‘Nike’ เตรียมลีนองค์กร-ปลดพนักงาน หลังยอดขายโตเพียง 1%

‘Nike’ เตรียมลีนองค์กร-ปลดพนักงาน หลังยอดขายโตเพียง 1%

“ยักษ์ผ้าใบอันดับ 1” ส่อสะเทือน หลังผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น กระทบหุ้นร่วง 11% ยอดขายโตเพียง 1% ผู้บริหารเร่งพลิกฟื้นปัญหา เหตุคู่แข่งอัดโปรโมชันต่อเนื่อง-ยอดเข้าชมดิจิทัลแพลตฟอร์มลดลง

แม้ “ไนกี้” (Nike) จะครองตำแหน่งแบรนด์รองเท้าผ้าใบอันดับ 1 ของโลกมาหลายปี แต่สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาต่อเนื่องก็ทำเอา “ยักษ์ผ้าใบ” สะเทือนไม่น้อย เมื่อข้อมูลจากสำนักข่าว “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล” (The Wall Street Journal) รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “ไนกี้” ที่ได้มีแผนปรับลดประมาณการรายได้ในปีนี้ ท่ามกลางความกังวลว่า ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

บริษัทผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบและเครื่องแต่งกายยักษ์ใหญ่คาดว่า ยอดขายในช่วงเดือนสุดท้ายของปีจะปรับลดลงอีก โดยจากสถานการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้ “ไนกี้” เตรียมแผนลดต้นทุนลงราว “2,000 ล้านดอลลาร์” หรือคิดเป็นเงินไทย “69,200 ล้านบาท” ภายใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรและปลดพนักงานบางส่วน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหุ้นบริษัทได้มีการปรับตัวลดลงราว 11% ประกอบกับคาดการณ์รายได้ปีงบประมาณหน้าที่ “ไนกี้” คาดว่า จะเติบโตจากปีก่อนเพียง 1% เท่านั้น ลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยมีการคาดการณ์ว่า รายรับบริษัทจะเพิ่มขึ้น

‘Nike’ เตรียมลีนองค์กร-ปลดพนักงาน หลังยอดขายโตเพียง 1%

ที่ผ่านมา “ไนกี้” มีความพยายามกระตุ้นยอดขายในช่วงเวลาอื่นๆ นอกเหนือจากเทศกาล “Black Friday” และ “Back to School” ที่รู้กันดีว่า เป็น “วันจ่าย” ของใครหลายคน แต่อย่างไรก็ตาม “แมตต์ เฟรนด์” (Matt Friend) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน “ไนกี้” ได้ออกมายอมรับว่า บริษัทยังคงประสบปัญหา เนื่องจากการอัดโปรโมชันอย่างต่อเนื่องของค่ายรองเท้าคู่แข่ง รวมทั้งยอดเข้าชมดิจิทัลแพลตฟอร์มของแบรนด์ก็ลดลงด้วย

แผนการขั้นต่อไป “ไนกี้” ระบุว่า บริษัทเตรียมลดความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในเครือมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ไนกี้” มีแผนพับโปรดักต์ที่ไม่สามารถทำยอดได้ออกไป ขณะเดียวกันก็พร้อมมุ่งหน้าสู่โปรดักต์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น

“เฟรนด์” ระบุว่า ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันกันดุเดือดเช่นนี้ บริษัทจำเป็นต้องยกระดับนวัตกรรมและประสบการณ์ในการซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภค เพิ่ม “Storytelling” ให้สินค้า รวมถึงความรวดเร็ว และการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคก็ต้องไม่ลดน้อยลงด้วย

หลังจากมีการปรับโครงสร้างใหม่คาดว่า “ไนกี้” จะนำเงินบางส่วนไปลงทุนกับการผลิตและจำหน่ายสินค้าสำหรับผู้หญิง รองเท้าวิ่ง และแบรนด์รองเท้า “จอร์แดน” (Jordan) รวมถึงการเพิ่มเทคโนโลยีในการผลิต นำระบบออโตเมชัน (Automation) มาใช้ในธุรกิจ “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล” วิเคราะห์ว่า ตอนนี้ “ไนกี้” กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากแบรนด์คู่แข่ง ทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสินค้าด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ไนกี้” จะสามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ให้กับลูกค้าได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการปี 2566 นี้ “ไนกี้” จะยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของห่วงโซ่อุปทาน และอัตราค่าขนส่งสินค้าทางทะเลที่ลดลง สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายของ “ไนกี้” เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในปีก่อนหน้า (ปี 2565) เพียง 1% เท่านั้น ทว่า ผู้บริหารกลับมองว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจและบรรยากาศการใช้จ่ายของผู้คนในขณะนี้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเพียง 1% ก็นับว่า น่าพึงพอใจแล้ว

 

อ้างอิง: The Wall Street Journal