จบยุคทอง ‘บริษัทที่ปรึกษา’ เศรษฐกิจแย่ ค่าใช้จ่ายแพง เริ่มใช้เอไอแทนแล้ว
ถึงจุดอิ่มตัว “พรายกระซิบผู้บริหาร” ? ใกล้จบยุคทองบริษัทที่ปรึกษา “McKinsey-Bain-BCG” ติดโผด้วย สื่อนอกชี้ รายได้ลด-เติบโตชะลอตัวลง เผชิญแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ การลงทุนที่ผิดแผน เศรษฐกิจซบเซา-นายทุนพึ่งเอไอแทน
KEY
POINTS
- ในอดีต บริษัทที่ปรึกษา หรือ “Consulting Firm” มีความสำคัญกับภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันอาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว กลับถูกคาดการณ์ว่า อยู่ในช่วงขาลง-สิ้นสุดยุคทอง
- ความท้าทายที่บริษัทที่ปรึกษากำลังเผชิญ มีทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวันที่ “โลกแบ่งขั้ว” การลงทุนไปกับ ESG มหาศาล แต่ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องฟอกเขียวจากนักการเมืองรวมถึงนายทุนบางราย
- เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง “Generative AI” เข้ามาช่วยทุ่นแรงภาคธุรกิจได้เช่นกัน บริษัทที่ปรึกษาที่มีค่าจ้างค่อนข้างสูง ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนถูกดิสรัปต์ แม้ยังไม่ตายแต่อาจไม่กลับมารุ่งเรืองอีกแล้ว
การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับเกมเพื่อให้องค์กรห่างไกลจากการเป็นผู้โดยสารที่ล้าหลัง-ตกขบวน แม้ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีผู้บริหารมืออาชีพมากมาย แต่องค์กรเหล่านี้ก็ยังต้องพึ่งพา “กุนซือ” ที่มาในรูปแบบของ “Consulting Firm” หรือบริษัทให้คำปรึกษา โดยเฉพาะในช่วงเวลาคับขัน เพิ่งผ่านวิกฤติการณ์ระดับโลกมา ถ้าช้า ปรับตัวไม่ทัน ธุรกิจก็เสี่ยงล้มหายตายจากไปได้ทันที บริษัทให้คำปรึกษาจึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในห้วงเวลาเช่นนี้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่า บริษัทที่ปรึกษาในฐานะ “พรายกระซิบ” จะตกที่นั่งลำบากเสียแล้ว เมื่อข้อมูลจาก “Kennedy Research Reports” รายงานถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทที่ปรึกษาระดับ “Great 8” ของโลกตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาพบว่า อาจส่อแววอยู่ในช่วง “ขาลง” หลังจากกลับมาเฟื่องฟูถึงขีดสุดตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 ตรงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการบริษัทที่ปรึกษาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า ค่าธรรมเนียมของบริษัทที่ปรึกษาระดับบิ๊กเนมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ลูกค้าต้องเร่งเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ทันก่อนถูกเทคโนโลยีดิสรัปต์
สำนักข่าว “ดิ อีโคโนมิสต์” (The Economist) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 จำนวนพนักงานของ “แมคคินซีย์” (McKinsey) เพิ่มขึ้นกว่า 50% รวมทั้งสิ้น 45,000 คน เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 3 ทำให้หนึ่งใน “Big 3” เจ้านี้ เปิดรับคนทำงานอีกจำนวนมาก ดิ อีโคโนมิสต์ นิยามถึงความรุ่งเรืองของแมคคินซีย์ในขณะนั้นว่า บริษัทรับพนักงานราวกับว่า โลกจะไม่มีวันพรุ่งนี้เสียแล้ว
แม้ว่าที่ผ่านมาบรรดาบิ๊กทั้งหลายจะเคยผ่านพ้นวิกฤติมาหลายต่อหลายครั้ง บ้างก็ได้รับอานิสงส์จากช่วงเวลาดังกล่าวด้วยซ้ำไป แต่หลังจากนี้คงแตกต่างและไม่เป็นเช่นเดิมอีกแล้ว ด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย บริษัทที่ปรึกษาที่เคยโบกสะบัดธงชัยอาจกลายเป็นเพียงอดีตที่หอมหวาน และถูกคุกคามจากภัยรอบด้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
“Great 8” รายได้หด งานน้อยลง บางแห่งคิดเรื่องเลิกจ้าง
หลังจากการเติบโตในช่วงระบาดใหญ่ พบว่า บริษัทที่ปรึกษายังได้รับอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ นอกจากต้องเร่งฝีเท้า-วิ่งตามเทคโนโลยีให้ทันแล้ว ภาคธุรกิจยังเผชิญกับการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การอาศัยพิมพ์เขียวจากบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่จะทำให้ธุรกิจวิ่งเข้าเส้นชัยได้เร็วขึ้น ใกล้ความจริงมากขึ้น
