สมาคมค้าปลีกแนะแจกเงินดิจิทัลเงื่อนไขต้องชัด ใช้ เม.ย. คนกลับภูมิลำเนา

สมาคมค้าปลีกแนะแจกเงินดิจิทัลเงื่อนไขต้องชัด ใช้ เม.ย. คนกลับภูมิลำเนา

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' และ 'e-Refund' แนะกำหนดความชัดเจนมาตรการ-เงื่อนไข ปรับหลักเกณฑ์ให้รัดกุม เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมแนะ ดิจิทัล วอลเล็ต ปรับให้เริ่มใช้ เม.ย.67 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ สร้างผลกระทบเศรษฐกิจสูง

ภาครัฐบาลได้ประกาศนโยบาย โครงการดิจิทัล กำหนดการจ่ายเงินดิจิทัล (digital Wallet) ให้คนไทย คนละ 10,000 บาท พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนเงินเดือนกำหนดต้องต่ำกว่า 70,000 บาท และกำหนดเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์นี้ จำนวน 50 ล้านคนในทั่วประเทศ พร้อมเริ่มให้ใช้จ่ายเดือน พ.ค.2567

ทำให้ "สมาคมผู้ค้าปลีกไทย" ได้มีข้อเสนอแนวกับโครงการนี้ ทั้งการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้รัดกุม พร้อมควรประกาศเริ่มใช้ในเดือน เม.ย.2567 จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ ที่คนเดินทางกลับบ้านจำนวนมาก 

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ภาครัฐได้ประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกมาแล้ว โดยสมาคมฯ มีความเห็นว่า เป็นนโยบายที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ในระยะสั้น ทั้งช่วยในการอัดฉีดเม็ดเงินให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินอย่างมีศักยภาพ ช่วยบรรเทาภาระ ค่าครองชีพ ส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการทุกระดับ

ทั้งนี้ สมาคมฯ มีข้อคิดเห็นแนวทางการดำเนินมาตรการดังนี้ 

  •  ควรมีความชัดเจนในการออกมาตรการและเงื่อนไขมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย ร้านสตรีทฟู้ด โชว์ห่วย หาบเร่ แผงลอย
  • คำนึงถึงการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์อย่างรัดกุมให้ปฏิบัติได้จริงเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการ ความสะดวกในการใช้งาน และเอื้อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนและผู้ประกอบการ
  • เสนอให้ขยับเวลาประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2567 แทนพฤษภาคม 2567 จะเป็นการสร้าง impact ให้โครงการนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา 

อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคค้าปลีกและบริการทั่วประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 2.4 ล้านราย  คิดเป็น 80% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ จะได้รับผลดีจากโครงการ รวมถึงร้านค้าย่อยในชุมชนต่างๆ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่า หากโครงการประสบความสำเร็จ จะร่วมกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

โครงการ e-Refund แนะขยายเวลาใช้จ่าย 

สำหรับอีกโครงการ e-Refund ที่ภาครัฐจะนำมาใช้กระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการ โดยให้วงเงิน 50,000 บาท โดยสมาคมฯ มีความเห็นว่า รัฐบาลจะเร่งอนุมัติและเพิ่มระยะเวลาใช้จ่ายให้มากกว่าที่ผ่านมา ที่จะเป็นการช่วยกระตุ้นโครงการ e-Refund ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"สมาคมเชื่อว่าทิศทางเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่ระยะสั้น แต่เติบโตแข็งแกร่งในระยะยาวอย่างยั่งยืน”