนเปิดให้บริการและปิดให้เร็วขึ้นหลังปิดให้บริการ ลดใช้พลังงานในบริษัท ปรับลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาพักเที่ยง ใช้บันไดขึ้น-ลงระหว่างชั้นแทนการใช้ลิฟท์ และเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและหลอดไฟประหยัดพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน โดยเตรียมติดตั้ง โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) และ Solar Street Light พร้อมใช้ระบบอัจฉริยะ สำหรับระบบไฟแสงสว่าง การติดตั้งฉนวนและฝ้าเสริมเพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร เปลี่ยน Chiller เป็นแบบ High Efficiency ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2593

ชี้ค่าไฟขึ้นอีกจ่อปรับราคาสินค้าใหม่

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ค่าไฟที่ปรับเพิ่มขณะนี้ยังไม่กระทบต่อบริษัทมากนัก โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับแผนรับมือค่าไฟที่สูงขึ้นด้วยการปรับแผนผลิตสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ค่าไฟทั้งในช่วงเวลากลางวันและเวลากลางคืน

"แต่ในอนาคตหากค่าไฟยังคงปรับขึ้นอีก บริษัทอาจมีการปรับแผนขึ้นราคาสินค้า แต่เป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าด้วยการออกสินค้าใหม่มาทดแทนต้นทุนที่สูงขึ้น โดยไม่ได้เป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเดิมที่มีอยู่"

อ่วมต้นทุนไฟพุ่ง 20% สินค้าจ่อขยับราคา ภาคผลิต-บริการ เข้มมาตรการประหยัด ต้นทุนพุ่ง10%ดึงลูกค้าบาลานซ์

นายสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีโรงภาพยนตร์ให้บริการแก่ลูกค้า 66 สาขาทั่วประเทศ จากสถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเฉพาะค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยบริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าหลัก 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนพยายามประหยัด และโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีรอบฉาย อาจปิดเครื่องปรับอากาศ

“เมื่อค่าไฟปรับขึ้น ทำให้เฉพาะต้นทุนค่าไฟของเราเพิ่มขึ้น 10% หน้าที่เราคือทำให้คนเข้ามาดูหนังให้มากขึ้นด้วย เพื่อทำให้ที่นั่งไม่ว่างหรือมียอดขายตั๋ว ส่วนการบริหารจัดการต้นทุน ค่าไฟฟ้า เอสเอฟฯ มีประสบการณ์ตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิดระบาด ได้ Lean ต้นทุน บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ”

ประคองสินค้าราคาเดิม

นางสาวธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี ดริ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มแบรนด์ซีทรู (C2) กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้น บริษัทพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ส่วนโรงงานผลิตน้ำดื่ม มีการติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ พัฒนาหรือใช้เครื่องจักรที่ช่วยลดพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนราคาน้ำดื่มยังยืนที่ 10 บาท หลังทำตลาดมา 1 ปี

นายจักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ค่าไฟปรับเพิ่มขึ้น ยังไม่กระทบบริษัทมากนัก ส่วนราคารองเท้านักเรียนนันยาง ยังคงจำหน่ายราคาเดิม ไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด สำหรับสินค้า 4 รุ่น อย่างนันยางคลาสสิคพื้นเขียว ราคาขายเริ่มต้น 320 บาท นันยางแฮฟฟันเจาะนักเรียนชั้นประถมอายุ 4-10 ปี ราคา 299 บาท นันยางซูเปอร์สตาร์ ไฟต์ติ้งแบรนด์เจาะคนกำลังซื้อน้อย ราคา 199 บาท และนันยางซาฟารี เจาะเด็กโต วัยนักศึกษา ราคา 299 บาท

อ่วมต้นทุนไฟพุ่ง 20% สินค้าจ่อขยับราคา ภาคผลิต-บริการ เข้มมาตรการประหยัด

โรงแรมขอมาตรการช่วยเหลือต้นทุน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า โรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องการมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนมากที่สุด โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ รองลงมาคือการควบคุมราคาสินค้าหรือวัตถุดิบ และมาตรการลดหย่อนภาษี ตามลำดับ

