กลเกม 'ช้าง' เบียดชิงแชร์ 'เบียร์' พรีเมียม รุกหนักไฮซีซั่นดันยอดโต 500%
หลังโควิดคลี่คลาย ตลาดเบียร์กลับมาคึกคักยิ่งกว่าที่เคย หากมองภาพรวมตลาด ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ต่างออกสินค้า “เบียร์ใหม่” เข้ามาเสริมพอร์ต และรับน้องกันฮึ่ม!
ย้ำภาพรวมตลาดเบียร์กันอีกรอบมูลค่ารวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท เซ็กเมนต์อีโคโนมีหรือบ้างเรียกตลาดล่าง ตลาดแมส สัดส่วน 75% สแตนดาร์ด 20% และพรีเมียม 5%
เบอร์ 1 ที่อัปเดท “ส่วนแบ่งทางการตลาด” สูงสุด ยังเป็น “ค่ายสิงห์” หรือบุญรอดบริวเวอรี่ ที่มี “ลีโอ” เป็นผู้นำ ในพอร์ตยังมีสิงห์ สิงห์รีเซิร์ฟ ที่ยกสู่เซ็กเมนต์พรีเมียม ยังมีลีโอ No.8 มายเบียร์ สโนวี่ ไวเซ่น และแบรนด์ใหม่เข้ามาเติม
ส่วน “เบียร์ช้าง” จากค่ายไทยเบฟเวอเรจ ที่ภารกิจอยากเป็น “เบอร์1” ยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ช่องแคบส่วนแบ่งตลาดจากผู้นำลดเหลือน้อยลงเรื่อยๆ พอร์ตเบียร์ไทยมีมากมาย พรีเมียม เช่น เฟดเดอบรอย ยังเสริมด้วย ช้าง โคลด์ บรูว์ ช้าง เอสเปรสโซ่ และช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ ส่วนพอร์ตใหญ่ยังเป็นช้างคลาสสิค ยังมีอาชาที่ลุยตลาดล่าง เป็นต้น
“ไฮเนเก้น” เบียร์ระดับโลกจากเนเธอแลนด์ แม้จะยืนหนึ่งในเซ็กเมนต์พรีเมียม ครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 90% ในพอร์ตยังมีเบียร์อื่นๆ เช่น เชียร์ ไฮเนเก้น ซิลเวอร์ เป็นต้น
หน้าใหม่ แต่เก๋าเกมในวงการธุรกิจจะได้เห็นเร็วๆนี้เดือนพฤศจิกายน 2566 คือเบียร์จากอาณาจักร “เจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป” อย่าง “เสถียร เสถียรธรรมะ”
พี่เบิ้มในวงการเบียร์ยังเดินหน้าขยับตัว เพื่อชิงเค้ก “แสนล้านบาท” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “ค่ายช้าง” ปลุกกระแส “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” พร้อมประกาศเป้าหมายโตปี 2567 สูง 500% จากฐานยอดขายที่ต่ำเพราะเพิ่งออกสตาร์ทไม่ถึงขวบปี
นายทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ฉายภาพการทำตลาดเบียร์ช้าง อันพาสเจอร์ไซซ์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา สามารถครองใจนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มจาก เชียงใหม่และเชียงราย กลายเป็นหนึ่งในน้ำเมาเช็กลิสต์การบริโภค
การทำตลาดเบียร์ใหม่ เริ่มต้นด้วยการเจาะพื้นยุทธศาสตร์เชียงใหม่ เชียงราย จำกัดช่องทาง On-Premise อย่างผับ บาร์ ร้าานอาหาร สถานบันเทิง โรงแรมระดับ “พรีเมียม” เป็นหลัก เพราะสินค้าอายุหรือเชลฟ์ไลฟ์ไม่นาน
ส่วนกลยุทธ์การสื่อสาร สร้างรับรู้แบรนด์ภายใต้ “ข้อจัด” การห้ามโฆษณา คือมุ่งสร้างภาพลักษณ์ สอดคล้องกับผลวิจัยการตลาดของอิปซอสส์ ประเทศไทย (Ipsos Thailand) ที่ระบุ 85% “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” เสริมแกร่งภาพลักษณ์ความพรีเมียมให้กับแบรนด์ช้างได้
เริ่มปลายฝนต้นหนาวซึ่งเป็น “ไฮซีซั่น” ของการท่องเที่ยว ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ จึงเดินเกมรุก เพื่อรองรับการเติบโต ด้วยการเพิ่มเครือข่ายช่องทางจำหน่ายทั้งผับ บาร์ โรงแรมชั้นนำมากขึ้น
“เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวและเฉลิมฉลองช่วงปลายปีที่กำลังมาถึง เบียร์ช้าง ได้เตรียมเพิ่มจำนวนร้านอาหาร ผับบาร์ และโรงแรมชั้นน้ำ ที่จำหน่ายช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มยอดขายแบบก้าวกระโดด 500% ภายในปี 2567”
ปรัชญา "กำแพงเบอร์ลิน" จากน้องใหม่ตลาดเบียร์
ไทยเบฟ เบ่งเบียร์ใหญ่ในอาเซียน
ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ ผลิตจากโรงเบียร์ที่กำแพงเพชร หรือบมจ.เบียร์ไทย(1991) เป็นโรงงานผลิตเบียร์ใหญ่สุดในภาคเหนือของอาณาจักรไทยเบฟ และมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ส่วนการขนส่งแบบพิเศษภายใต้การควบคุมอุณหภูมิหรือโคลด์เชนไม่เกิน 4 องศา ใช้เวลาขนส่ง 4-6 ชั่วโมง ซึ่ง “ฮาวี ลอจิสติกส์” กิจการของเครือรับบทดูแล เพราะสินค้าเชลฟ์ไลฟ์สั้น แต่การจะเติบโตต่อเนื่อง ทำให้บริษัทกำลังศึกษาถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการ ไขยายพื้นที่จำหน่าย” เพื่อเสิร์ฟให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
ข้อมูลจาก นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) ระบุตลาดเบียร์พรีเมียมมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท และเติบโตสูงเกือบ 40% การรุกตลาด “เบียร์” ของไทยเบฟครั้งนี้ ถือเป็นการตีโอบทุกเซ็กเมนต์ให้ครอบคลุมคอทองแดง สร้างการโตแกร่งต่อไป ที่สำคัญคือภารกิจไล่ล่าการเป็น "เบอร์1" ในตลาดน้ำเมาสีอำพันด้วย