‘โลกโซเชียลจีน’ วิจารณ์ยับเหตุกราดยิง ททท. เร่งสื่อสาร ‘Thais Always Care’
โลกโซเชียลมีเดียของชาวจีนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง! ถึงเหตุกราดยิงใน “สยามพารากอน” เมื่อวันที่ 3 ต.ค. จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยต้องเสียชีวิต กำลังส่งผลต่อ “ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย” ของประเทศไทย
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและสื่อสารให้โลกรู้ว่าสถานการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่อยากโทษใคร สิ่งที่ต้องทำคือ “เร่งยกระดับความปลอดภัยในทุกพื้นที่” โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับไปดูแลแล้ว
“ททท.ต้องปรับการสื่อสารไปทั่วโลกว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และจะมีแคมเปญสื่อสารไปในโลกออนไลน์ ภายใต้ข้อความ Thais Always Care หรือ คนไทยใส่ใจเสมอ เพื่อต้องการบอกว่าคนไทยแคร์เรื่องที่เกิดขึ้น และเป็นห่วงความรู้สึกของทุกคน ไม่อยากให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นกับทุกคน และไม่ใช่แค่กับนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้น แต่รวมถึงชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย และคนไทยด้วย”
สำหรับ “แผนฟื้นฟูความเชื่อมั่น” กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและ ททท.จะดำเนินมาตรการสื่อสารใน 3 ระดับ ได้แก่ ระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยจะมีการหารือ มาตรการต่างๆ ผ่าน “Situation Command Center” (ศูนย์บัญชาการสถานการณ์) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจสำหรับรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว
“ระยะเฉพาะหน้า” เนื่องจากมีการเผยแพร่ข่าวเหตุการณ์อย่างรวดเร็วในหลากหลายทิศทาง จึงเห็นควรสื่อสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว แสดงความรับผิดชอบ และจริงใจ โดยมีประเด็นสำคัญในการสื่อสาร ได้แก่
1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ลักษณะ Active shooter ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเป้าหมาย หลักของการก่อเหตุ
2.เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ ไม่ลุกลาม
3.บุคลากรของห้างสรรพสินค้ามีความพร้อมและให้การช่วยเหลือ ดูแลผู้ประสบเหตุด้วยความเชี่ยวชาญและทันเหตุการณ์
4.รัฐบาลไทยแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ และตระหนักถึงความกังวลของทั้งชาวไทยและต่างชาติ กำลังเร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการแก้ไขและเยียวยาผู้ประสบเหตุอย่างเต็มกำลังที่สุด รวมทั้งได้ประสานกับเอกอัครราชทูตทั้งจีนและเมียนมาให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ และพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ครอบครัวผู้ประสบเหตุอย่างเต็มความสามารถ
“ระยะเยียวยา” เน้นการสื่อสารข้อเท็จจริง และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน โดยมีประเด็นสำคัญในการสื่อสาร ได้แก่
1.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเร่งประสานดูแล เยียวยา และอำนวยความสะดวกแก่ญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในการเดินทางมาเยี่ยมเยือนและรับกลับด้วยความเรียบร้อย
2.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเร่งประสานมาตรการเยียวยาฟื้นฟู ดูแลผู้เสียหายอย่างเหมาะสมตามขั้นตอนที่เคยดำเนินการมาอย่างเต็มความสามารถ
และ “ระยะฟื้นฟู” เน้นการสื่อสารภาพลักษณ์ที่การเปลี่ยนแปลงและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในแนวคิดโครงการ “Thailand I Love You” ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์มากขึ้น รวมถึงการจัดแถลงข่าว โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเรียกร้องและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและเพิ่มมาตรการในการดูแลและป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นอีก อาทิ การเพิ่มมาตรการตรวจค้นอาวุธหรือสิ่งอันตราย การกวดขันการครอบครองสิ่งเทียมอาวุธและการดัดแปลง การเพิ่มอัตรากำลังตำรวจในเครื่องแบบในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
2.ททท.เร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย และสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านสื่อต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ เครือข่ายมือถือ China Mobile, Huawei, Streaming Platform อ้ายฉีอี้ (IQIYI) รวมทั้งใช้เซเลบริตี้ (Celebrities) และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก
3.เพิ่มเติมมาตรการเสริมความเชื่อมั่น “Trusted Thailand” พิจารณาเพิ่มเติมมาตรการอื่นๆ ที่เป็น ประโยชน์กับนักท่องเที่ยว อาทิ การประกันความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวร่วมกับบริษัทประกันภัย
4.ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้แอปพลิเคชัน Tourist Police I lert you เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถขอความช่วยเหลือจากตำรวจท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5.ดำเนินมาตรการกระตุ้นตลาด โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย Joint Promotion ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งเอเยนต์ท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA), แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ และสายการบินในเมืองใหญ่ๆ
อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุกราดยิง ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการทัวร์ฝั่งจีน โดยระบุว่าเนื่องจากเหตุเกิดตรงกับโกลเด้นวีคหยุดยาว “วันชาติจีน” (1 ต.ค.) พอดี จึงยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนในเชิงพาณิชย์นัก ต้องรอประเมินอีกทีในสัปดาห์หน้าว่าตลาด “นักท่องเที่ยวจีน” มีการยกเลิกหรือชะลอการเดินทางหรือไม่
แต่ถ้าในเชิง “ความรู้สึกของชาวจีน” แล้ว พบว่าได้รับผลกระทบชัดมาก! แม้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยยังมี “ข้อบกพร่อง” เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นจุดที่ “คนจีนซีเรียสมาก!” มองว่าการมีคนมาถือปืนในห้างนั้นเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็กอายุ 14 ปี ชาวจีนคิดไม่ถึงว่าเป็นไปได้อย่างไร ทั้งยังพูดถึงประเด็นช่องโหว่ของกฎหมายไทย ประกอบกับผู้เสียชีวิตชาวจีนเป็นคุณแม่ลูกแฝด นับเป็นข่าวที่ขยี้อารมณ์ชาวจีนเข้าไปอีก
ผลกระทบดังกล่าวต่อเนื่องจากประเด็นปัญหาภาพลักษณ์ของภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมี “ข่าวลือเชิงลบ” แพร่หลายทั่วโซเชียลมีเดียของจีนเมื่อ 2-3 เดือนก่อนว่าในประเทศไทยมีการลักพาตัวชาวจีนไปเรียกค่าไถ่ ตัดขายอวัยวะ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประกอบกับภาพยนตร์จีน 2 เรื่องดัง ได้แก่ “Lost in The Star” และ “No More Bets” ท้องเรื่องพูดถึงคดีอาชญากรรมในภูมิภาคอาเซียน อาจส่งผลต่อทัศนคติชาวจีนในการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย
“หลังจากรัฐบาลไทยประกาศมาตรการยกเว้นการขอวีซ่า หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว 5 เดือนแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 – 29 ก.พ. 2567 ทางผู้ประกอบการทัวร์จีนต่างตอบรับดีมาก ตื่นเต้นพอสมควร และคิดว่าเป็นความหวังในการทำตลาด โดยจากสถิติการเดินทางช่วงสัปดาห์แรกของมาตรการวีซ่า-ฟรี ซึ่งตรงกับโกลเด้นวีควันชาติจีน มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย 15,000-17,000 คนต่อวัน เติบโต 2 เท่าเทียบกับช่วงก่อนมีมาตรการวีซ่า-ฟรี ซึ่งมีเดินทางเข้าไทย 7,000 คนต่อวัน เดิมคาดหวังว่าหากหมดโกลเด้นวีคนี้ไปแล้ว ถ้ายังยืนอยู่ในระดับนี้ได้จนถึงเดือน พ.ย. ก็คาดว่าตลาดจีนเที่ยวไทยจะดีขึ้นอย่างมากในเดือน ธ.ค. 2566 ไปจนถึงเทศกาลตรุษจีนเดือน ม.ค.2567 แต่กลับมาเจอเหตุการณ์นี้ที่มาตอกย้ำว่าประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องเรื่องความปลอดภัย”
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรการด้านต่างๆ ให้ชัดเจน! โดยเฉพาะการดูแลเยียวยา ให้ความคุ้มครองคนที่ได้รับผลกระทบ และต่อไปจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างไร รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ก่อเหตุให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และรู้สึกว่าผู้เสียหายได้รับการดูแลอย่างยุติธรรม นี่คือประเด็นที่สำคัญมากๆ
“หากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางไปเยือนประเทศจีน สิ่งที่อยากให้ย้ำกับรัฐบาลจีนคือมาตรการดูแลความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเมื่อเดินทางมาประเทศไทย”
แหล่งท่องเที่ยวหรือสถานที่สาธารณะที่มีคนรวมกันหมู่มากต้องมีมาตรการตรวจค้นอาวุธ ติดตั้งกล้องวงจรปิด มีเจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำจุดต่างๆ รวมถึงระบบข้อความเตือนภัย (SMS Alert) การใช้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
“นอกจากนี้ต้องการให้นายกฯ แสดงความจริงใจแก่รัฐบาลจีนว่าประเทศไทยพร้อมดูแลนักท่องเที่ยว ยอมรับในผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และที่สำคัญต้องดูแลผู้เสียหายอย่างดีที่สุด ครอบครัวเขาจะได้พูดถึงประเทศไทยในเชิงบวก”