ขณะที่ นางสาวเมตตา บุญญฤทธิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา บางกอก พระนคร กล่าวว่า จากสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟของโรงแรมเซ็นทราฯ เมื่อเดือน มี.ค. พุ่งขึ้นไปถึง 6 แสนบาทต่อเดือน จากปกติตั้งเป้าคุมค่าไฟให้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อเดือน คาดว่าเดือน เม.ย. ค่าไฟของโรงแรมฯจะพุ่งทะลุ 7 แสนบาท

“ค่าไฟคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนทั้งหมดของโรงแรมฯ เมื่อเจอปัญหาค่าไฟพุ่ง เล็งเห็นแล้วว่าจะส่งผลกระทบ ทำให้ได้กำไรน้อยลง ทางโรงแรมฯ จึงเตรียมลงทุน 2 ล้านบาทเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าในเดือน มิ.ย.นี้ หลังประเมินแล้วว่าคุ้มทุน สามารถลดค่าไฟได้ในระยะยาวเฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน”

ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟลดค่าไฟ

นายวิกิจ กันฉาย ผู้ช่วยกรรมการผ้จัดการใหญ่ บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่ผ่านมามีการปรับราคาขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันน่าจะอยู่ 30-40% ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก แต่ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ได้เป็นสัดส่วนหลักแต่มีผลกระทบอยู่บ้างแต่ไม่มาก

อ่วมต้นทุนไฟพุ่ง 20% สินค้าจ่อขยับราคา ภาคผลิต-บริการ เข้มมาตรการประหยัด ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการรองรับด้วยการลงทุนกว่า 20 ล้านบาทในการติดตั้งโซลาร์รูฟมาเป็นพลังงานทดแทนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาทำให้ลดผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าได้มาก ในเฟสแรกลงทุนใช้ในการผลิตจากทั้งหมด 3 เฟส เหลืออีก 2 เฟสที่ต้องลงทุนเพิ่ม ปัจจุบันเข้ามาทำแทนได้ 20-30% แล้วของระบบพลังงานทั้งหมด คาดติดตั้งเสร็จปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ชูโมเดลบ้านพลังงานเป็นศูนย์

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า รายจ่ายค่าไฟฟ้าของคนไทยช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป)กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งภาคครัวเรือน อาคาร โรงงานต่างๆในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่แพงและช่วยลดภาวะโลกร้อน

โดย เสนา ถือเป็นรายแรกของอสังหาฯ ที่เริ่มบุกเบิกพลังงานโซลาร์ครบวงจรมากว่า 13 ปีศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านโซลาร์ฯ รายแรกของไทยปัจจุบันเสนาติดตั้งโซลาร์ให้ลูกบ้านทุกโครงการ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมและพื้นที่บริเวณส่วนกลางของคอนโดมิเนียม รวมทั้งสิ้น 47 โครงการ รวมมากกว่า 1,000 ครัวเรือน คิดเป็นการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอยู่ 2 แห่ง อ.วังม่วง จ.สระบุรีและโครงการโทรลุ้ยริมน้ำ จ.นครปฐม รวม 46.5 เมกะวัตต์

ในปี 2566 เสนา พร้อมต่อยอดแนวคิดสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยอัจฉริยะสมาร์ทโฮม โดยใช้โมเดล SENA HHP ZERO ENERGY HOUSE (ZEH)หรือบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ซึ่งได้โนฮาวน์จากพันธมิตรจ บริษัท ฮันคิว ฮันชินพร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป มาประยุกต์และปรับใช้กับโครงการบ้านเสนา เริ่มจากโครงการบ้านเดี่ยวย่านรามอินทรา กม.9 และบางนา-กม.29 คาดเปิดตัวต้นไตรมาส 3 มีเป้าหมายเพื่อลดภาระการใช้พลังงานให้กับลูกบ้านของเสนาได้ไม่ต่ำกว่า 20%