“คิดเผื่อ” เทคนิคเอาชนะยักษ์ใหญ่ของคนตัวเล็ก | พิกุล ศรีมหันต์
“Customer comes first” คำง่าย ๆ ที่ทุกคนคงเคยได้ยิน และบางครั้งเรายังพูดกันบ่อย ๆ เป็นการย้ำเตือนระลึกถึงเป้าหมายของการทำธุรกิจ หากฟังผ่าน ๆ แล้ว หลายคนคงคิดว่าลูกค้าอยากได้อะไร เราก็เพียงแค่เลือกสรรสิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ปรับเปลี่ยนกันไปมาตามความต้องการในแต่ละยุคสมัยแค่นั้นก็เพียงพอ ซึ่งบางครั้ง การรอปรับตามความต้องการที่เกิดขึ้นก็อาจไม่เท่าทันกับเวลาและคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ที่พร้อมกระโจนเข้าหาโอกาสในตลาดก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบางตลาด บางอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นรายใหญ่สายป่านยาว พร้อมที่จะลงทุนและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
ฟังแบบนี้แล้ว SME อาจรู้สึกหมดหวังไปตาม ๆ กัน แต่ที่เกริ่นมานั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะยังมี SME เลือดนักสู้หลายต่อหลายคนที่พลิกเกมด้วยการใช้ความคล่องตัวที่มี มาเป็นแต้มต่อในการเดินหมาก
เช่นเดียวกับคุณ ธนันต์ ลีละยูวะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พี.วี.ที.แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่ได้ลองถอดรหัสความต้องการของลูกค้าด้วยกลยุทธ์ “คิดเผื่อ” ที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินมาได้อย่างเก๋าเกมในทุก ๆ วิกฤตที่ผ่านเข้ามา
ด้วยสินค้าหลักของธุรกิจคือสารถนอมอาหารสัตว์ ซึ่งจะส่งต่อมายังผู้บริโภค ความท้ายทายจึงเป็นเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัย เพราะเป็นสารที่ต้องใส่ผสมด้วยวิธีการต่าง ๆ ไปกับอาหารที่ไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ตามฟาร์มต่าง ๆ
ด้วยกรรมวิธีในการผลิต จำเป็นต้องพึ่งพาหลายปัจจัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทั้งเรื่องของเวลาในการใช้งาน ความเข้มข้นของสารที่ต้องได้ตามสัดส่วนที่กำหนด วิธีการใช้ในแต่ละประเภท รวมไปถึงความชำนาญของผู้ใช้งานอีกด้วย
ธนันต์ ลีละยูวะ
คุณธนันต์จึงให้ความสำคัญกับการปรับสูตรและการทดสอบผ่านห้องแล็บ จนได้สินค้าที่ตรงตามมาตรฐานครอบคลุมเรื่องความปลอดภัยทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงที่กินอาหารเข้าไป บุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสารต่าง ๆ ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารยุโรป Fami-QS เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจกับสิ่งที่ได้รับ
นอกจากนี้ยังได้คิดไปถึงเรื่องการผลิตของลูกค้า โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์เครื่องจ่ายน้ำยาที่เข้ามาช่วยในเรื่องของความแม่นยำให้กับลูกค้า และการบริการหลังการขาย
ฟังดูแล้วคงเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ทั่วไป ที่มีสินค้าและแตกไลน์สินค้าให้ครอบคลุม แต่ด้วยความชอบและความสนใจส่วนตัวทางด้านการบิน
คุณธนันต์จึงได้นำแนวคิดต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบเครื่องจ่ายน้ำยาผนวกกับความเป็นดิจิทัล และการเก็บข้อมูลจากการใช้งาน เพื่อช่วยให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การออกแบบดังกล่าวเป็นเหมือนการจัดตั้ง Infrastructure ที่รองรับและพร้อมเติมฟังก์ชันใหม่ ๆ ลงไปได้เรื่อย ๆ เพราะได้คิดเผื่อทุก ๆเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งความผิดปกติล่วงหน้า เพื่อแก้ไขก่อนเครื่องอาจหยุดการทำงานซึ่งอาจมีผลต่อสายการผลิต หรือวิธีการจ่ายน้ำยาที่สามารถตรวจสอบที่มาเพื่อให้การใช้งานเกิดประสิทธิผลตามที่วางไว้
การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สามารถ Remote แจ้งปัญหาและการแก้ไขให้กับผู้ใช้ปลายทางได้ รวมถึงการส่งรายงานในแต่ละวันตามช่องทางต่าง ๆ ที่เลือกไว้ตามพฤติกรรมการใช้เครื่องมือสื่อสารของคนแต่ละประเภท ทั้งการแจ้งเตือนทุกเช้าผ่านอีเมล หรือแจ้งเตือนเป็นระยะผ่านทางแอปพลิเคชัน Line
จึงส่งผลให้ พี.วี.ที. สามารถดำเนินการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหนือความคาดหมายในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา
อีกทั้งยังได้ใช้จุดแข็งบวกกับความใส่ใจลูกค้า โดยนำข้อมูลที่มีอยู่ มาใช้เพื่อการวิเคราะห์ความล่าช้าของการขนส่งแต่ละจุดหมายปลายทางสำหรับลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งช่วยปรับแผนการส่งออกให้เหมาะสมตามสถานการณ์ มีแผนสำรองรองรับ และทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าตรงตามกำหนด ไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตในช่วงโควิดอีกด้วย
การคิดแบบ Customer Centric คงไม่ใช่แค่การคิดว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่คงเป็นการคิดต่อว่าเราสามารถเพิ่มเติมอะไรให้กับลูกค้าหรือลูกค้าต้องการอะไรอีกในอนาคต และดึงจุดเด่นในเรื่องของความหยืดหยุ่นของขนาดธุรกิจมาใช้ในการปรับตัว
พร้อมทั้งเลือกผสมผสานเทคโนโลยีให้เข้ากับองค์กร เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องที่เรา “คิดเผื่อ” ให้ออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีศักยภาพในการทำธุรกิจ.