ปรับโมเดลธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล ปลุกพลังการค้าให้เอสเอ็มอี
ผู้ประกอบการ SME กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนที่สูงขึ้น สวนทางกับกำไรและจำนวนลูกค้า รวมถึงเทรนด์ในอนาคตที่ยังปรับตัวไม่ทัน แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไรไม่ให้เสียโอกาส ติดตามอ่านได้จากบทความนี้
ในโลกปัจจุบันที่ความรุดหน้าทางเทคโนโลยีผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากธุรกิจใดที่ไม่ปรับตัว หรือปรับตัวไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำและเสียโอกาสลงได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME ที่ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งในระดับเดียวกันแล้ว ยังมีแรงกดดันจากคู่แข่งไซส์ใหญ่กว่าในตลาด
ผลสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้าของผู้ประกอบการ SME ล่าสุด (22-31 ส.ค. 2566) พบว่า เวลานี้ธุรกิจ SME ไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สวนทางกับการทำกำไรที่ไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่จำนวนลูกค้าเข้าสู่ภาวะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2565 แม้ว่าผู้ประกอบการ SME กว่า 70% จะมีแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวในเชิงรับมากกว่าที่ผู้ประกอบการจะคิดถึงประเด็นด้านความท้าทายที่เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ๆ ในอนาคต
ไม่นับรวมประเด็นสำคัญของยุคดิจิทัลคือ ผู้บริโภคมีเทรนด์ความชอบที่เปลี่ยนแปลงเร็วและกำลังซื้อลดลง นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังมีการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์และมักรอซื้อสินค้าที่มีโปรโมชันมากขึ้น
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด ทั้งเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เช่น การนำ AI มาจับเทรนด์ของลูกค้า และส่งมอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการลูกค้ามากขึ้น หรือผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการทำการค้าการขาย ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ การใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นเส้นทางลัดให้ SME นำสินค้าและบริการส่งถึงมือผู้ใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสังคมไทยอย่างชัดเจน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ E-Commerce ซึ่งประเทศไทยได้แรงหนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินหรือพร้อมเพย์ ที่สนับสนุนให้การช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตรวดเร็ว จาก 2 แสนล้านบาท ในปี 2562 มาอยู่ที่ 6.2 ล้านบาท ในสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา มีการประเมินว่า ในช่วงปี 2566-2567 ตลาด E-Commerce จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% มีมูลค่า 6.94 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2567
นี่คือโอกาสที่เปลี่ยนแปลงไปในเมืองไทย ยังไม่นับรวมการค้าขายข้ามพรมแดนที่จะมีฐานลูกค้าที่มหาศาลรออยู่ ตลาดต่างประเทศนับเป็นโอกาสอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีไทย สามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองไปเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกได้
แน่นอนว่า แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์จะเป็นประตูบานใหญ่ที่จะพาสินค้าไทยไปขยายตลาด สร้างฐานรายได้ใหม่ที่หลากหลาย และทำให้ผู้ซื้อผู้ขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้เพียงพริบตา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ SME จำเป็นจะต้องมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้ประกอบการไทยกลับยังขาดความพร้อมในการปรับใช้ดิจิทัลค่อนข้างมาก โดยผล "การสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME Digital Maturity Survey 2023" ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เพื่อวัดสถานะความพร้อมด้านดิจิทัลของธุรกิจ SME ทั่วประเทศ กลับพบว่า มีผู้ประกอบการเพียง 3.42% เท่านั้นที่มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Champion) เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล รู้ทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถตอบสนองได้ทันท่วงที มองเห็นลู่ทางใหม่ๆ ในการนำดิจิทัลต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่
ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือ 44.81% มีความพร้อมเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในระดับปานกลาง (Digital Follower) คือ มีความเข้าใจ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลได้เหมาะสม แต่ยังขาดการบูรณาการด้านดิจิทัลในองค์กร 31.30% มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Native) สามารถเข้าถึง และใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นตัวช่วยในการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กรภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ลำดับต่อมา 20.47% เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในระดับต่ำ (Digital Novice) ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อย่างเต็มที่
ETDA ยังระบุด้วยว่า SME ไทย ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน เทคโนโลยีด้านบริการธุรกิจมากที่สุด โดยเฉพาะระบบการจัดการประสบการณ์ลูกค้า เช่น การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า การจัดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รองลงมาคือ เทคโนโลยีด้านการเงิน 25.04% ด้านอีคอมเมิร์ซ 11.65% ด้านดิจิทัลคอนเทนท์ หรือ ไลฟ์สไตล์ 10.84% และด้านอุตสาหกรรม 10.67% และที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ จะต้องมีราคาที่ไม่สูงมากนัก เพื่อให้พวกเขานำมาใช้งานได้จริงด้วย
เพราะ SME คือธุรกิจที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ โมเดลพันธมิตรจึงเป็นหนึ่งในรูปแบบที่ SME พยายามนำมาปรับใช้ อาจด้วยขนาดธุรกิจที่ยังไม่แข็งแรงพอ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพยายามขอแรงสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างๆ เพื่อเสริมเกราะและสร้างภูมิต้านทาน รองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด
รายงานผลสำรวจของ TDCX ในหัวข้อ "กลุ่ม SME ในอาเซียน: ธุรกิจขนาดเล็ก กับโอกาสทองของผู้ให้บริการเทคโนโลยี" พบว่า หลังโควิดกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญและพยายามก้าวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย 69% เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางสู่ดิจิทัลหรือเปลี่ยนฟังก์ชันในธุรกิจให้เป็นดิจิทัลเพียงบางส่วนเท่านั้น ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ประมาณ 70% โดยมีการคาดการณ์กันว่า
กลุ่มผู้ประกอบการในอาเซียนจะลงทุนด้านเทคโนโลยีมูลค่า 1.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ ใน 3 ปีข้างหน้า
ธนาคารยูโอบี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกที่พร้อมทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SME เสมอมา ด้วยประสบการณ์จากการคลุกคลีกับผู้ประกอบการ SME มาเป็นเวลายาวนาน จึงมีความเข้าใจความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันธนาคารฯ ตระหนักดีว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ลูกค้าขนาดเล็กดำเนินธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา "ธนาคารยูโอบี" มุ่งมั่นที่จะมอบความรู้และการสนับสนุนทางการเงินสำหรับลูกค้า SME ที่สนใจขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านโปรแกรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า SME เช่น โครงการ Smart Business Transformation ที่เน้นการช่วย SME เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือแพลตฟอร์ม UOB BizSmart ที่จับมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการโซลูชันด้านการจัดการธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือต่อความท้าทายของธุรกิจอย่างทันท่วงทีและเติบโตได้อย่างยั่งยืน