สิ้นสุดยุคของ ‘ยูนิคอร์น’ ไร้เงินทุน เหลือเพียงหนี้จำนวนมหาศาล
เอไอบูมก็ไม่ช่วย! หมดยุค “Free Money” แม้บริษัทเอไอหลายพันแห่งผงาด แต่ความรุ่งเรืองของ “ซิลิคอน วัลเลย์” จะไม่กลับมาอีก ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เทคฯ คอมพานี” ขัดขวางการเติบโตธุรกิจอื่น กระทบเศรษฐกิจและสังคมวงกว้าง จากนี้ไม่มีทุน-กระแสเงินสด เหลือเพียงหนี้ก้อนโตเท่านั้น
KEY
POINTS
- ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “สตาร์ทอัพ” ล้มหายตายจากไปหลายราย ยูนิคอร์นบางตัวก็ไปต่อไม่ไหว สวนทางกับการมาถึงของ “เอไอ” ที่โตวันโตคืน จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “ยุคเอไอบูม” เช่นนี้ จะช่วยตีปีกให้สตาร์ทอัพกลับมารุ่งเรืองเช่นเดิมได้หรือไม่
- “The Economist” ระบุว่า ขณะนี้สตาร์ทอัพหลายแห่งยังคงเผชิญหน้ากับมูลค่าบริษัทที่ตกลงต่อเนื่อง บางรายอยู่ในขั้นตอนการวางแผนชำระหนี้ จนอาจเรียกได้ว่า ยุค “Free Money” ได้สิ้นสุดลงแล้ว
- หัวหน้านักยุทธศาสตร์ องค์กรจัดการลงทุนชั้นนำระดับโลก มองว่า การดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพทำให้ภาคธุรกิจอื่นๆ สูญเสียโอกาสในการลงทุน กระทั่งตอนนี้เหลือเพียงหนี้มหาศาล ไม่มีเงินทุนและกระแสเงินสดอีกแล้ว
ทศวรรษ 2010 คือยุครุ่งเรืองของ “เทคฯ คอมพานี” อย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ “ซิลิคอน วัลเลย์” (Silicon Valley) กลายเป็นหุบเขาที่คนรุ่นใหม่ถวิลหา เต็มไปด้วยบริษัทระดับโลกที่รวมคนเก่ง-มากประสบการณ์ มาไว้ในแห่งเดียวกัน การเกิดขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีขณะนั้น ถูกพัฒนา-ต่อยอดในรูปแบบบริษัท “สตาร์ทอัพ” (Startup) โมเดลทางธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นศูนย์กลาง โดยสตาร์ทอัพจะได้รับการสนับสนุนจาก “Venture Capital” หรือ “VC” กลุ่มบริษัทร่วมทุนที่มักเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีความน่าสนใจ
ในรอบสิบปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นว่า มีนวัตกรรมใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมากมาย ทั้งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับโซเชียล มีเดีย อีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี ฯลฯ โดยปกติแล้วการทำธุรกิจใดๆ ก็ตามมักต้องใช้เงินลงทุนผ่านการขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน แต่ไม่ใช่กับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีนักลงทุนเหล่านี้คอยอัดฉีด “Free Money” ให้อย่างท่วมท้น แหล่งเงินทุนจาก VC ที่เข้าถึงง่าย และคล่องตัวมากกว่า ทำให้สตาร์ทอัพเติบโตรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
ระบบนิเวศธุรกิจสตาร์ทอัพเฟื่องฟูถึงขีดสุด กระทั่งกราวรูดลงมาหลังการแพร่ระบาดใหญ่สิ้นสุดลง เป็นธรรมดาที่สิ่งใดก็ตาม เมื่อขึ้นไปแตะ “จุดพีค” มาแล้ว ก็ย่อมมีวันร่วงโรยไปตามวาระ สตาร์ทอัพก็เช่นเดียวกัน แม้ว่า 2-3 ปีให้หลังมานี้ การมาถึงของ “เอไอ” จะช่วยจุดไฟแห่งความหวังให้กับวงการเทคโนโลยีได้อีกครั้ง แต่สำหรับสตาร์ทอัพอาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เมื่อบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว “The Economist” ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัทด้านเอไอปรากฏตัวขึ้นนับพันแห่ง สร้างรายได้จำนวนไม่น้อยให้แก่แวดวงเทคโนโลยี จนมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ปรากฏการณ์นี้อาจสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงธุรกิจสตาร์ทอัพให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งได้หรือไม่
