“ราคา” ของความไม่รู้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“ราคา” ของความไม่รู้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“สภาพแวดล้อมของการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม” เป็นสิ่งที่สามารถถูกสร้างขึ้นได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญหลักที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ต้องถือปฏิบัติผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า  (สำนักงาน กขค.) จัดให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวนี้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดสัมมนา การจัดเสวนากลุ่มย่อย (Focus Group) การจัดฝึกอบรม การทำสื่อเผยแพร่ในหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การตระหนักรู้ รวมไปถึงการย้ำเตือนให้กับผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ อย่าได้กระทำพฤติกรรมทางธุรกิจใดที่เป็นการสร้างอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม หรืออย่าได้กระทำพฤติกรรมทางธุรกิจใดที่เป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ได้กำหนดบทลงโทษทั้งทางอาญาและทางปกครอง ให้มีความเหมาะสมกับความผิดในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงมิใช่น้อย

ทางสำนักงาน กขค. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับภาคธุรกิจ เพื่อมิให้กระทำความผิด เพราะคำอ้างว่า “ไม่รู้กฎหมาย” ไม่สามารถถูกใช้อ้างอิงเพื่อให้พ้นผิดได้หากมีการกระทำความผิดขึ้น โดยโทษทางอาญาและโทษทางปกครองที่ถูกบัญญัติไว้ สามารถสรุปได้ดังนี้

1.โทษทางอาญา มีพฤติกรรมที่ต้องรับโทษหากกระทำผิด ได้แก่

1) การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม มุ่งเน้นการกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และใช้อำนาจที่มีอยู่กระทำพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อราคาสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือสร้างเงื่อนไขใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้า และ

2) การตกลงร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดเดียวกัน ที่ทำการตกลงร่วมกันกำหนดราคา ปริมาณ แบ่งท้องที่ขาย หรือสมคบกันฮั้วประมูล โดยผู้ฝ่าฝืนจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ราคา” ของความไม่รู้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

2.โทษทางปกครอง มีพฤติกรรมที่ต้องรับโทษหากกระทำผิด ดังนี้

2.1.การควบรวมธุรกิจ

(1) การแจ้งผลการรวมธุรกิจที่อาจลดการแข่งขัน ซึ่งกำหนดให้ต้องแจ้งให้ กขค. ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจ หากไม่แจ้งผลการรวมธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ต้องได้รับโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทต่อวัน

(2) การขออนุญาตรวมธุรกิจ สำหรับการควบรวมธุรกิจที่ส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดจะต้องขออนุญาตการรวมธุรกิจต่อ กขค. ก่อนการควบรวมธุรกิจ ซึ่งหากไม่ขออนุญาตจะต้องได้รับโทษปรับไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรม

2.2.การตกลงร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ตลาดเดียวกัน เป็นการตกลงร่วมกัน ที่ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง หากมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษปรับในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

2.3.พฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า ได้แก่

(1) การกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

(2) การใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม

(3) การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรม และ

(4) การกระทำในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งหากมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจะมีโทษปรับในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

“ราคา” ของความไม่รู้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

2.4.การตกลงร่วมกันกับบริษัทในต่างประเทศที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งหากมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจะมีโทษปรับในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิดเช่นกัน

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับทำความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการแข่งขันทางการค้า (Competition Culture) ที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดเลือกที่จะเพิกเฉย ไม่ยอมทำความเข้าใจ หรือไม่ปฏิบัติตามพฤติกรรมต้องห้ามใดๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้ประกอบการรายนั้นๆ ย่อมต้องยอมรับความเสียหายที่เป็นราคาของความไม่รู้ ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งมูลค่านั้นสูงเกินกว่าที่เป็นตัวเงินเสียด้วยซ้ำ!!