‘ไทยเวียตเจ็ท’ เปลี่ยนเครื่องบินยกฝูง สยายปีกโบอิง 50 ลำใน 5 ปี รุกต่างประเทศ
'ไทยเวียตเจ็ท' เปลี่ยนเครื่องบินยกฝูง จากค่ายแอร์บัสสู่ 'โบอิง B737 Max' พร้อมขยายสู่ 50 ลำในปี 71 ลุยกลยุทธ์ขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศ รับยุคแอร์ไลน์ฟื้นตัวเต็มร้อยหลังจบวิกฤติโควิด เผยยึดตำแหน่ง 'อันดับ 2' กอดส่วนแบ่งตลาดบินในประเทศไว้แน่นและนานขึ้น
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า ไทยเวียตเจ็ทมีแผนเปลี่ยนฝูงบิน (Re-fleet) ทั้งหมด จากเครื่องบินแอร์บัส (Airbus) ซึ่งปัจจุบันให้บริการรุ่น A320 และ A321 รวม 18 ลำ เปลี่ยนเป็นเครื่องบินโบอิง (Boeing) ตระกูล B737 Max ทั้งหมด ตามแผนขยายฝูงบินโบอิงเพิ่มเป็น 50 ลำในสิ้นปี 2571 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
โดยจะทยอยเปลี่ยนฝูงบินในช่วง 3 ปีแรก เริ่มที่ปี 2567 จำนวน 6 ลำก่อนในเดือน ก.ค. จากนั้นปี 2568 จำนวน 15 ลำ และปี 2569 จะรับมอบ 15 ลำ ทั้งนี้ มั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้ หลังค่ายโบอิงได้อัปเดตซอฟต์แวร์เป็นที่เรียบร้อย
“การขยายฝูงบินสู่ 50 ลำในปี 2571 จะนำไปเปิดเส้นทางบินและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถบริหารต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องบินได้ดียิ่งขึ้น ค่าซ่อมลดลง 15-20%”
ตามแผนงานในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) ของปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321 เพิ่ม 2 ลำในช่วงปลายปี เพื่อรองรับการเพิ่มความถี่เส้นทางบินช่วงไฮซีซัน เช่น เส้นทาง กรุงเทพฯ-ไทเป จาก 2 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มเป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.เป็นต้นไป หลังกระแสเดินทางดี ปัจจุบันมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร 80% ส่วนเส้นทาง เชียงใหม่-โอซาก้า จาก 3-4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมถึงเส้นทางบินในประเทศ เช่น เชียงใหม่-ภูเก็ต และ เชียงราย-ภูเก็ต เพื่อโปรโมตเส้นทางบินข้ามภาค นอกจากนี้ไทยเวียตเจ็ทยังอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เช่น จากกรุงเทพฯ สู่ เกาสง ไต้หวัน และจาการ์ตา อินโดนีเซีย อีกด้วย
หลังผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ 547 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 85% ทำให้ไทยเวียตเจ็ทยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศ ยึดตำแหน่งอันดับ 2 ไว้แน่นและยาวนานขึ้นในยุคหลังโควิด-19 ด้วยตัวเลขส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% รองจากอันดับ 1 ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งมีขนาดฝูงบินใหญ่กว่า ครองส่วนแบ่งราว 30% ต่างจากยุคก่อนโควิดระบาดที่ไทยเวียตเจ็ทเพิ่งเข้าตลาดได้ไม่นาน มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณอันดับ 4-5 ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรก ให้บริการ 190 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 77%
“ในยุคโควิด-19 ระบาด ทำให้สายการบินในไทยปรับกลยุทธ์ดาวน์ไซส์ธุรกิจ รวมถึงการลดขนาดฝูงบิน เพื่อประคองตัวให้รอด พอวิกฤติผ่านไป จึงเป็นโอกาสของสายการบินที่สามารถนำเครื่องบินเข้ามาทำการบินเพื่อรองรับดีมานด์ฟื้นตัว คาดการณ์ว่าสถานการณ์ของธุรกิจสายการบินจะกลับมาปกติในปี 2568 เป็นต้นไป ทำให้แนวโน้มการแข่งขันในปี 2566-2567 จะยังเห็นภาพ Capacity Shock หรือปริมาณที่นั่งโดยสารขาดตลาด ภาพรวมการทำราคาตั๋วเครื่องบินจึงยังดีพอสมควร”
นายวรเนติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทตั้งเป้าหมายทำรายได้ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท ถึงจุดคุ้มทุน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งมีรายได้ 9.8 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถทำกำไรได้เหมือนกับภาพรวมธุรกิจสายการบินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารปี 2566 ตั้งเป้า 6.5-7 ล้านคน แบ่งเป็นจากเส้นทางบินระหว่างประเทศ 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนเส้นทางบินในประเทศ 5-5.5 ล้านคน หลังจากช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนผู้โดยสาร 3.04 ล้านคน เติบโต 10.12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณที่นั่งโดยสารทั้งหมด 3.67 ล้านที่นั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศมากกว่า 7.29 แสนคนในครึ่งปีแรก ทำให้นับตั้งแต่ไทยเวียตเจ็ทให้บริการเที่ยวบินแรกเมื่อปี 2559 มีจำนวนผู้โดยสารสะสม 21.54 ล้านคน