ทว่า นั่นอาจเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะนับจากนี้ไม่มียุคของ “Free Money” อีกแล้ว บริษัทที่เคยแตะเส้นความสำเร็จในอดีต ขณะนี้ได้กลายเป็นสตาร์ทอัพที่ปราศจากเงินทุน-กระแสเงินสด มูลค่าตกต่ำ เหลือไว้เพียงหนี้จำนวนมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพน้องใหม่ในอนาคต ที่ความหวังในการระดุมทุนเพื่อก่อร่างธุรกิจเหลือน้อยลงเต็มที
เอไอบูม ไม่ช่วยให้ “ความแห้งแล้ง” หายไป
ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีเอไอมาแรง จนทำให้ “อินวิเดีย” (Nvidia) ขึ้นแท่นบริษัทน่าจับตามองแห่งยุค ยอดขายในปี 2565 เติบโตกว่า 265% เมื่อเทียบกับปี 2564 ในเดือนเดียวกัน มูลค่าตลาดเติบโตจาก “500,000 ล้านดอลลาร์” สู่ “1.7 ล้านล้านดอลลาร์” ในปี 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567) ส่งให้ “อินวิเดีย” เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ในสหรัฐ หรืออย่าง “OpenAI” ก็อู้ฟู่ไม่แพ้กัน จากการมาถึงของโปรแกรม “ChatGPT” ที่ทำให้บริษัทขึ้นแท่นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกในขณะนี้
หลังจากบริษัทเอไอปรากฏตัวขึ้นอีกหลายพันแห่ง ใครๆ ต่างก็พาเข้ามาตะลุมบอนในสมรภูมิแห่งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่สตาร์ทอัพและยูนิคอร์นจะผงาดขึ้นอีกครั้ง? “The Economist” ชวนคิดและตั้งคำถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมองว่า ความเป็นไปได้ที่สตาร์ทอัพจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนทศวรรษที่ผ่านมามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก เพราะขณะนี้เคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่ “เทคฯ คอมพานี” ต้องเจอยังมีอีกหลายระลอก
“WeWork” อดีตยูนิคอร์นที่ยื่นล้มละลายไปเมื่อปลายปี 2566 กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาเพื่อวางแผนชำระหนี้ ด้าน “OpenAI” เองก็ต้องเจอกับผลกระทบของฟองสบู่สตาร์ทอัพ เนื่องจากนักลงทุนค่อนข้างระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงนามเช็คแต่ละครั้ง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า “1,000 ล้านดอลลาร์” มากถึง 344 บริษัท กระทั่งปี 2564 พบว่า มียูนิคอร์นที่เหลือรอดอยู่เพียง 45 ตัวเท่านั้น
การสิ้นสุดลงของยุค “Free Money” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการโหมเข้าสู่ตลาดของกลุ่มนักลงทุนที่เร่งรีบจนเกินไป “The Economist” ระบุว่า ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพเกิดใหม่เหล่านี้แทบจะไม่ต้องเจาะตลาดเพื่อหาแหล่งเงินทุนด้วยตัวเองเลย นักลงทุนรายใหญ่ อาทิ “Tiger Global” หรือ “Coatue” หลั่งไหลเข้าสู่ซิลิคอน วัลเลย์ อย่างรวดเร็ว
“Battery Ventures” หนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ระบุว่า พวกเขาเคยพูดคุยตกลงการระดมทุนผ่านโปรแกรม “Zoom” ด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ในขณะนี้กลับตาลปัตร มีนักลงทุนหลายรายที่ยังคิดไม่ตกว่า จะขายหุ้นที่เคยเข้าลงทุนในอดีตได้อย่างไร
มูลค่าตกต่อเนื่อง ไม่เป็นที่ต้องการ เลือกทางไหนก็มีแต่พัง
การเข้ามาลงทุนของบรรดา “Venture Capital” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่แนวทางดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ข้อมูลจากเว็บไซต์ “Yahoo! Finance” ระบุว่า ในยุคผลิใบของ “บิ๊กเทค” อย่าง “Apple” “Google” หรือ “Cisco” ล้วนมีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก “Kleiner Perkins” และ “Sequoia Capital” สองยักษ์ผู้ให้เงินลงทุนแก่บริษัทด้านเทคโนโลยีมาแล้วมากมาย ผู้ลงทุนเหล่านี้อัดฉีด “Free Money” ไปราวๆ สองถึงสามครั้ง กระทั่งธุรกิจประสบความสำเร็จ เติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ลงทุนเหล่านี้ก็จะได้รับผลประโยชน์กลับคืนมาในรูปแบบของหุ้นบริษัท
แต่ปัญหาของสตาร์ทอัพในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คือธุรกิจไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างที่สตาร์ทอัพในอดีตเคยทำได้ ผู้ลงทุนเหล่านี้พยายามคิดหาวิธีดึงเงินลงทุนที่จมไปกับธุรกิจออกมาให้ได้มากที่สุด “The Economist” แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ วิธีแรก คือการเสนอขายหุ้น หรือ “IPO” แต่ก็พบว่า บริษัทหลายแห่งมีมูลค่าลดลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น “Klaviyo” บริษัทซอฟต์แวร์ และ “Instacart” แพลตฟอร์มสั่งซื้อของชำ ต่างมีมูลค่าปัจจุบันต่ำกว่าในช่วงเริ่มต้น แม้กระทั่ง “Reddit” คอมมูนิตี้เว็บบอร์ดที่เคยวางแผนจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่ามากถึง “10,000 ล้านดอลลาร์” มาวันนี้ “Reddit” กลับมีมูลค่าเหลือเพียง “5,000 ล้านดอลลาร์” ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากมูลค่าเดิมในปี 2564
แนวทางที่สอง คือการเสนอขายให้กับผู้ซื้อระดับองค์กร ซึ่งก็พบว่า สตาร์ทอัพหลายแห่งที่เคยเป็น “ตัวเต็ง” ตอนนี้กลับถูกเมินจากตลาดไปแล้วเรียบร้อย ตัวเลขจาก “PitchBook” บริษัทวิจัยด้านการลงทุนจากสหรัฐระบุว่า ปี 2565 มีบริษัททำการซื้อขายสตาร์ทอัพไป 698 แห่ง ลดลงจากปี 2564 ที่มีการซื้อขายบริษัท 1,311 แห่ง
และเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา “แอมะซอน” (Amazon) บิ๊กเทคระดับโลกตัดสินใจทิ้งข้อเสนอในการประมูล “ไอโรบอท” (iRobot) ผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ “279.07 ล้านดอลลาร์” (ตัวเลข ณ วันที่ 18 มีนาคม 2567) ลดลงจากปี 2565 ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง “1,007 ล้านดอลลาร์” เท่ากับว่า มูลค่า “ไอโรบอท” ลดลงไปราว 75% ภายในสองปีเลยทีเดียว ในสายตาของนักลงทุนแล้ว สตาร์ทอัพเหล่านี้จึงยังไม่มีความน่าสนใจมากพอที่พวกเขาจะยอมเสี่ยงควักกระเป๋าจ่าย
และแนวทางสุดท้าย คือการขายให้กับนักลงทุนเอกชนรายอื่นๆ แต่ตัวเลือกนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับธุรกิจแต่อย่างใดหากเทียบเคียงกับสองทางเลือกก่อนหน้า เนื่องจากฝั่งเอกชนมักมีการประเมินมูลค่าด้วยราคาที่ต่ำเกินไป โดย “Caplight” บริษัทด้านการลงทุนในซานฟรานซิสโกได้ยกตัวอย่างว่า “Discord” โปรแกรมแชตที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเกมเมอร์ ถูกประเมินมูลค่าในตลาดรองอยู่ที่ “6,000 ล้านดอลลาร์” ลดลงจากการระดมทุนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2564 ที่มีมูลค่าราว “15,000 ล้านดอลลาร์”
ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ยูนิคอร์นหลายตัวทยอยล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ “Convoy” สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ที่เคยระดมทุนในปี 2565 ได้สูงถึง “4,000 ล้านดอลลาร์” ตัดสินใจปิดตัวลงเมื่อเดือนตุลาคม 2566 “Veev” สตาร์ทอัพที่นิยามตนเองว่า เป็น “Building Company” เพื่อการก่อสร้างบ้านด้วยประสบการณ์ใหม่ ก็ปิดตัวลงในเดือนพฤศจิกายน 2566 เช่นกัน
ไม่มีทุน ไม่มีเงินสด มีแต่หนี้จำนวนมหาศาล