ดิ อีโคโนมิสต์ ระบุว่า รายได้หลักของบริษัทที่ปรึกษามาจากการวางแผนเรื่องซัพพลายเชน-กระจายห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงแนวคิดเรื่อง “ESG” ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเกือบๆ สองทศวรรษ แต่ยิ่งได้รับการตอกย้ำชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังวิกฤติโควิด-19 จบลง “ESG” มีจุดเริ่มต้นจากการลงทุนในอดีตที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างแล้วกลายเป็นปัญหาตามมาภายหลัง การลงทุนเพื่อความยั่งยืนจึงมีความสลับซับซ้อนอยู่พอสมควร เพราะในขณะที่เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจ คือรายได้และกำไร แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้การลงทุนนั้นมีความรับผิดชอบ ยั่งยืน เกิดเป้าหมายทางสังคมได้จริง
สำหรับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ที่มีความโดดเด่น มีทั้งหมด 8 แห่ง กลุ่มแรก คือบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ หรือ “BIG3” ประกอบไปด้วย McKinsey & Company, BCG (Boston Consulting Group) และ Bain กลุ่มถัดมา ยักษ์ใหญ่ด้านบัญชี หรือ “BIG4” ได้แก่ Deloitte, EY, KPMG และ PwC และสุดท้าย Accenture ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี จากรายงานของ Kennedy Research Reports พบว่า ทั้ง 8 แห่ง มีการเติบโตที่ชะลอตัวลงในปี 2566 หลังจากเติบโตโดยเฉลี่ยกว่า 20% และ 13% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ
สาเหตุสำคัญมาจากการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ยักษ์ธุรกิจหลายแห่งปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างที่ปรึกษา รวมถึงกลยุทธ์ “M&A” (Mergers & Acqusitions) หรือการควบรวมกิจการที่น้อยลง ทำให้ธุรกิจที่ปรึกษาถูกลดบทบาทไปโดยปริยายด้วย ตามรายงานข่าวระบุว่า “Bain” และ “Deloitte” ยอมจ่ายเงินเพื่อเลื่อนการรับบัณฑิตใหม่เข้าเป็นพนักงานประจำ ส่วนในภาพรวมของ “BIG4” ก็มีการลดจำนวนทีมที่ปรึกษาลง
ตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 พบว่า “BIG4” มีการเลิกจ้างพนักงานรวม 9,000 ตำแหน่ง รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า ความต้องการงานที่ปรึกษาลดลงเรื่อยๆ จากค่าธรรมเนียมราคาสูง สวนทางกับเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว “BIG4” จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับงานที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและบริการวิเคราะห์ข้อมูลแทน เนื่องจาก มีแนวโน้มการเติบโตดีกว่าในยุคที่เอไอเริ่มเข้ามาทดแทนงานที่ปรึกษาแบบเดิมแล้ว
ด้าน “Accenture” หนึ่งเดียวจาก “Great 8” ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า มีแผนไล่พนักงานออกทั้งหมด 19,000 คน เมื่อเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจากรายรับที่หดตัวลง 3% ทำให้มีการปรับการคาดการณ์รายได้ในปี 2567 ใหม่ ซึ่งส่งผลให้หุ้น Accenture ลดลงกว่า 9% ด้วย
เจอความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในวันที่ “โลกแบ่งขั้ว”
แม้ว่าบริษัทให้คำปรึกษาจะผ่านวิกฤติมาหลายต่อครั้ง ยืนหยัดมาได้นานเฉียดร้อยปี แต่ครั้งนี้ดูจะต่างออกไป ดิ อีโคโนมิสต์ ระบุว่า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์จะทวีความซับซ้อนมากขึ้น ที่ผ่านมา “Consulting Firms” เหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ จากเดิมที่ธุรกิจตั้งรกรากแถบอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก เมื่อเทคโนโลยีเติบโต การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงโครงข่ายถึงกัน ธุรกิจก็สามารถขยายอาณาจักรออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้กว่าร้อยแห่ง โดย “Deloitte” เป็นบริษัทที่มีสาขามากที่สุดในบรรดา “Great 8” กระจายตัวไปแล้ว 150 ประเทศทั่วโลก
ทว่า หลังจากเข้าสู่ยุค “โลกแบ่งขั้ว” สหรัฐและจีนกลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้าย ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาจึงนำมาซึ่งความอึดอัดใจไม่น้อย ปรากฏว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา “Urban China Initiative” กลุ่มคลังสมองใต้ร่ม “McKinsey & Company” ซึ่งรับหน้าที่หัวหอกในการกำหนดแผน “Made in China 2025” โดยรายละเอียดของแผนดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ
ฟังแบบนี้แล้วก็คงพอจะเดาออกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป แม้ว่าการกำหนดแผนการจะเกิดขึ้นภายใต้ทีมแมคคินซีย์ประเทศจีน แต่บริษัทแม่ที่ปกคลุมไปด้วยธงอเมริกาก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เนื่องจาก “Made in China 2025” เป็นการวางแผนเพื่อให้จีนก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมระดับโลกแทบทุกแขนง ตั้งแต่ระบบคลาวด์ รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงเอไอ ซึ่งจะมีผลทำให้จีนเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิตได้อีกมหาศาล
สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ (Financial Times) ระบุว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือในหนังสือ “Made in China 2025” ยังมีคำแนะนำให้จีนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศเพิ่มเติม เพื่อผละการพึ่งพิงอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามจากต่างชาติได้ในที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันก็พบว่า แมคคินซีย์เซ็นสัญญาเพนตากอนทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐด้วย
ทั้งหมดจึงนำมาสู่การตั้งคำถามของสมาชิกสภานิติบัญญัติอมริกันบางราย ที่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอเมริการะงับสัญญากับแมคคินซีย์เป็นเวลา 12 เดือน พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดแมคคินซีย์จึงให้คำแนะนำกับต่างชาติที่เป็นศัตรูกับประเทศ รับเงินจำนวนมหาศาลจากจีน และขณะเดียวกันก็ยังได้รับค่าจ้างจากสหรัฐด้วย
ไม่ใช่แค่ฝั่งสหรัฐ แต่จีนเองก็เริ่มส่งสัญญาณว่า กำลังบีบบริษัทต่างชาติออกจากพื้นที่อยู่กลายๆ เช่นกัน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีบริษัทที่ปรึกษาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อปลายปี 2566 กลับพบว่า หนึ่งในเจ้าหน้าที่สำนักงานเซี่ยงไฮ้ของ “Bain” ถูกทางการจีนเรียกสอบสวนโดยไม่ทราบสาเหตุ อีกทั้งเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลจีนได้เข้าตรวจสอบการทำงานของ “PwC” ที่ “Evergrande” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนรายใหญ่ที่ยื่นล้มละลายไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของ “PwC” ต่อไปในอนาคต
ลงทุนกับ ESG ไปเยอะ ท่ามกลางข้อครหา “ฟอกเขียวลวงโลก”
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่หลายแห่งทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการสร้างโปรดักต์ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด “ESG” อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า ESG ถูกพูดถึงในแวดวงธุรกิจเป็นวงกว้าง งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ล้วนมีประเด็น ESG ด้วยเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอน หรือ “Net Zero” ซึ่งหากทำได้จริงก็จะดีทั้งกับตัวองค์กรและสังคมโดยรวม ซึ่งใระยะหลังพบว่า บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเทหน้าตักไปกับการชูนโยบาย Net Zero อย่างแข็งขัน หากพูดกันตามตรงแล้ว นัยหนึ่งก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์เรื่องการลดภาษีธุรกิจด้วย
ข้อมูลจาก ดิ อีโคโนมิสต์ ระบุว่า ปี 2564 “McKinsey & Company” ได้นั่งตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง ปี 2565 “Accenture” เป็นที่ปรึกษาให้กับบิ๊กคอร์ป 5 แห่ง ด้าน “BCG” เข้าซื้อกิจการ “Quantis” ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2565 โดยกล่าวถึงการตัดสินใจครั้งนั้นว่า ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัท
แต่แล้วก็ดูเหมือนว่า แนวคิดดังกล่าวจะถูกเขย่าจากอีกฟาก ปลายปี 2565 รัฐที่บริหารโดยพรรครีพับลิกัน อาทิ ฟลอริดา มิสซูรี และเท็กซัส มีความประสงค์ต้องการถอนเงินออกจาก “BlackRock” กองทุนจัดการสินทรัพย์รายใหญ่ของโลก
ผู้นำของรัฐระบุว่า พวกเขาเห็นแย้งกับนโยบายการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากข้อกังวลเรื่องการลงทุนด้าน ESG ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า แนวคิดของฝั่งรีพับลิกันออกจะไม่เห็นด้วยกับ ESG ตั้งแต่เริ่ม และระยะหลังเองก็พบว่า แนวคิดดังกล่าวมักถูกโจมตีว่า เป็นการ “ฟอกเขียว” อย่าง “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) ก็เคยออกมาให้ความเห็นว่า ESG เป็นแนวคิดลวงโลกเช่นกัน
ด้าน “Source Global Research” สถาบันวิจัยด้านการตลาดในกรุงลอนดอน จัดอันดับความนิยมเทรนด์ธุรกิจในปี 2566 พบว่า ESG ร่วงไปอยู่อันดับที่ 10 จากอันดับที่ 4 ในปี 2565 ที่ปรึกษาทางธุรกิจบางรายยอมรับว่า ลูกค้าของตนเริ่มควบคุมค่าใช้จ่าย-เม็ดเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ESG แล้ว
แทนที่จะจ้างที่ปรึกษาราคาแพง สู้ใช้เอไอทำงานให้ดีกว่า
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ “Generative AI” ทำให้ยักษ์ธุรกิจหลายแห่งหันมาพึ่งพาเครื่องมือซอฟต์แวร์แทนการจ่ายค่าที่ปรึกษาราคาสูง แหล่งข่าวบิ๊กคอร์ปรายหนึ่งระบุว่า บริษัทหันมาใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินเป้าหมายบริษัท รวมถึงงานอื่นๆ ที่บริษัทที่ปรึกษาเคยใช้เวลาร่วมหลายชั่วโมงในการทำงาน อาทิ การรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งตอนนี้สามารถทำได้ด้วยตัวเองเองเพียงการคลิกแค่ครั้งเดียว
แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทที่ปรึกษาก็ไม่ได้นิ่งดูดาย พวกเขารู้ดีว่า กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบใด ด้าน “Bain” ได้ออกแบบเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะของบริษัท ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า “Web Scraping” ซึ่งเป็นเทคนิคดึงข้อมูลจากเว็บไซต์เพื่อนำไปวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ต่างๆ ที่ผู้ใช้งานต้องการ “McKinsey & Company” เปิดตัวบอทที่มีชื่อว่า “Lilli” ทำหน้าที่คล้ายกับ “ChatGPT” ได้รับการฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคลังข้อมูล เฟรมเวิร์ก และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เป็นต้น
ลูกค้าส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่เทคโนโลยีเอไอที่เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตมากขึ้น มองว่า หากธุรกิจวิ่งตามไม่ทันก็อาจสูญเสียโอกาสบางอย่างไป หลังจากนี้เราจะได้เห็นการปรับตัวของบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่อีกหลายระลอก ความร่วมมือกับฝั่งเทค คอมพานี อย่างไมโครซอฟท์ หรือ “OpenAI” จะเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น
แม้นี่อาจไม่ใช่ยุคทองของยักษ์ที่ปรึกษา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า บริษัทเหล่านี้จะล้มหายตายจากไป “Consulting Firm” ยังมีความจำเป็นกับหลายๆ เซกเมนต์ แต่ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางธุรกิจ จะเป็นโจทย์ให้ยักษ์เหล่านี้ตื่นตัวเพื่อหาวิธีการแก้สมการอีกครั้ง
อ้างอิง: BCG, Bloomberg Tax, CNN, Financial Times 1, Financial Times 2, Investopedia, Medium, The Economist, The Wall Street Journal, USA Today, Yahoo Finance