การลงทุนของ VC มีความเสี่ยงมากเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดี แต่ทั้งหมดนี้ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่สูงมากพอเพื่อจะชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนแต่ละครั้ง “Yahoo! Finance” ให้ความเห็นว่า ระยะหลังมานี้ความเคลื่อนไหวของ “สตาร์ทอัพ” มีท่าทีต่างออกไป แม้จะเติบโตมากแล้วแต่หลายบริษัทก็ยังชะลอการตัดสินใจที่จะยื่น IPO ขณะเดียวกันระหว่างนั้นก็ได้รับเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ จนสามารถแปลงร่างเป็นยูนิคอร์นได้สำเร็จ
กล่าวคือ แทนที่สตาร์ทอัพเหล่านี้จะติดปีกในช่วงที่เป็น “จุดพีค” ของธุรกิจ เพื่อที่ผลประโยชน์และเม็ดเงินที่ตามมาจะกลับคืนสู่นักลงทุนและคนอื่นๆ ในอีโคซิสเทม กลายเป็นสตาร์อัพได้รับประโยชน์เป็นส่วนใหญ่แต่เพียงผู้เดียว และท้ายที่สุด เมื่อถึงคราวที่บริษัทตัดสินใจยื่น IPO ในตอนหลังก็พบว่า ธุรกิจถึงจุดที่มูลค่าดิ่งยกแผง สูญเสียเงินจำนวนมหาศาลไปเสียแล้ว
ขณะเดียวกับก็มีข้อมูลอีกฟากฝั่ง โดย “เจย์ ริตเตอร์” (Jay Ritter) ศาสตราจารย์ด้านการเงิน มหาวิทยาลัยฟลอริดา ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมการเติบโตของบริษัท รวมถึงการเสนอขายหุ้น-ยื่น IPO ไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในระยะหลังบริษัทยื่น IPO น้อยลง เกิดจากเหตุผลเรื่องการควบรวมกิจการ แทนที่บริษัทขนาดเล็กจะได้เติบโตแบบออแกนิกอย่างเป็นอิสระ แต่กลายเป็นว่า ถึงจุดหนึ่งแล้วพวกเขาเลือกที่จะเสนอขายให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แทน
“อลิเซีย เลอวีน” (Alicia Levine) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ “BNY Mellon Investment Management” หนึ่งในองค์กรจัดการลงทุนชั้นนำของโลก ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้ธุรกิจอื่นๆ ขาดโอกาสในการลงทุนแล้ว ทั้งหมดนี้ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย เธอให้ความเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า “Free Money” ที่นักลงทุนให้กับบริษัทที่เรียกตนเองว่า บริษัทเทคโนโลยีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แท้จริงแล้วสตาร์ทอัพเหล่านั้นกำลังใช้เทคโนโลยีที่ตัวเองอ้างถึงในการขัดขวางธุรกิจอื่นๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก สุขภาพ ธุรกิจความสวยความงาม หรือแม้กระทั่งรถรับจ้าง
“บริษัทที่มีหนี้จำนวนมหาศาลเหล่านี้ คือบริษัทที่เรียกตัวเองว่า เทคฯ คอมพานี พวกเขาขัดขวางการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ ด้วยเงินทุนและกระแสเงินสด สิ่งที่เราเหลือตอนนี้มีเพียงหนี้จำนวนมาก ไม่มีเงินทุน ไม่มีกระแสเงินสดอีกแล้ว”
อย่างไรก็ตาม “ทอม ตุงกุซ” (Tom Tunguz) นักลงทุนจาก “Theory Ventures” กลับมองว่า การลงทุนที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นเพียงการกลับสู่แนวโน้มระยะยาวอย่างที่ควรจะเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์” อาจไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวาเท่าก่อนการแพร่ระบาดใหญ่แล้ว เป็นเรื่องยากที่สตาร์ทอัพจะถูกอัดฉีดด้วยเงินทุนจำนวนมาก การซื้อตัวคนทำงานอย่างบ้าคลั่งเหมือนในอดีตคงไม่เกิดขึ้น ภายหลังการเลย์ออฟครั้งใหญ่ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น ความเฟื่องฟูของ “เอไอ” ในสหรัฐตอนนี้ ยังนำมาซึ่งวิธีการทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง อย่างเช่นการเขียนโค้ดด้วยเอไอเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากกว่าการทำงานของสตาร์ทอัพบางแห่ง นี่คงเป็นโจทย์ที่สตาร์ทอัพต้องไปขบคิดกันต่อในวันที่ยังตกที่นั่งลำบากเช่นนี้
อ้างอิง: CNN, Yahoo Finance, Linkedin, The Economist